“นายหน้าขายข้อมูล” ธุรกิจสีเทา: ภัยเงียบจากเทคโนโลยีดิจิทัล
ธุรกิจการซื้อ-ขาย ข้อมูลจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตตามการเจริญเติบโตของข้อมูลที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ข้อมูลจึงกลายเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของโลกดิจิทัลโดยที่เจ้าของข้อมูลซึ่งคือผู้บริโภคและผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่รู้เลยว่าข้อมูลของตัวเองถูกนำไปขายให้กับคนกลุ่มใดบ้างในทางร้ายหรือทางดี จึงเป็นที่มาแห่งความสงสัยของสังคมต่อเรื่องการคุ้มครองสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค รวมทั้งความโปร่งใสของธุรกิจการซื้อ-ขายข้อมูล
ข่าวการขโมยข้อมูลส่วนตัวลูกค้าของ บริษัทโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยพนักงานของบริษัทเองและนำข้อมูลลูกค้าไปขายต่อให้บุคคลภายนอกนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของข้อมูลการใช้โทรศัพท์ นำไปสู่การคุกคามการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง เป็นภัยเงียบที่แสดงให้เห็นว่า สังคมโลกกำลังเผชิญกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวจากเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในทุกวินาทีที่ผ่านไป
อาชีพหนึ่งที่ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจข้อมูลอย่างเงียบๆโดยที่ไม่มีใครรู้จักมากนักคืออาชีพ “นายหน้าขายข้อมูล” อาชีพนี้ไม่ค่อยให้ใครๆรู้เรื่องราวของตัวเองมากนัก แต่แปลกตรงที่ว่าในขณะที่คนทั่วไปไม่รู้จัก แต่บริษัทเหล่านี้กลับกระหายที่จะรู้ข้อมูลทุกอย่างจากเราอย่างละเอียดยิบ หากเอ่ยชื่อของนายหน้าขายข้อมูลเหล่านี้ออกไปน้อยคนนักที่จะรู้จัก บริษัทเหล่านี้คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเก็บข้อมูลผู้บริโภคผ่านทั้งสื่อออนไลน์และข้อมูลจากแหล่งอื่น โดยจะนำข้อมูลที่เก็บไปจัดระเบียบ วิเคราะห์ สร้างข้อมูลชุดใหม่ และขายต่อให้กับใครก็ตามที่ต้องการข้อมูล
ดังนั้น ธุรกิจการซื้อ-ขาย ข้อมูลจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตตามการเจริญเติบโตของข้อมูลที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ข้อมูลจึงกลายเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของโลกดิจิทัลโดยที่เจ้าของข้อมูลซึ่งคือผู้บริโภคและผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่รู้เลยว่าข้อมูลของตัวเองถูกนำไปขายให้กับคนกลุ่มใดบ้างในทางร้ายหรือทางดี จึงเป็นที่มาแห่งความสงสัยของสังคมต่อเรื่องการคุ้มครองสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค รวมทั้งความโปร่งใสของธุรกิจการซื้อ-ขายข้อมูล
“นายหน้าขายข้อมูล” คือ บริษัทที่เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคและนำไปขายต่อหรือแบ่งปันข้อมูลนั้นให้กับผู้อื่น แหล่งข้อมูลหลักของนายหน้าขายข้อมูลแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลจากรัฐบาล ( เชื้อชาติ อายุ การศึกษา รายได้ ที่อยู่ ประวัติอาชญากรรม หมายจับ ฯลฯ) ข้อมูลสารธารณะ (สื่อสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ) ข้อมูลทางการค้า ( บริษัทโทรศัพท์ บริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย ประวัติการซื้อสินค้า ฯลฯ) และข้อมูลจากนายหน้าขายข้อมูลด้วยกันเอง จะเห็นได้ว่าแหล่งข้อมูลที่นายหน้าเหล่านี้เก็บข้อมูลมานั้นล้วนเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดจึงมีคนรู้การเคลื่อนไหวของเราทุกฝีก้าว ที่สำคัญคือข้อมูลที่ถูกนำไปขายนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือเจ้าของข้อมูลไม่เคยรู้เลยว่ามีบริษัทประเภทนี้อยู่ในโลก ดังนั้น ชื่อ ที่อยู่ อายุ เพศ เบอร์โทรศัพท์ ประวัติทางการเงิน ประวัติการประกันภัย ประวัติการเดินทาง ข้อมูลสุขภาพ สถานที่ที่ชอบไป ฯลฯ ของเราจึงถูกนำไปขายต่อให้กับคนที่ต้องการข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการถูกขโมยข้อมูลจากพวกแฮ็กเกอร์หรือการขโมยข้อมูลไปขายในรูปแบบอื่นๆ นอกจากจะขายข้อมูลให้กับบริษัทหรือองค์กรต่างๆแล้ว บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้บริการจากนายหน้าเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าบุคคลอื่นสามารถจะใช้และควบคุมข้อมูลของเราทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูลและสังคมได้ทั้งสิ้น
พวกนายหน้าขายข้อมูลรู้รายละเอียดของเรามากเกินกว่าที่เราจะคาดคิด เพราะเขาจะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเราตั้งแต่รายได้ของเราไปจนถึงขนาดของเสื้อผ้าที่เราใส่ พูดง่ายๆก็คือความเป็นตัวตนของเราตั้งแต่เส้นผมจนจรดปลายเท้าตลอดจนความสัมพันธ์กับใครต่อใครก็ตาม จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมดอย่างเป็นระบบ นายหน้ารายใหญ่บางรายแยกประเภทของข้อมูลที่เก็บจากผู้บริโภคแต่ละคนไว้มากถึง 1,500 ข้อมูล
จากรายงานของ CNN และ Forbes เมื่อเดือน ธันวาคม 2013 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า นายหน้าขายข้อมูลได้ขายข้อมูลเกี่ยวกับ รายชื่อเหยื่อที่ถูกข่มขืน รายชื่อผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม รายชื่อผู้ติดเชื้อเอดส์และHIV รายชื่อของผู้ป่วยที่ติดยาและติดเหล้า รายชื่อผู้มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมไปถึงชื่อและที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้กับลูกค้าของตนเอง แสดงให้เห็นว่าสังคมอเมริกันและประเทศอื่นๆที่บริษัทเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้กำลังเผชิญกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรงในยุคที่การค้นหาและการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถทำได้ไม่ยากผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล
จากรายงานของ Newsweek เมื่อ เดือน พฤษภาคม 2016 คาดว่าบริษัทนายหน้าขายข้อมูลซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนอยู่ระหว่าง 2,500 ถึง 4,000 ราย มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ บริษัทนายหน้าขายข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นบริษัท ที่ชื่อว่า Acxiom นอกจากนั้นก็ยังมีบริษัทประเภทเดียวกันทั้งรายใหญ่และรายย่อยอื่นๆ เช่น Corelogic Datalogix Epsilon eBureau IDAnalytics PeekYou และ RapLeaf เป็นต้น แต่ละชื่อที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นบริษัทที่ไม่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป
จากประมาณการรายได้ของธุรกิจการขายซื้อ-ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาและธุรกิจสอดแนมอื่นๆ รวมกันแล้ว น่าจะอยู่ราว 156,000 ล้านเหรียญต่อปี เฉพาะบริษัท Acxiom แห่งเดียว มีการเก็บข้อมูลผู้บริโภคราว 700 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งได้แก่ข้อมูล เพศ วัย การศึกษา จำนวนบุตร ขนาดของบ้าน ความสูง น้ำหนัก สินค้าที่เพิ่งซื้อ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ลูกค้าซื้อไปสามารถทำประโยชน์และช่วยทำให้การกลั่นกรองหรือตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลจำนวนไม่น้อยมีความผิดพลาด
จากการรายงานของ คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐ อเมริกา(Federal Trade Commission : FTC) พบว่าเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ของรายงานเครดิตของผู้บริโภคมีความผิดพลาด นอกจากนี้บริษัท Acxiom เองก็ยอมรับว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลบุคคลที่มีอยู่อาจจะไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อหน่วยงาน บริษัท หรือบุคคลนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปใช้งานจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลนั้นในทางตรงกันข้าม เช่น เหตุใดเราจึงถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ เหตุใดเราจึงถูกปฏิเสธจากบริษัทที่เราสมัครงาน เหตุใดธนาคารจึงไม่ปล่อยสินเชื่อบ้าน เหตุใดบริษัทประกันภัยปฏิเสธการซื้อประกัน เป็นต้น
แม้ว่าผู้บริโภคพบว่าข้อมูลตัวเองผิดพลาดแต่การเข้าไปหาบริษัทเหล่านี้เพื่อแก้ไขข้อมูลก็ไม่ใช้เรื่องง่ายและมีนายหน้าเพียงบางรายเท่านั้นที่ยอมให้ผู้บริโภคแก้ไขข้อมูล นอกจากนี้การแก้ไขข้อมูลยังมีเงื่อนไขต่างๆอีกมากและหากข้อมูลเปลี่ยนมือไปยังนานหน้ารายอื่นๆแล้วการแก้ไขก็ยิ่งจะทำได้ยากขึ้น
การซื้อ-ขาย ข้อมูล เป็นธุรกิจที่ซับซ้อน ขาดการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง ขาดความโปร่งใสในภาพรวม ก่อให้เกิดปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆทั่วโลกซึ่งน่าจะรวมถึงประเทศไทยด้วย จากรายงานของคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2014 พบว่า กฎหมายว่าด้วยรายงานข้อมูลผู้บริโภคที่เป็นธรรมของสหรัฐอเมริกา(Fair Credit Reporting Act : FCRA) ที่ใช้อยู่นั้นครอบคลุมไม่ถึงธุรกิจ ซื้อ-ขายข้อมูล จึงเปิดโอกาสให้บริษัทนายหน้าขายข้อมูลทำธุรกิจเก็บข้อมูลและนำข้อมูลจากใครต่อใครไปใช้และขายต่อได้โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย การซื้อ-ขาย
ข้อมูลจึงกลายเป็นธุรกิจสีเทาที่ทำให้ คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ต้องจับตาดูมานานนับสิบปีและได้เข้าไปตรวจสอบรวมทั้งเสนอแนะปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสภา นำไปสู่การเสนอ ร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกว่า กฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสและความรับผิดชอบของนายหน้าขายข้อมูล ( Data Broker Accountability and Transparency Act) เพื่อควบคุมและกำกับดูแลธุรกิจนายหน้าขายข้อมูลให้มีความโปร่งใส มีภาระรับผิดชอบ มีกระบวนการตรวจสอบและให้เจ้าของข้อมูลสามารถควบคุมข้อมูลของตัวเองได้ ขณะเดียวกันมีการเสนอร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกันอีกหนึ่งฉบับ เพื่อทำให้ธุรกิจนายหน้าขายข้อมูลมีความโปร่งใสมากขึ้น
ผลกระทบต่อผู้บริโภคไทย
ไม่เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เกิดปัญหาเรื่อง การละเมิดความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใสของธุรกิจ ประเทศไทยเองก็น่าจะอยู่ในข่ายที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันเพียงแต่คนไทยอาจไม่รู้ว่ามีผู้แกะรอยตามเราอยู่ตลอดเวลาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและคนไทยส่วนใหญ่คงไม่เคยรู้ว่ามีอาชีพนายหน้าขายข้อมูลอยู่ในวงการธุรกิจ บริษัทนายหน้าขายข้อมูลเหล่านี้มีการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลก ดังนั้นคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 40 ล้านคนจึงอยู่ในเป้าหมายของบริษัทเหล่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย ปัจจุบันนอกจากลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการจากบริษัทแม่ที่มีมากมายในต่างประเทศแล้ว นายหน้าขายข้อมูลบางรายได้มาเปิดสาขาที่เมืองไทยด้วย
ผู้ประกอบการบริษัทโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ยานยนต์ ฯลฯ ต่างต้องการข้อมูลการตลาด เพื่อการแข่งขันและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเอง จากบริษัทนายหน้าขายข้อมูลเหล่านี้ ในทางตรงข้ามผู้ประกอบการเหล่านี้ก็เป็นแหล่งข้อมูลให้กับนายหน้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงมักได้รับข้อความหรือโฆษณาสินค้าทาง e-mail จำนวนมากทุกวัน ได้รับข้อความจากคนที่เราไม่รู้จักทางโทรศัพท์ ได้รับการติดต่อจากบริษัทประกันที่เราไม่เคยใช้บริการ เจอโฆษณาจากต่างประเทศเมื่อเปิดอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ต และแม้แต่ การถูกปฏิเสธจากบริการต่างๆ เป็นต้น ข้อมูลต่างๆที่เราได้รับไม่ใช่เหตุบังเอิญหรือเป็นการส่งโดยไม่มีเป้าหมาย แต่มักเป็นข้อมูลที่บริษัทนายหน้าจัดหาให้
นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายที่คนไทยใช้กันอยู่มากมายนั้นล้วนแต่ใช้บริการของบริษัทนายหน้าขายข้อมูลด้วยกันทั้งสิ้น เช่น Facebook เป็นพันธมิตรกับ Datalogix Epsilon BlueKai และ Axciom ขณะที่ Google เป็นพันธมิตรกับ Acxiom และ Twitter เป็นพันธมิตรกับ Datalogix และ Acxiom เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้อาจนำข้อมูลของเราไปรวมกับข้อมูลที่ได้จากนายหน้าขายข้อมูล จนกลายเป็นข้อมูลชุดใหม่ที่ทำให้สื่อเหล่านี้รู้ถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ละเอียดขึ้นอีก
บทบาทของภาครัฐต่อธุรกิจนายหน้าขายข้อมูล
ภาครัฐเองต้องตระหนักถึงเรื่องความการปกป้องความเป็นส่วนตัวของบุคคลจาก นายหน้าขายข้อมูล อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายที่ให้ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ขโมยตัวตนของประชาชนไปอย่างง่ายๆแต่ฝ่ายเดียว กฎหมายกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวของบุคคล ต้องระบุถึงธุรกิจซื้อ-ขาย ข้อมูลและประเภทของข้อมูลอย่างชัดเจนและมีการบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความอ่อนไหวต่อการชักจูงได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายและมาตรการกำกับดูแลที่ภาครัฐออกมาบังคับใช้นั้นอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากไม่มีการปรับโครงสร้างด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและตอบสนองต่อความต้องการของสังคม อย่างจริงจังและเร่งด่วน อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้นอกจากการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็คือ การจัดตั้งหรือยกระดับองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแล ด้านความปลอดภัยและป้องกันการคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะควบคุมดูแลความปลอดภัยของเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศแบบเบ็ดเสร็จภายในองค์กรเดียว มิใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อ่านประกอบ : ความจริงของโลกออนไลน์ : ความจริงที่ภาครัฐต้องใส่ใจ