พิสิษฐ์ ณ พัทลุง กับที่มาของคำว่า "ล่า" เอานกยูงออกจากพื้นที่
"วันนี้นกยูง ก็อยู่ในส่วนของนกยูงไป มูลนิธิฯ ไม่เคยไปแตะต้องนกยูงแม้แต่ตัวเดียว และไม่เคยจัดกิจกรรมล่อนกยูงออกมา แต่การให้อาหารนั้นเป็นการปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว มะละกอ มาก่อน และก็มีการหว่านข้าว หากไม่หว่านข้าวจะปลูกอย่างไร"
กรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ ตอบข้อหารือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงการดำเนินกิจกรรมให้อาหารนกยูงของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย นั้น ไม่เป็นความผิดฐานล่าหรือพยายามล่านกยูงตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 16[6] แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ แต่อย่างใด (อ่านประกอบ:กรมอุทยานฯ เงื้อค้าง กฤษฎีกาชี้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ จัดกิจกรรมให้อาหารล่อนกยูง ไม่ผิดกม.)
ในฐานะประธานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย นายพิสิษฐ์ ณ พัทลุง ซึ่งทำงานด้านอนุรักษ์มายาวนาน ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า วันนี้นกยูงไทยมีจำนวนค่อนข้างน้อยมีอยู่ไม่กี่แห่ง ความเป็นมาของประเด็นดังกล่าว เมื่อปี 2555 มีคนมาพบที่กรุงเทพฯ บอก ว่า ที่ลำพูนมีนกยูงอยู่เยอะ เป็นนกยูงที่ครูบาศรีวิชัยเลี้ยงไว้เมื่อ 70 ปีก่อน หลังจากที่ท่านมรณะไป นกยูงเหล่านี้ก็ปล่อยเข้าป่า และออกลูกออกหลานมาเป็น ร้อยๆตัว พอต้นปี 2556 เลยตัดสินใจไปลำพูน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำพาไปดูและมีข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีนกยูงไทยอยู่จริง พื้นที่ตรงนั้น นกยูงจะลงมาลำแพนทีหนึ่ง 30-40 ตัว ที่อำเภอลี้ ติดกับบ้านโฮ่ง
"เท่าที่เห็น บางปีก็เยอะ บางปีก็น้อย แต่คำว่าเยอะน้อย ขึ้นอยู่กับบริเวณ แต่จุดที่เป็นประเด็นที่กำลังพูดอยู่ตอนนี้นับได้สูงสุด 69 ตัว มีบางคนอ้างเป็นร้อยเป็นพัน ในบริเวณนั้น แต่จุดนี้ที่เราพูดถึง มีคนนับได้ถึง 69 ตัว"
นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ตอนที่ไปลำพูนเมื่อปี 2556 นั้น ปรากฏว่า มีโครงการนกยูงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ที่ทำร่วมกับห้างบิ๊กซี เป็นโครงการใหญ่ที่จะสร้างเป็นอนุรักษ์นกยูง มีการเปิดงานใหญ่โต ซึ่งมีการให้อาหารนกยูงทำมาหลายปีแล้ว หลังจากนั้นโครงการก็ล้ม
"ผมเห็นและเกิดความไม่สบายใจ นั่นคือ ตรงจุดนี้มีการปลูกข้าวโพด ปลูกข้าวกันตลอดทุกปี แต่ในระหว่างปลูก คือ 1. ข้าวโพดที่ปลูกจะชุบยาก่อน เพื่อไม่ให้สัตว์กินเมล็ด 2.ปลูกขึ้นแล้วฉีดยาฆ่าแมลงอีก เราจึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไร ถึงจะอนุรักษ์นกยูงตรงนี้ได้ เพราะเจ้าของที่ดินยืนยันว่า เป็นสิทธิของเขาที่จะฉีดยาฆ่าแมลง เราก็ได้ไปที่กรมที่ดิน ไปตรวจว่า ที่ดินตรงนี้ถูกต้องตามกฎหมาย และมีโฉนดหรือไม่ หรือเป็นที่ของป่าสงวน และปรากฏว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ มีโฉนดพร้อมหมด เป็นของชาวบ้าน ซึ่งเจ้าของจริงๆแล้วเป็นคนมีฐานะอยู่เชียงใหม่ ผมก็เลยรณรงค์ระดมทุนบอกว่ามูลนิธิขอทำงาน นกยูงนี้ เพราะจุดนี้เป็นจุดที่สวย และมีนกยูงเยอะ"
จากนั้นมูลนิธินิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ระดมทุนได้เงินมาก้อนหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซื้อที่ดินบริเวณนั้นในราคา 60,000-70,000 บาทต่อ 1 ไร่ รวมทั้งหมดซื้อไป 58 ไร่
"เมื่อได้ที่ดินมา ก็ได้เริ่มโครงการอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิด" นายพิสิษฐ์ ระบุ และอธิบายารอนุรักษ์มี 2 แนวทาง คือ
1. การอนุรักษ์ในถิ่นกำเนิด หากนกยูงอยู่ที่ไหนก็อย่าไปยุ่ง
2.การอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด คือถ้านกยูงไม่ไหวจริงๆ ถูกทำร้าย ถูกฆ่า ข้าราชการจะมีหน้าที่นำออกมาข้างนอก มาเลี้ยงข้างนอกเพื่อเพาะเลี้ยงไว้
"ที่มูลนิธิฯ กำลังทำตอนนี้คือการอนุรักษ์ในถิ่นกำเนิดโดยเราไม่แตะต้องอะไร และเราก็ทำอย่างที่เขาทำมาไม่รู้กี่ปี ก็คือปลูกข้าวและข้าวโพด แต่เราจะไม่ใส่ยา ใส่สารเคมี โดยพื้นที่ที่ปลูกข้าวและข้าวโพดจะใช้พื้นที่ประมาณ 10 กว่าไร่ เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่ ที่มีน้ำ เป็นนาเก่า ที่อื่นจะปลูกข้าวไม่ขึ้นเพราะสูงชันและแห้ง และมีสวนยาง เราจะปล่อยยางทิ้งไว้ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ ทุกอย่างที่ทำมีอยู่แล้วทั้งหมด อีกทั้งเราจะสั่งทุกคน ห้ามล่าสัตว์ ห้ามใช้สารเคมีใน 58 ไร่นี้"
เมื่อถามว่า ทำไม่ถึงเกิดเรื่องกับกรมอุทยานฯ ?
เขาชี้แจงว่า ตอนที่มูลนิธิฯ ไปทำ ก็ได้รับความยินดี แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็มีคนมาบอกว่า ที่ดินตรงนี้ชาวบ้านเขาทำมาก่อนแล้ว นกยูงก็ไม่ได้ทำร้าย ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำร้ายจริง เพราะเป็นนกยูงของครูบาศรีวิชัย ที่พวกเขานับถือ และบอกว่า เงินที่มูลนิธิฯ ได้มานั้น ขอเถอะ ที่ดินยกให้เราเถอะ พวกเราจะทำเอง ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ อีกทั้ง ทางผ่านตรงที่ดินที่มูลนิธิฯ ซื้อนั้น ปรากฎว่าเป็นทางผ่านของขบวนการขนไม้ออกกลางคืน ตอนตี 4 และมีขบวนมอเตอร์ไซค์ ผ่านที่เราด้วย
"เขามาขอผมต่อหน้าคนทั้งหมู่บ้านในที่ประชุม เรื่องนี้กรมอุทยานฯ ก็รับรู้ แต่ก็ไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจชาวบ้าน เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นมาและรู้ว่า เราได้รับเงินบริจาค เขาก็เริ่มมีปัญหากับเราว่า ชาวบ้านไม่เห็นได้อะไรเลย เราก็ตอบไปว่า หากประสบความสำเร็จชาวบ้านจะได้ประโยชน์ จึงเกิดปัญหาขึ้นมา มีการไปร้องศูนย์ดำรงธรรมว่าผมมาทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน สร้างความแตกแยก และประกาศไม่ให้ใครเข้ามาทำงานกับมูลนิธิฯ แต่ก็ยังมีคนมาทำ พอมีคนมาทำ เขาก็เรียกประชุมชาวบ้านว่าจะไล่ออกจากหมู่บ้าน จะตัดน้ำตัดไฟ คนงานต้องลาออก และหาคนงานใหม่จากเชียงรายมาทำ"
และจากการมีเรื่องร้องไปที่ศูนย์ดำรงธรรมนั้น นายพิสิษฐ์ บอกว่า ทำให้ศูนย์ดำรงธรรมออกกฎว่า ต่อไปนี้ หากจะทำอะไรให้ขออนุญาตชนเผ่าให้หมดทุกคน ซึ่งทางเราก็ยังไม่รู้ว่ามีกี่ชนเผ่า และก็ทำในพื้นที่เอกชน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์และมีโฉนดหมดแล้ว และไม่ได้ออกจากพื้นที่เลย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ทำไมต้องขออนุญาตคนอื่นด้วย ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า "ล่า" เอานกยูงออกจากพื้นที่
เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ที่สุด วันนี้ คือ การเผ่าป่า การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเขาไม่ให้มูลนิธิฯ เราอยู่ตรงนั้น จากนั้นก็มีการไปร้องเรียนกับกรมอุทยานฯ และปัญหาที่คาใจมากที่สุดคือ "ผมเห็นว่าปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ) เป็นราชการ ซึ่งผมเป็นเอกชนที่ทำเรื่องอนุรักษ์ ผมควรจะไปแจ้งให้ท่านรับทราบ ว่าทางเราทำอะไรบ้าง และปรากฏว่า ปลัดทส. ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาตรวจในพื้นที่เราว่า ถูกต้องหรือผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาพร้อม GPS มากับทหารและมาตรวจบอกว่า มูลนิธิฯ ถูกต้องทุกประการ แต่ชาวบ้านรอบๆ มูลนิธิจำนวนมากบุกรุกป่าสงวน ผิดกฎหมายต้องยึดที่คืน และมีผู้นำชุมชนมาถามว่า ชาวบ้านจะถูกยึดพื้นที่หลายแปลง ผมสามารถจ่ายเงินคืนให้กับทุกคนได้ไหม ซึ่งผมก็ตอบว่า ไม่ได้ เพราะผมไม่มีเงิน เป็นอันว่าชาวบ้านประกาศเลยว่า นาย พิสิษฐ์ ณ พัทลุง เป็นผู้ไปแจ้งให้ชาวบ้านถูกจับ ก็กลายเป็นศัตรูกัน ชาวบ้าน ไปร้องกรมอุทยานฯ ทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา"
ประธานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ยืนยันว่า วันนี้นกยูง ก็อยู่ในส่วนของนกยูงไป มูลนิธิฯ ไม่เคยไปแตะต้องนกยูงแม้แต่ตัวเดียว และไม่เคยจัดกิจกรรมล่อนกยูงออกมา แต่การให้อาหารนั้นเป็นการปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว มะละกอ มาก่อน และก็มีการหว่านข้าว หากไม่หว่านข้าวจะปลูกอย่างไร
"พื้นที่ตรงนี้ นกยูงออกมาตั้งแต่ก่อนผมมา นานแล้ว เพราะเป็นพื้นที่ผสมพันธุ์ นกยูงตัวผู้ 1 ตัว จะมีตัวเมีย 20-30 ตัว และนกยูงที่จะผสมพันธุ์จะต้องมีพื้นที่ โล่ง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีหญ้ารก ประมาณ 16 ตารางเมตร นกยูงก็จะออกมาตรงนี้"
ทั้งนี้ เขายืนยัน มูลนิธิฯ ไม่เคยแตะต้องนกยูง นกยูงจะมาก็ยินดี ดีใจ "ผมเป็นคนจัดสถานที่สำหรับถ่ายรูป นกยูงให้สวยๆ ซึ่งไม่มีผลต่อนกยูงเลย และมีซุ้มที่สร้างขึ้นมา ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม รวมทั้งยังมีการสร้างห้องสมุดเกี่ยวกับสัตว์และป่าให้เด็กนักเรียนได้มาอ่าน
"พื้นที่ผมไปทำงาน ไม่มีไฟฟ้าและประปา เพราะเป็นพื้นที่ทุรกันดาร คนงานก็หายาก งานก็ทำยาก เต็มไปด้วยผู้ที่อิทธิพล ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ เพราะไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน สุดท้ายเราตัดสินใจแล้วว่า เราจะปลูกต้นไม้ เราจะดูแลต้นไม้ และจะไม่ยุ่งกับใคร ถึงจะไล่ไปยังไง ผมก็ไม่ไป"