มติสภามนพ.ตั้ง "จินดา งามสุทธิ" นั่งรก.อธิการ-ภาวิช ลั่นไม่หนักใจเชื่อไม่โดนม.44
ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม ตั้ง "จินดา งามสุทธิ" นั่งรักษาการอธิการ ภาวิช ทองโรจน์ ยันวันนี้มหาวิทยาลัยปกติทุกอย่าง กำลังแก้ปัญหาภายใน ไม่กังวลโดนคำสั่ง ม.44 ลั่น "คงไม่มีใครสติไม่ดีขนาดนั้น"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลประชุมกรรมการสภา มนพ.ว่า ก่ารประชุมสภาวันนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เป็นปกติทุกประการ โดยผลของการประชุม กรรมการสภาเข้าประชุมครบองค์ประชุม ซึ่งองค์ประกอบกรรมการสภามีทั้งหมด 23 คน มาประชุม 12 คน จำนวนกรรมการสภามนพ.ลดลงกว่าเดิมจากที่มีกรรมการบางท่านได้ลาออกไป 7 คน
ทั้งนี้ สภามนพ. ได้ดำเนินการตั้งกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ลาออกไป มีรศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ เป็นประธาน ตั้งกรรมการสรรหาผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น มีนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เป็นประธาน และตั้งกรรมการสรรหาอธิการบดี มีศ.น.พ.วุฒิชัย ธนาพงศธร เป็นประธาน รวมถึงตั้ง ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยฯ นั่งรักษาการอธิการบดี
ดร.ภาวิช กล่าวว่า ปัญหาของมหาวิทยาลัยนี้ คือเรื่องคุณภาพการศึกษา ที่เพิ่งผ่านสภาไป เช่น จำนวนหลักสูตรที่มีอยู่ ปรากฎว่า กว่าครึ่งไม่ผ่าน และพยายามแก้ไข การกู้สถานการณ์อย่างมากเนื้อแท้คือการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา รูปธรรมคือการไปดูหลักสูตรที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งผศ.ดร.จินดา ดูแลประกันคุณภาพการศึกษา จึงขอให้ทำหน้าที่รักษาการอธิการบดีไปก่อน
ดร.ภาวิช กล่าวถึงความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย โดยวิเคราะห์สถานการณ์มาตามลำดับ ไล่ไปไล่มาปรากฎเพียงคนไม่กี่คน และในส่วนของโครงสร้างมหาวิทยาลัยไม่กี่ส่วน พบมีการก่อม็อบไปห้องผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยเพียง 14 คน ที่เหลือเป็นบุคคลภายนอกหมด ซึ่งชัดเจนมีปัญหาเฉพาะคณะครุศาสตร์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี เป็นส่วนใหญ่ และมีความพยายามชักชวนคณะอื่นๆ ให้มาต่อต้าน นี่เป็นข้อเท็จจริงที่การข่าวเราได้ประเมิน
"คณะครุศาสตร์ เคยมีการเสนออนุมัติปริญญา กลายเป็นคะแนนที่ไม่เรียบร้อย หมกเม็ดส่งมาให้สภามนพ. ขอให้อนุมัติให้จบ และมีเรื่องการจัดการศึกษาที่จังหวัดบึงกาฬ หลักสูตรที่สภามนพ.ไม่ได้อนุมัติ"ดร.ภาวิช กล่าว และว่า ส่วนวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี มีปัญหา 2 ปีที่แล้ว มีงบประมาณไทยเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษา ปรากฎว่า มีรายงานสภามนพ.ว่า ผู้รับทุนเป็นคณดี ผู้รับทุนคนที่สองเป็นรองคณบดี สภามนพ.จึงทักท้วงไป มีการตรวจสอบ อธิการบดีคนเก่า เซ็นอนุมัติ และมีกรณีคณบดีอนุมัติให้ทุนตัวเอง โดยสตง. ชี้ชัดว่า คืนไม่คืนทุนก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว บี้ให้ดำเนินคดีอาญา เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงการบริหารงบประมาณของวิทยาลัยการบินนานาชาตินครพนม กรณีการจัดซื้อเครื่องบิน และการใช้เครื่องบินไปปฏิบัติภารกิจของบุคคลภายนอก เป็นประเด็นที่ถูกร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีให้มีการตรวจสอบด้วยนั้น (อ่านประกอบ:เปิดจัดซื้อเครื่องบิน ม.นครพนม 26 สัญญา บ.เดียวกวาดเรียบ 358.9 ล.) นายกสภา มนพ. กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นของกรรมการสภาท่านหนึ่ง ร้องเรียนไปที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา การจัดซื้อเครื่องบินเป็นเรื่อง 10 ปีที่แล้วตอนเปิดวิทยาลัย นี้ใหม่ๆ ข้อหาก็ไม่ชัด ซื้อบริษัทเดียว
"ผมจำไม่ได้ ช่วงนั้นมีหลายบริษัทเสนอตัว เขาทำวิทยาลัยการบิน ก็ต้องมีเครื่องบินสิบกว่าลำ คงไม่มีใครเลือกซื้อเครื่องบินสิบลำ สิบบริษัท ก็มีปัญหาซ่อมบำรุง การนำเครื่องบินฝึกบินไม่เหมือนมอเตอร์ไซต์ จะเครื่องไหนก็ได้ นักบินต้องมีการฝึกกับเครื่องฝึกบิน (SIMULATOR) ฉะนั้น โดยหลักการต้องเป็นเครื่องบินไม่มากบริษัทอยู่แล้ว ไม่มากยี่ห้ออยู่แล้ว ผมงงเขาผิดอะไรตรงไหน"
สำหรับเครื่องบินของมหาวิทยาลัยนครพนม เกิดอุบัติเหตุในช่วงปี 2559 จำนวน 3 ครั้ง และล่าสุด มีผู้เสียชีวิต ดร.ภาวิช กล่าวว่า เครื่องบินตกทุกวันอยู่แล้วในโลกนี้ เพียงแต่ต้องแก้ไขกันไป ระบบมีการแก้ไขแล้ว หลังๆ ที่ทำคือให้ทีมของทหารอากาศ กรมการบินพลเรือน ทีมนิรภัยทางอากาศเข้าตรวจสอบหมดแล้ว
"ผมแปลกใจ มีข่าวในสื่อว่า มีปัญหาการบริหารงบประมาณในวิทยาลัยการบิน ผมอยากถามว่า อะไรคือปัญหา ให้ชี้มา ปัญหาธรรมาภิบาลในสภามนพ. ตรงไหน หรือตรงไหนที่เรียกว่า ล้วงลูกก็ไม่เห็นตอบได้"
เมื่อถามถึงการออกมาเรียกร้องให้คสช.ใช้คำสั่งม.44 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยนครพนม ดร.ภาวิช กล่าวว่า เรียกร้องได้ แต่คงไม่มีใครสติไม่ดีขนาดนั้น มหาวิทยาลัยนี้ยังปกติ ไม่ได้ล่มสลาย สภาม.นครพนม ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย มีชื่อเสียงมาทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยนี้ยังปกติทุกอย่าง โดยเรากำลังแก้ปัญหาภายใน จึงไม่กังวลใดๆ
"ผมเคยทำงานสกอ. เราเช็คตามระบบ จึงรู้ว่าสภาพอย่างไรจึงต้องเข้าควบคุม สิ่งที่สภามนพ.กำลังทำคือแก้ปัญหาภายใน มูลเหตุการเคลื่อนไหวทั้งหลาย คือส่วนที่เป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไข"
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเช้า สภา มนพ. เดิมจะมีการประชุมเวลา เวลา 9.30 น. ณ โรงเเรมมารวยการ์เด้นท์ ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงเวลานัดหมาย กลับไม่สามารถจัดประชุมในสถานที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากทางโรงเเรมมารวยการ์เด้นท์ ได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ จนต่อมามีการย้ายมายังโรงเเรมรามาการ์เด้น จนสุดท้าย สภามนพ.ต้องมาจัดประชุมกันที่ห้องประชุม ชั้น 6 ศูนย์ประสานงานกรุงเทพ มหาวิทยาลัยนครพนม เเจ้งวัฒนะ เริ่มประชุมในเวลา 13.00 น. ก่อนเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในเวลา 16.00 น.
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าการประชุมสภามนพ.เพียง 1 วัน เลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการ สภา มนพ. ก็ได้ยื่นหนังสือลาออก คาดจะทำให้การประชุมวันนี้มีองค์ประกอบไม่ครบ
อ่านประกอบ:
นศ.นครพนม ยื่นหนังสือขอนายกฯ ใช้ม.44 แก้ปัญหาความขัดแย้ง
นายกเล็กเมืองนครพนม ยื่นลาออกกรรมการสภาฯ มนพ. อีกราย
ขอวางตัวเป็นกลาง ผู้ว่านครพนม ลาออกจากสภา มนพ.
ป้ายติดพรึ่บ ทั่วเมือง ต้านนายกสภาม.นครพนม-นัดรวมพล 25 เม.ย.
เปิดจัดซื้อเครื่องบิน ม.นครพนม 26 สัญญา บ.เดียวกวาดเรียบ 358.9 ล.
เจาะหอประชุม ม.นครพนม 338.5 ล.ประกวด 2 ครั้ง-เปลี่ยนตัว ปธ.ราคากลาง
คำต่อคำ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ชี้แจงทุกประเด็น ปมปัญหาภายในม.นครพนม
ผ่ารับเหมา 9 อาคาร ม.นครพนม พันล.- โครงการ 150 ล. ชนะคู่แข่ง 4,000 บาท
ดร.ประวิต ยันทิ้งเก้าอี้อธิการบดีม.นครพนม "ผมไม่เคยกล่าวถึงว่ามีเรื่องขัดแย้งกับใคร"
เบื้องลึก!อธิการฯม.นครพนมลาออก ขัดแย้งหนัก - กก.ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบนับสิบเรื่อง
อธิการบดีม.นครพนม ประกาศลาออก-คณาจารย์รวมตัวพบผู้ว่าฯ ให้ยับยั้ง