นายกฯเมิน 3 เงื่อนไขบีอาร์เอ็น แนะถ้าอยากคุยต้องประสานผ่านมาเลย์
หลังจากมีแถลงการณ์เป็นเอกสารของฝ่ายบีอาร์เอ็นออกมาเพียง 1 วัน โดยยื่นเงื่อนไข 3 ข้อเพื่อเจรจาสันติภาพ ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตอบคำถามเรื่องนี้แล้ว โดยปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดของบีอาร์เอ็น
เงื่อนไข 3 ข้อจากแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.60 ก็คือ การเจรจาสันติภาพจะต้องถูกกำหนดรูปแบบจากคู่ขัดแย้งอย่างเท่าเทียม ต้องมีประชาคมระหว่างประเทศเป็นสักขีพยาน และผู้ที่เป็นคนกลางจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ทำให้เกิดการตีความว่า บีอาร์เอ็นไม่ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ "มารา ปาตานี" (องค์กรร่มของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม) และไม่ต้องการให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 เม.ย.60 ว่า "ไม่ต้องไปขยายความให้เขา เพราะต้องไปอยู่ในกระบวนการการพูดคุยสันติสุข ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาพูดคุยกับเรา ในเมื่อประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ก็ต้องไปยื่นความประสงค์กันตรงโน้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถพูดคุยกับผู้ที่มีรายชื่อเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายในดินแดนประเทศไทยได้ ก็ไปหาทางออกกันตรงนั้น และเราก็ไม่ได้เรียกเป็นผู้ก่อการร้ายในประเทศของเรา แม้เขาจะมีกี่ชื่อก็ตาม เราถึงใช้คำว่าพูดคุยสันติสุข ซึ่งกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีส่วนน้อย"
ส่วนเงื่อนไขการมีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติร่วมเป็นสักขีพยานนั้น นายกฯ กล่าวว่า "ประเทศไทยของเราแก้ปัญหากันเองไม่ได้เหรอ จะให้ใครเข้ามาทำไม เขาจะรู้จะเข้าใจอะไรไหม คนที่น่าเชื่อถือก็ต้องเชื่อถือรัฐในการทำงาน เพราะวันนี้รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่าต้องการให้สถานการณ์สงบให้ได้โดยเร็ว ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากตรงไหนก็ตาม ก็ต้องไปหาสาเหตุตรงนั้น ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ต้องลงโทษให้หมด เพราะได้กำชับไปแล้ว แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย การใช้อาวุธสงคราม มีการต่อสู้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องมีเจ็บมีตาย ถ้ามีสาเหตุอื่นก็ต้องสอบสวนดำเนินคดี ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ก็ไม่ถูกละเว้นอยู่แล้ว"
พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NOW26 ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นเป็นของจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดก่อน เพราะเอกสารดังกล่าวผิดปกติวิสัยของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เป็นองค์กรลับ ซึ่งมักจะไม่มีการประกาศเจตนารมณ์ในลักษณะแบบนี้
ขณะที่สำนักข่าวเนชั่นรายงานอ้างคำพุดของ พล.อ.อักษรา ว่า ยังคงเดินหน้าพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันต่อไป ส่วนเรื่องแถลงการณ์บีอาร์ดเอ็นถือเป็นเรื่องภายในของกลุ่มมารา ปาตานี เพราะมีบีอาร์เอ็นอยู่ในนั้นเหมือนกัน สาเหตุที่บีอาร์เอ็นต้องออกแถลงการณ์คงเป็นเพราะอึดอัดที่สื่อนำเสนอข่าวว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย และจะใช้ความรุนแรงเพื่อประกาศเอกสารในปี 2575 ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วบีอาร์เอ็นเห็นด้วยกับการพูดคุย แต่อาจมีพวกตกขบวน ทั้งที่อยากคุย จึงตั้งเงื่อนไขอย่างโน้นอย่างนี้ ขณะนี้ได้ขอให้มารา ปาตานี ไปจัดการ
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NOW26 ว่า เอกสารที่อ้างว่าเป็นแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น ยังไม่ได้รับการยืนยันจากกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ทางกองทัพติดต่อประสานงานอยู่ว่าเป็นของจริงหรือไม่ แต่เบื้องต้นได้มอบหมายให้คณะพูดคุยชุดเล็กของกองทัพภาคที่ 4 เข้าไปตรวจสอบและสอบถาม โดยประสานผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ทั้งนี้มองว่า เอกสารลักษณะนี้ใครก็สามารถทำขึ้นได้
------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพนายกฯจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
อ่านประกอบ :
ถอดรหัสบีอาร์เอ็น ล้มวงพูดคุยมาราฯ รอเจรจาหลังสิ้นยุครัฐบาลทหาร
บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ตั้ง 3 เงื่อนไขเจรจาสันติภาพ
ยุทธศาสตร์ (ใหม่) BRN แสวงประโยชน์ "พูดคุย" ปลดปล่อยปาตานีปี 2575