เปิดกฎหมายตอบทุกคำถาม "ล้มละลาย-จ้างช่วง" โครงการมัสยิด 300 ปี
หลากหลายคำถามเกี่ยวกับการจัดจ้างในโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิด 300 ปี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนและถูกต้องตรงกันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งๆ ที่โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ (เพราะเกี่ยวข้องกับโอไอซี) เป็นโครงการที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของดินแดนปลายด้ามขวาน และยังใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยถึง 149 ล้านบาทเศษ
คำถามที่ผู้ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของโครงการยังคงค้างคาใจ ก็คือ
1."กิจการร่วมค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดสนธิเศรษฐ กับบริษัทชาติธนา จำกัด" ซึ่งรับงานจากการจัดจ้างวิธีพิเศษโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจุบันยังมีสถานะเป็นคู่สัญญากับ ศอ.บต.อยู่หรือไม่ เพราะมีข่าวว่าบริษัทชาติธนาฯ เข้าข่ายล้มละลาย เพราะถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
2.หน้างานของโครงการยังคงมีการก่อสร้าง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการทำงานของ "ผู้รับจ้างช่วง" หรือ "ซับคอนแทรค" เป็นบริษัทรับเหมาในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวน 3 บริษัท ทำให้เกิดคำถามว่าการจัดจ้างวิธีพิเศษด้วยงบประมาณสูงขนาดนี้ (ปกติมีเพดานไม่เกิน 30 ล้านบาท) ผู้ที่ได้งานไปสามารถ "จ้างช่วง" ได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขสำคัญของการจัดจ้างวิธีพิเศษ คือความจำเป็นที่ต้องว่าจ้างอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เนื่องจากผู้รับจ้างมีความเชี่ยวชาญพิเศษในงานที่รัฐต้องการให้ทำ
ที่ผ่านมามีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องบ้าง แต่ยังไม่มีความชัดเจน กล่าวคือ ในคำถามข้อ 1 ผู้บริหารห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สนธิเศรษฐ ยืนยันว่ากิจการร่วมค้าฯยังมีสถานะเป็นผู้รับจ้างอยู่ ไม่ได้ล้มละลายตามบริษัทชาติธนาฯ เพราะบริษัทชาติธนาฯ มีหุ้นเพียงเล็กน้อยในกิจการร่วมค้าฯ
ขณะที่ ศอ.บต.อ้างว่าสัญญาจัดจ้างโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะฯ ใช้ถ้อยคำที่เป็นข้อห้ามในสัญญาว่า บริษัทผู้รับจ้างต้องไม่อยู่ในสถานะล้มละลาย แต่สถานะของบริษัทชาติธนาฯ แค่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อดูจากถ้อยคำแล้ว จึงถือว่าสัญญายังมีผลอยู่ แต่ก็ได้สอบถามความชัดเจนไปยังกรมบัญชีกลางและสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย
คำถามข้อ 2 ผู้บริหาร หจก.สนธิเศรษฐ ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการร่วมค้าฯด้วย ยืนยันว่าการทำงานโดยจ้าง "ซับคอนแทรค" เป็นเรื่องธรรมดา และสามารถทำงานได้ ทั้งยังอ้างว่าตนได้งานจากการประมูล ไม่ใช่จัดจ้างวิธีพิเศษ ขณะที่ ศอ.บต.ชี้แจงประเด็นนี้ไม่ชัดว่าการจ้าง "ซับคอนแทรค" ทำได้หรือไม่ได้ เพราะต้องไปดูรายละเอียดในสัญญา (อาจจ้างได้กรณีทำงานธุรการที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการจ้าง แต่ต้องแจ้งให้ ศอ.บต.ทราบทุกครั้ง) ขณะที่อดีตผู้บริหาร ศอ.บต.คนหนึ่งชี้แจงว่าไม่ใช่การจ้างช่วง แต่เป็นการ "ขายงานต่อ" ให้กับบริษัทในพื้นที่
เมื่อคำตอบยังไม่มีความชัดเจน ก็ต้องไปเปิดกฎหมายเพื่อหาคำตอบ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พบประเด็นน่าสนใจดังนี้
1.เรื่อง "กิจการร่วมค้า" ที่บริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้าล้มละลาย จากการตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่า กิจการร่วมค้าในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ กิจการร่วมค้าประเภทจดทะเบียน กับ กิจการร่วมค้าประเภทไม่จดทะเบียน
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าประเภทจดทะเบียน หมายถึง กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เช่น จดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ถ้ากิจการร่วมค้าจดทะเบียนเป็นองค์กรธุรกิจตามกฎหมายประเภทใดแล้ว ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายในเรื่องนั้น
ส่วนกิจการร่วมค้าประเภทไม่จดทะเบียน ต้องเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 เรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากลักษณะกิจการร่วมค้ามีลักษณะสำคัญเข้าตามหลักกฎหมายว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 บัญญัติเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุ 5 ประการ และหนึ่งในนั้นคือ (5) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
ฉะนั้นหากเป็นกิจการร่วมค้าประเภทไม่จดทะเบียน แล้วหุ้นส่วนคนใดในกิจการร่วมค้าล้มละลาย กิจการร่วมค้านั้นย่อมเลิกกัน หรือสิ้นสุดลง ทั้งนี้ย่อมรวมถึงกิจการร่วมค้าประเภทจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย เพราะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเดียวกัน
แต่หากเป็นกิจการร่วมค้าประเภทจดทะเบียนเป็นบริษัท ก็ต้องยึดตามกฎหมายว่าด้วยการเลิกกันของบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 (5) ที่ระบุว่า "เมื่อบริษัทล้มละลาย"
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัด ต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป แต่กิจการร่วมค้าที่รับงานปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ มีผู้ลงหุ้นแค่ 2 กิจการ คือ หจก.สนธิเศรษฐ และ บริษัทชาติธนา จำกัด จึงน่าคิดว่าสามารถจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้าในรูปแบบบริษัทได้หรือไม่
แต่หากเป็นกิจการร่วมค้าประเภทไม่จดทะเบียน หรือจดทะเบียนในรูปของห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลาย กิจการร่วมค้านั้นย่อมเป็นอันเลิกกัน
2.การขายงานต่อ จากการตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่า ปกติแล้วสัญญาจ้างของส่วนราชการ เมื่อพิจารณาประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการขายงานต่อไว้ ดังนั้นผู้รับจ้างงานราชการจึงไม่สามารถขายงานต่อได้
แต่หากเป็นกรณีการจ้างช่วงงาน ต้องดูในสัญญาว่าเขียนเอาไว้อย่างไร แต่โดยมากจะไม่อนุญาตให้จ้างช่วงงานได้ หรือหากมีการจ้างช่วง ก็ต้องแจ้งให้ผู้ว่าจ้างรับทราบก่อนทุกครั้ง (กรณีของโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีฯ ทาง ศอ.บต.อ้างว่าไม่เคยได้รับแจ้งเรื่องการจ้างช่วง)
นอกจากนั้นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 607 ยังบัญญัติไว้ว่า "ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง..."
ฉะนั้นหากโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะฯ เป็นการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง งานนี้ย่อมไม่สามารถจ้างช่วงต่อได้
3.การที่หนึ่งในบริษัทที่รวมตัวเป็น "กิจการร่วมค้า" ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถือว่าเข้าข่ายล้มละลายแล้วหรือไม่ ประเด็นนี้ตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วพบว่า ขั้นตอนการสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ฉะนั้นคำชี้แจงของ ศอ.บต.เฉพาะในส่วนที่ว่า บริษัทชาติธนาฯ หนึ่งในกิจการร่วมค้าฯที่รับงานปรับปรุงแหล่งเรียบรู้มัสยิด 300 ปีฯ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์วันที่ 8 ก.พ.2559 หลังกิจการร่วมค้าฯลงนามในสัญญาว่าจ้าง ในเดือน ม.ค.2559 จึงถือว่ายังมีคุณสมบัติ เพราะขณะทำสัญญายังไม่มีคำพิพากษาว่าล้มละลาย ย่อมเป็นคำชี้แจงที่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย
แต่จะฟังขึ้นหรือไม่ และมีความเหมาะสมเพียงใดที่ไปเซ็นสัญญากับบริษัทที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ใกล้ล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่ ศอ.บต.ต้องชี้แจงต่อไป!
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศที่มัสยิด 300 ปี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
อ่านประกอบ :
บริษัทรับงานปรับปรุงมัสยิด300ปีอยู่ปทุมฯ ที่ตั้งคล้ายบ้านร้าง แถมถูกฟ้องล้มละลาย
ภาณุ รับ บริษัทปรับปรุงมัสยิด 300 ปีล้มละลาย หารืออัยการตรวจสัญญา
เปิดเกณฑ์ "จ้างวิธีพิเศษ" เทียบมัสยิด 300 ปีหลังนายกฯสั่งฟันบริษัทล้มละลายรับงาน
ชมรมอิหม่ามบาเจาะจี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี
3 บริษัทรับช่วงงานแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ลุยก่อสร้างด้านนอก 4 อาคาร
ทางวิบากโครงการ "มัสยิด 300 ปี" เดินหน้าต่อ สั่งชะลอ หรือเลิกสัญญา?