- Home
- Isranews
- ข่าว
- กรมอุทยานฯ เงื้อค้าง กฤษฎีกาชี้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ จัดกิจกรรมให้อาหารล่อนกยูง ไม่ผิดกม.
กรมอุทยานฯ เงื้อค้าง กฤษฎีกาชี้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ จัดกิจกรรมให้อาหารล่อนกยูง ไม่ผิดกม.
คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยันการดำเนินกิจกรรมให้อาหารนกยูงของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ไม่เป็นความผิดฐานล่าหรือพยายามล่านกยูงตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 16[6] แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ แต่อย่างใด
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่บันทึกเรื่อง การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองตามความหมายของบทนิยามคำว่า "ล่า" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
จากกณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดทำโครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงในถิ่นกำเนิดใกล้กับพื้นที่เตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยในพื้นที่ของมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำแหล่งน้ำ ปลูกพืชอาหารสัตว์ ลานรำแพน สำหรับนกยูง และซุ้มบังไพร ซึ่งจะมีกิจกรรมให้อาหารนกยูงโดยโปรยเมล็ดข้าวโพดและข้าวเปลือก ไว้ที่ลานรำแพนเพื่อให้นกยูงที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติออกมากิน และจัดให้มีการซุ่มดูนกยูง
จากซุ้มบังไพร
ซึ่งสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการสำรวจแหล่งข้อมูลพบว่า แหล่งอาหารและแหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่ลดน้อยลงทำให้นกยูงบางส่วนออกมาหากินนอกพื้นที่ และเมื่อมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ดำเนินกิจกรรมให้อาหารนกยูง จึงเป็นอีกปัจจัยที่เป็นการล่อนกยูงออกนอกพื้นที่ และขยายพื้นที่หากินออกไปใกล้พื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น และทำให้นกยูงเสียพฤติกรรมการหากินตามธรรมชาติ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาลักษณะกิจกรรมการให้อาหารนกยูงของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ แล้ว มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นว่า การที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิดใกล้กับพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่ง โดยมีการจัดทำลานรำแพนให้นกยูงจากพื้นที่ป่าเข้าไปกิน ถือว่าเป็นการล่อนกยูงเข้าไปในพื้นที่ของมูลนิธิฯ เข้าข่ายการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แม้ว่านกยูงจะไม่ได้รับอันตรายจากการกระทำดังกล่าวก็ตาม แต่เป็นผลให้นกยูงเสียพฤติกรรมการหากินตามธรรมชาติ และเมื่อนกยูงคุ้นชินกับอาหารซึ่งเป็นพืชการเกษตร อาจข้ามไปหากินในพื้นที่การเกษตรแปลงอื่น ๆ เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และเป็นการส่งเสริมให้นกยูงออกมาจากป่ามากขึ้นอีกด้วย
ฝ่ายที่สอง เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า "ล่า" หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึง การไล่ การเรียก หรือการล่อ เพื่อกระทำการดังกล่าวด้วย ซึ่งจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้มีการโปรยเมล็ดข้าวโพดและข้าวเปลือกไว้ที่ลานรำแพนเพื่อให้นกยูงที่อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติออกมากิน การให้อาหารนกดังกล่าวมิได้มีเจตนาเพื่อที่จะเก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายประการใด ๆ แก่นกยูง โดยนกยูงยังคงอยู่อย่างอิสระ ดังนั้น การให้อาหารนกยูงของมูลนิธิฯ จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า "ล่า" ตามคำนิยามดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานล่าสัตว์ป่าแต่อย่างใด
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าว เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันไม่อาจพิจารณาเป็นข้อยุติได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติและเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องชัดเจน จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าพฤติกรรมการให้อาหารนกยูงของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการล่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า โดยที่มาตรา 16[1] แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 26[2] โดยกรณีใดจะเข้าลักษณะเป็นการล่าหรือพยายามล่านั้น ต้องพิจารณาความหมายของบทนิยามคำว่า "ล่า" ตามมาตรา 4[3] แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ที่บัญญัติให้หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามประเด็นปัญหาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอหารือปรากฏว่า การจัดทำโครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิดของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีการจัดพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมให้อาหารนกยูง
แม้จะมีลักษณะเป็นการล่อให้นกยูง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 [4] ที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติเข้าไปหากินในพื้นที่ของมูลนิธิฯ แต่การกระทำดังกล่าวก็มิได้มีเจตนาที่จะเก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตราย
ด้วยประการอื่นใดแก่นกยูง และนกยูงยังคงอยู่อย่างอิสระตามธรรมชาติ กรณีจึงไม่อยู่ในความหมายของบทนิยามคำว่า "ล่า" ตามมาตรา 4[5] แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ
ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมให้อาหารนกยูงของมูลนิธิฯ จึงไม่เป็นความผิดฐานล่าหรือพยายามล่านกยูงตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 16[6] แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ แต่อย่างใด
อนึ่ง หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เห็นว่า การดำเนินการโครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิดของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นการล่อให้นกยูงออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าจะทำให้นกยูงสูญเสียพฤติกรรมการหากินตามธรรมชาติ และเมื่อนกยูงคุ้นชินกับอาหารซึ่งเป็นพืชการเกษตรอาจข้ามไปหากินในพื้นที่การเกษตรแปลงอื่น ๆ ซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรก็ควรนำปัญหาดังกล่าวหารือกับมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหานี้ให้เหมาะสมต่อไป