สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
สภาเกษตรกรแห่งชาติจี้ ก.เกษตรฯเร่งจัดหาสารเคมีทดแทนพาราควอตโดยเร็ว ด้านไทยแพนเผยมีตัวอย่าง 2 ชนิด พบประสิทธิภาพดีกว่า แต่ขอให้ใช้เป็นตัวเลือกสำรองในการกำจัดวัชพืช
จากกรณีที่ ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 มติเตรียมยกเลิก สารเคมีอันตราย 2 ชนิด คือ สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีผลในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ส่วนสารไกลโฟเสต ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด
ด้าน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN ) รายงานว่า จากผลการสำรวจในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคใต้และภาคตะวันออกพบว่า เกษตรกรที่ปลูกปาล์มใช้พาราควอตคิดเป็นสัดส่วน(ของมูลค่า)เพียง 1ใน 3 ของค่าใช้จ่ายสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้งหมด
สำหรับสารเคมีกำจัดวัชพืช ที่กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้ใช้ทดแทนได้แก่ สารกลูโฟซิเนต แอมโมเนียม ซึ่งพบว่า มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชในสวนปาล์มดีกว่าพาราควอทมาก เมื่อวัดจากตัวชี้วัดสำคัญในการกำจัดวัชพืช เช่น อัตราการตาย น้ำหนักแห้งของวัชพืช และความหนาแน่นของวัชพืช เป็นต้น
“ไทยแพนไม่แนะนำการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นทางเลือกแรกในการจัดการวัชพืชและศัตรูพืช การแบนพาราควอตจึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ทางเลือกที่เหมาะสม”
ล่าสุด นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยว่า จากการประชุมพิจารณาหารือเรื่องการยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ที่ประชุมมีมติขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งพิจารณาศึกษาหาสารทดแทนและยกเลิกการผลิต นำเข้า และการใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด (สารพาราควอตคลอร์ไพริฟอสและ ไกลโฟเสต) โดยเร็ว
อ่านประกอบ
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์
หมายเหตุ:ภาพประกอบจาก www.thairath.co.th