ธุรกิจพยากรณ์ความตาย : เมื่อเทคโนโลยีอยู่เหนือธรรมชาติ
Big Data ทำให้มนุษย์ค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้กลายเป็นความจริงได้อย่างน่าทึ่ง เป็นความท้าทายที่มนุษย์ต้องการค้นหาความจริงอันน่าเหลือเชื่อจากข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ขั้นสูง (Big Data Analytics) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถทำให้เราค้นหาความจริงได้จากข้อมูลเหล่านั้นได้ นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ของสินค้าในห้างสรรพสินค้า ความสัมพันธ์ของสีรถกับอุบัติเหตุและก้าวไกลไปถึงการพยากรณ์ว่ามนุษย์คนไหนจะมีอายุยืนยาวได้อีกกี่วันหรือกี่ปี
การพยากรณ์เป็นเรื่องคู่กับมนุษย์ทุกชนชาติ บุคคลในอดีตหลายต่อหลายคนมีชื่อเสียงก้องโลกในเรื่องความแม่นยำในการพยากรณ์จนเป็นเรื่องที่นำมาพูดต่อกันจนถึงทุกวันนี้เพราะหลายเรื่องที่พยากรณ์มานั้นแม่นราวกับตาเห็น ในขณะที่การพยากรณ์หลายๆเหตุการณ์ตรงข้ามกับความจริงโดยสิ้นเชิงและมักไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆมาอ้างอิง
อับราฮัม เดอ มอย เร (Abraham de Moivre) เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1667-1754 เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงว่า สามารถพยากรณ์ความตายของตัวเองได้อย่างแม่นยำคนหนึ่ง การพยากรณ์ของ อับราฮัม เดอ มอย เร ไม่ใช่การพยากรณ์แบบที่หมอดูทั่วไปทำนายกันหรือทำนายจากจิตใต้สำนึก แต่เขาพยากรณ์ความตายตัวเองจากการสังเกตและจากข้อมูลที่เขาบันทึกเอาไว้
เมื่อตอนอายุ 87 ปี เขาสังเกตว่าระยะเวลาในการนอนของเขาเพิ่มขึ้น 15 นาทีในแต่ละคืน เขาจึงสรุปเป็นทฤษฎีว่า ถ้าจำนวนเวลาที่เขานอนเพิ่มขึ้นในแต่ละคืนจำนวน 15 นาทีนั้นครบ 24 ชั่วโมงเมื่อใด วันนั้นคือวันที่เขาต้องจากโลกนี้ไป เขาจึงสามารถทำนายว่าวันตายของเขาคือวันที่ 27 พฤศจิกายน 1754 และเมื่อวันนั้นมาถึงเขาก็ลาจากโลกไปจริงๆ เป็นการพยากรณ์ที่อาศัยการสังเกตและเป็นการพยากรณ์โดยใช้ข้อมูลที่เขาได้บันทึกเอาไว้
คงไม่มีใครคาดคิดว่าในอีก 260 ปีต่อมาแนวคิดในการพยากรณ์ความตายของ อับราฮัม เดอ มอย เร จะกลายเป็นธุรกิจจากพื้นฐานทางวิชาคณิตศาสตร์และทฤษฎีความเป็นไปได้ที่เขาได้พยากรณ์เอาไว้ (แม้ว่าจะยังมีข้อสงสัยอยู่หลายอย่างเช่นไม่ปรากฏหลักฐานที่มีผู้เขียนไว้ขณะเขาตายก็ตามที) แต่เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้นักสถิติและนักคณิตศาสตร์รุ่นหลังๆต่างใช้หลักทางสถิติและคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์ความตายของมนุษย์ในยุคต่อมาได้แม่นยำอย่างน่าอัศจรรย์
นอกจาก อับราฮัม เดอ มอย เร แล้ว ยังมีการบันทึกไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดมีมนุษย์ในโลกนี้อีกห้าคน ที่ทำนายความตายของตัวเองแม่นยำราวกับตาเห็น เป็นต้นว่า มาร์ค ทเวน(Mark Twain) เปเต มาราวิช (Pete Maravich) วิลเลียม โทมัส สตีด (William Thomas Stead) และอาร์โนล เชินแบร์ก (Arnold Schoenberg) เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าคำทำนายของ อับราฮัม เดอ มอย เร น่าจะเกี่ยวข้องกับโลกของการทำนายด้วยวิทยาการสมัยใหม่มากที่สุดเพราะเขาใช้ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ความเป็นไปได้(probability)รวมทั้งสูตรต่างๆในการทำนายความตายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง
โลกของ Big Data Analytics ทำให้การพยากรณ์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น มีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและมีความแม่นยำจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลายแขนงและหนึ่งในธุรกิจที่อาศัยข้อมูลในการพยากรณ์คือ “ธุรกิจการพยากรณ์ความตาย” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้เพราะความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ปกติทุกคนไม่พึงปรารถนาและคนจำนวนมากไม่อยากรู้เลยว่าตัวเองจะถึงเวลาตายวันใด แต่การพยากรณ์ความตายก็กลายเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ เป็นการพยากรณ์จากประโยชน์ของ Big Data Analytics นั่นเอง
ความจริงแล้วการพยากรณ์ความตายหรือการพยากรณ์ว่าผู้ใดควรจะมีชีวิตยืนยาวไปกี่ปีนั้นมีการพยากรณ์อยู่แล้วในธุรกิจประกันภัย เพราะบริษัทเหล่านี้ต้องประเมินความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้ประกันตนอยู่เสมอเพื่อบริษัทจะได้สามารถเรียกเก็บเบี้ยประกันแต่ละบุคคลได้จากผลการประเมินที่ได้รับ
แต่เดิมนั้นบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่มัก ประเมินความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากผลการตรวจสุขภาพซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงบริษัทประกันภัยในปัจจุบันจึงเลือกใช้ Big Data Analytics ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่นอกจากจะประหยัดต้นทุนลงไปได้มากแล้วยังมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือได้ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นบริษัทประกันภัยจึงให้ความสนใจต่อการนำ Big Data และ Analytics มาใช้ในธุรกิจของตัวเองมากขึ้นทุกที
ก่อนที่การพยากรณ์ความตายจะกลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจนั้น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักการแพทย์ได้พยายามนำเอา Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ(Health care) เพื่อแปลความหมายของข้อมูลจากผู้ป่วยโดยการวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อการตัดสินใจและช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพที่สุดและมีความคาดหวังไกลไปจนถึงการรักษาโดยการวิเคราะห์ไปจนถึงพันธุกรรมของแต่ละบุคคลจนทำให้เกิดบริษัทที่เรียกกันว่า Life science firm ขึ้นมามากมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองประมาณการกันว่ามีการใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP จึงทำให้ ธุรกิจการดูแลสุขภาพเป็นที่หมายปองของผู้ที่กำลังจะลงทุนในธุรกิจใหม่
จากการประมาณการค่าใช้จ่ายของค่ารักษาพยาบาลของคนอเมริกันพบว่าหนึ่งในสี่ของค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยชาวอเมริกันซึ่งอยู่ประมาณ 150,000 ล้านเหรียญ ต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในระยะปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองของบริษัทสตาร์ทอัพบางแห่งที่จะใช้โอกาสนี้ในการเสนอบริการแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อลดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลที่ผู้ป่วยหรือญาติที่ต้องรับภาระก่อนตายโดยการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อดูแนวโน้มว่าผู้ป่วยรายนั้นๆจะมีชีวิตยืนยาวไปได้อีกนานเท่าใด
ดังนั้นการพยากรณ์ความตายซึ่งแต่เดิมทำกันอยู่เฉพาะธุรกิจประกันภัยหรือในบางธุรกิจนั้นกลายมาเป็นธุรกิจที่เปิดเผย โดยบริษัทแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Aspire Health ซึ่งใช้ข้อมูลและอัลกอริทึมในการทำนายความตายของผู้ป่วย
บริษัทที่รับพยากรณ์ความตาย สามารถที่จะทำนายว่า ผู้ป่วยคนไหนที่น่าจะตายในหนึ่งสัปดาห์ หกสัปดาห์ หรือภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเสนอโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยระยะสุดท้ายของโรค โดยให้การป้องกันและบรรเทาอาการตลอดจนความทุกข์ทรมานด้านต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการเติมช่องว่างทางธุรกิจของการรักษาที่โรงพยาบาลกับการรักษาที่บ้าน
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะเน้นการดูแลที่เป็นองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพอันได้แก่ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้โดยที่ไม่ต้องมานอนอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อลดความทรมานของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบ (http://med.mahidol.ac.th/fammed/th/postgrad/doctorpalliative1th)
ที่สำคัญคือช่วยลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ๆ
ปัจจุบันบริษัท Aspire Health รับดูแลผู้ป่วยราว 20,000 คนใน 19 รัฐ มีการประมาณการว่า ด้วยวิธีที่บริษัทเสนอสามารถจะประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยแต่ละรายราว 8,000 ถึง 12,000 เหรียญ
จากข้อมูลของบริษัทพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับการบำบัดการรักษาระยะสุดท้ายได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยภาวะหัวใจวาย (congestive heart failure :CHF) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(chronic obstructive pulmonary disease :COPD) ไตวาย(kidney failure) ตับวาย (liver failure) โรคสมองเสื่อมระยะสุดท้าย(advanced dementia) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis :ALS)
อย่างไรก็ตามโปรแกรมที่บริษัทเสนอให้กับผู้ป่วยเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในการป่วยระยะสุดท้ายเช่น มะเร็งระยะที่ 4 หรือแม้แต่ผู้ป่วยระยะเริ่มต้นแต่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ เป็นต้น
เนื่องจากการพยากรณ์ความตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน บริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการยื่นข้อเสนอให้กับผู้ป่วยหรือครอบครัวผู้ป่วย ตัวแทนของบริษัทจึงต้องเคร่งครัดต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งและเมื่อมีการนำเสนอโปรแกรมการรักษาแก่ผู้ป่วยจะไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดปริปากถึงเรื่องของการพยากรณ์ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะอยู่ได้อีกกี่เดือนกี่วันหรือแม้แต่การพูดถึงเรื่องการรักษาระยะสุดท้ายเป็นอันขาด
สิ่งที่บริษัทนำเสนอคือการทำความเข้าใจในเรื่องการเจ็บป่วย และแจ้งถึงอาการของโรคที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งเสนอวิธีการดูแลและบริการต่างๆที่บริษัทจะมอบให้ผู้ป่วย เช่น การเยี่ยมเยียนผู้ป่วย การให้บริการพยาบาลแบบ 24/7 หรือบริการอื่นๆที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจและเป็นทางเลือกในการรักษาแทนการนอนอยู่โรงพยาลบาลนับเดือนซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า
แม้ว่าผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาตามโปรแกรมที่บริษัทเสนอก็ตาม บริษัทจะเน้นในเรื่องความเต็มใจของผู้ป่วยที่จะเลือกที่รักษาหรือไม่รักษาในส่วนใดของโปรแกรม รวมทั้ง ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆในการห้ามผู้ป่วยเข้าหรือออกจากโรงพยาบาลอีกด้วย
การเลือกเป้าหมายว่าใครจะเป็นผู้ป่วยที่ควรเข้าร่วมโปรแกรมนั้น บริษัทจะใช้ข้อมูลทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Health Record : HER) ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้าง(Structured data) และข้อมูลแบบไร้โครงสร้าง (Unstructured data) และใช้อัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นเพื่อค้นหาผู้ป่วยเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย ฯลฯ ก่อนที่จะปรึกษากับแพทย์หรือผู้ดูแลผู้ป่วยว่าผู้ป่วยรายนั้นเหมาะสมจะเข้าร่วมในโปรแกรมการรักษาขั้นสุดท้ายหรือไม่
การพยากรณ์ความตายโดยการวิเคราะห์ประวัติผู้ป่วยนั้นมีความล่อแหลมต่อเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย เนื่องจากการปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนการได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยนั้นอาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยได้
แม้ว่าบริษัทจะอ้างว่าได้ดำเนินการทำธุรกิจภายใต้กรอบที่กฎหมายการดูแลทางการแพทย์อนุญาตให้ทำได้ก็ตาม แต่เบื้องหลังของการทำธุรกิจจากการใช้ข้อมูลมีความลึกลับซับซ้อน ข้อมูลจากแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการพยากรณ์ จึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทประเภทนี้อาจหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อสังคมออนไลน์รวมทั้งนายหน้าขายข้อมูลซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดในธุรกิจการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับธุรกิจเกือบทุกประเภท
แม้ว่าการนำ Big Data Analytics ได้ถูกนามาใช้ในวงการแพทย์ การดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนการพยากรณ์ความตายก็ตาม แต่การนำข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยมาทำการวิเคราะห์นั้นยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของผู้ป่วยนั้นถือว่าเป็นความลับทางการแพทย์รวมทั้งข้อมูลผู้ป่วยนั้นแต่ละองค์กรต่างจัดเก็บไว้เฉพาะตัวเองเป็นลักษณะต่างคนต่างเก็บ จึงเป็นการยากที่จะนำข้อมูลที่กระจัดกระจายเหล่านั้นมาวิเคราะห์ได้โดยง่าย การพึ่งพิงข้อมูลจากบุคคลที่สามอย่างนายหน้าขายข้อมูลจึงอาจมีความจำเป็น ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากข้อมูลทางการแพทย์ไปตกอยู่ในมือของนายหน้าขายข้อมูลเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไรบริษัทเหล่านี้ก็อาจจะใช้ข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อทำธุรกิจต่อเนื่องได้อีกหลากหลาย เป็นต้นว่า
- ท่านอาจได้รับการติดต่อจากบริษัทประกันภัยเพื่อเสนอประกันแพกเก็จพิเศษที่สุดคุ้ม เพราะบริษัทประกันรู้แล้วว่าท่านจะมีอายุยืนยาวขนาดไหน
- แม้ท่านจะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายแต่ท่านอาจยังพอไปไหนมาไหนได้ ท่านอาจได้รับการเสนอแพกเก็จท่องเที่ยวพิเศษจากบริษัทนำเที่ยว เพราะครั้งหนึ่งท่านเคยไปตอบแบบสอบถามทางอินเทอร์เน็ตว่าครั้งหนึ่งในชีวิตท่านอยากไปไหนมากที่สุดก่อนตาย
- ท่านอาจได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลชั้นนำหรือบริษัทที่พยากรณ์ความตายเพื่อดูแลท่านเป็นพิเศษถึงที่บ้านเป็นวาระสุดท้าย
- ก่อนตายหรือแม้แต่เมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ครอบครัวของท่านอาจได้รับการติดต่อจากบริษัทรับจัดพิธีศพตามที่ผู้ตายปรารถนาด้วยราคาที่น่าสนใจ สถานที่ที่สะดวก เป็นต้น
สิ่งต่างๆเหล่านี้หากมองผิวเผินแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องตลก แต่ในโลกของการใช้ข้อมูลในการทำธุรกิจนั้น สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่ท่านเองก็คาดไม่ถึง
แม้ว่าธุรกิจการพยากรณ์ความตายจะเป็นเพียงก้าวแรกของการนำ Big Data Analytics มาใช้ตัดสินความเป็นความตายของมนุษย์ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาชนะธรรมชาติที่มนุษย์ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้ แต่การใช้กระบวนการในการวิเคราะห์และอัลกอริทึม ในการพยากรณ์ความตายนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่า การพยากรณ์ความตายนั้นย่อมมีความผิดพลาดอยู่บ้างและผู้ให้บริการอย่างบริษัท Aspire Health เองก็ยอมรับต่อคำทำนายที่ผิดพลาดเหล่านี้เช่นกัน
นอกจากบริษัท Aspire Health แล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้บริการในทำนองเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า Big Data Analytics ในวงการแพทย์เป็นธุรกิจที่มีอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย
ปัจจุบันเราอาจยังไม่เคยได้ยินคำว่า “ธุรกิจพยากรณ์ความตาย “ อย่างเปิดเผยในประเทศไทย แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังนั้นบริษัทข้ามชาติที่รับพยากรณ์ความตายเหล่านี้อาจเข้ามาอยู่ในวงจรธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพในบ้านเราอย่างเงียบๆแล้วก็เป็นได้ เพราะธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพเริ่มมีการแข่งขันโดยใช้ Big Data Analytics มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
อย่างไรก็ตามธุรกิจการพยากรณ์ความตายที่เปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนนั้นมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในบางแง่มุม เช่น ความเชื่อของการตายซึ่งถือว่าควรเป็นไปโดยธรรมชาติมากกว่าการถูกกำหนดให้ตายด้วยเครื่องมืออัลกอริทึม หรืออาจมีแง่มุมด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์การกำกับดูแล รวมไปถึงการยอมรับของคนส่วนใหญ่ต่อเรื่องจริยธรรมในสังคมไทย เป็นต้น
เทคโนโลยีเป็นดาบสองคมเสมอ ในแง่มุมหนึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต แต่ในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านั้นกลับเป็นภัยแก่เราเองอย่างคาดไม่ถึง เพราะเราได้รับการบอกเล่าแต่ประโยชน์ของเทคโนโลยี แต่ไม่เคยได้รับการตักเตือนเรื่องภัยจากเทคโนโลยีมากเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเรามีมุมมองด้านเทคโนโลยีที่จำกัดเกินไปจึงทำให้มองเทคโนโลยีได้ไม่ครบทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านวัฒนธรรมกับเทคโนโลยีนั้นเราแทบไม่เคยได้ยินผู้บริหารองค์กรหรือผู้บริหารประเทศคนใดกล่าวถึงเลย
การที่เราเอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีนั้นทำให้ใครบางคนถึงกับพูดว่ามนุษย์กำลังเข้าใกล้ความเป็นพระเจ้าเข้าไปทุกที ในขณะที่บางคนพูดว่ามนุษย์กำลังเป็นทาสและเสพติดเทคโนโลยีมากเสียยิ่งกว่าสิ่งเสพติดใดๆในโลกนี้ ทำให้เราใช้เทคโนโลยีเกินขอบเขตและบางครั้งเกินกว่าธรรมชาติที่มนุษย์จะรับได้
นักการศึกษาด้านเทคโนโลยีบางคนถึงกับกล่าวว่าเทคโนโลยีคือความฉลาดที่ไร้ซึ่งจริยธรรม ยิ่งเรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานโดยไม่ตระหนักถึงมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมเปรียบเสมือนเรานำพลังที่มองไม่เห็นเข้ามาสู่สังคมโลกมากขึ้นทุกที เป็นการฉกฉวยประโยชน์จากเทคโนโลยีระยะสั้นเพียงเพื่อผลทางเศรษฐกิจโดยลืมคิดไปว่าเทคโนโลยีนั้นมีพลังที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อสังคมและความเป็นมนุษย์ในระยะยาวได้
แม้ว่ามนุษย์จะใช้ความพยายามใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) เพื่อสอดแทรกความมีจริยธรรมให้กับเทคโนโลยีมากมายเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นหรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
อ่านประกอบ
“นายหน้าขายข้อมูล” ธุรกิจสีเทา: ภัยเงียบจากเทคโนโลยีดิจิทัล
Can a Death-Predicting Algorithm Improve Care?