นักธุรกิจเพื่อสังคม ห่วงคนไทยมีความสุขน้อยลง ส่งผลต่อฝีมือแรงงาน
"ปรีดา เตียสุวรรณ" แนะเคล็ดลับพัฒนาฝีมือแรงงาน ในอุตฯ เครื่องประดับ ต้องทำให้แรงงานมีความสุข เชื่อส่งผลต่อฝีมือ ยันนอกจากเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการทำให้แรงงานประหยัดได้ ขณะที่นักวิชาการชี้ 20 ปีที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ให้ความสนใจปัญหาแรงงาน สนใจลงทุน ทำธุรกิจ มองการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นประเด็นเล็ก ยันเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งได้ ต้องมีแรงงานเป็นมืออาชีพด้วย
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวให้สัมภาษณ์ถึง 1 พ.ค.วันแรงงาน ว่า 20 ปีที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาแรงงานเลย แต่กลับให้ความสนใจการลงทุน ทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นประเด็นเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครให้ความสนใจ และแม้จะมีรัฐบาลยุคหนึ่งขึ้นแต่ค่าจ้างให้สูง แต่กลับไม่ได้ควบคุมค่าครองชีพ ฉะนั้น แรงงานจึงไม่ได้ประโยชน์จากค่าแรงที่สูงขึ้น ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ลดลง
“การทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง นอกจากมีผู้ประกอบการ มีผู้บริหารมืออาชีพแล้ว เรายังต้องการแรงงานเป็นมืออาชีพด้วย เพื่อให้ผลิตภาพการผลิตของไทยดีขึ้นด้วย”
ด้านนายปรีดา เตียสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้าจิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ต้องทำให้แรงงานมีความสุข ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ และส่งออก แรงงานฝีมือดีที่สุด คือคนไทย เพราะอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย คนไทยรักทำของดี ไม่มีอติ งานฝีมือจึงออกมาดี
"ผมยังหนักใจความสุขคนไทยลดลง มีผลต่อฝีมือแรงงาน การทำให้แรงงานมีความสุข เช่น การให้สวัสดิการ ทำให้โรงงานเหมือนบ้านที่สองของเขา มีที่พึ่งพิง"
เมื่อถามว่า แรงงานไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ นายปรีดา กล่าวว่า ในส่วนของบริษัท เรามีการแก้ไขปัญหานี้มานานแล้ว เมื่อ 15 ปีก่อน เห็นตัวเลขแล้วช็อค
"ผมค้นพบบริษัทของผม พนักงานคิดเครดิตบูโรอยู่ 25% ของจำนวนพนักงาน 4,000 คน จากนั้นแก้ปัญหาด้วยการตั้งสหกรณ์ขึ้นมา วันนี้เหลือ 5-6 คนเท่านั้นเอง" ประธานกรรมการบมจ.แพรนด้าจิวเวลรี่ กล่าว และว่า แรงงานนอกจากเรื่องของเงินเดือน ค่าจ้างแล้ว เราต้องสอนวิธีการครองชีวิตด้วย ส่วนเรื่องสวัสดิการทำให้เขาประหยัดได้
ที่มาภาพ:http://www.qhproperty.com