ขมวดปมบรรษัทน้ำมันฯ ไฉน กมธ. พลังงานยอมถอย-จับตาคนนั่ง กก.ศึกษา?
“…นับเป็นก้าวแรกในการปฏิรูปพลังงานไทยที่เปิดใช้ระบบใหม่ ภายหลังที่ใช้วิธีการสัมปทานมาอย่างยาวนานกว่า 40-50 ปี ท่ามกลางการประสานเสียงกันของบรรดา ‘ท็อปบู๊ต’ ทั้งใน สนช. กมธ.พลังงาน คณะรัฐมนตรี และ คสช. ว่า ‘ทหาร’ คงไม่ ‘ฝันเฟื่อง’ เข้าไปยุ่มย่ามในเรื่องนี้อย่างแน่นอน และให้คำสัญญาว่า จะไม่ให้ใครเข้าไปหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้ อีก 60 วันต่อจากนี้ จับตาดูว่า ‘ใคร’ จะเข้านั่งไป 'เก้าอี้ร้อน' ตัวนี้ในคณะกรรมการศึกษาบ้าง ?...”
ในที่สุดคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พลังงาน ที่มีนายทหารระดับ ‘นายพล’ อยู่เกือบทั้งคณะก็ยอมถอย!
ขอตัดมาตรา 10/1 ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ .. พ.ศ. …. บัญญัติให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบ และวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และเปลี่ยนเป็นข้อสังเกตแทน โดยให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องดังกล่าวภายใน 60 วัน และดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
(อ่านประกอบ : ยอมถอยบรรษัทน้ำมันฯใส่ในข้อสังเกต!ให้ ครม.ตั้ง กก.ศึกษาเสร็จใน 1 ปี-สนช.ผ่านวาระ 3)
ด้วยเหตุผลหลักคือถูก สนช. รุมซักหนัก ถึงวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของ ‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’ ที่คลุมเครือ ไม่มีการระบุให้ชัดเจน นอกจากนี้ภายนอกรั้วรัฐสภายังมีม็อบเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) ล้อมกดดันให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับดังกล่าวด้วย
โดยทั้ง 2 ฝั่ง มีจุดร่วมที่ต่างกันเล็กน้อยคือ สมาชิก สนช. เห็นด้วยที่มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ต้องระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ส่วน คปพ. ต้องการให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติตั้งขึ้นทันที เพราะกังวลว่า หากเขียน ‘เมื่อมีความพร้อม’ ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ตั้ง และอาจตั้งไม่ทันที่สัมปทานปิโตรเลียมจะหมดอายุ ซึ่งอาจเอื้อให้กลุ่มทุนพลังงานได้ต่อสัมปทานอีกครั้ง
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจประเด็นของเรื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปการประชุม สนช. ที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ระยะเวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยเฉพาะประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่อภิปรายกันยาวนานกว่า 4-5 ชั่วโมง และพักการประชุม 1 ครั้ง
และเป็นประเด็นที่สำคัญมากถึงขนาดที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ต้องกดออดเรียกสมาชิก สนช. ทั้งหมดเข้ามาเพื่อรับฟัง และอภิปรายเลยทีเดียว ?
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ.พลังงาน และประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ระบุคือ มีการเพิ่มเติมระบบใหม่ขึ้นอีก 2 ระบบ คือ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และ ระบบจ้างสำรวจและผลิตและบริการ จากเดิมที่มีแค่ระบบสัมปทานอย่างเดียว ขณะเดียวกันบัญญัติให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) เพื่อหวังให้กำกับดูแลปิโตรเลียมทั้งประเทศ เนื่องจากเห็นว่า 2 ระบบใหม่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน อาจกำกับดูแลไม่ไหว เนื่องจากเป็นหน่วยงานขนาดกลาง และบุคลากรอาจไม่เพียงพอ
พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ให้กรมการพลังงานทหารเข้ามาควบคุมเบ็ดเสร็จแต่อย่างใด แต่เสนอช่องทางให้ทั้งกรมการพลังงานทหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ส่งคนเข้ามาร่วมดำเนินการได้ ขณะเดียวกันคำว่า ‘จัดตั้งเมื่อพร้อม’ นั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 3 ปี
ขณะเดียวกันยอมรับว่า ได้เข้าพบกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดแรก เมื่อปี 2558 อ้างว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ มาให้เลย ซึ่งไม่สมบูรณ์ จึงดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติม ก่อนยื่นเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนคณะรัฐมนตรีจะมีมติ 2 ครั้ง เห็นชอบให้ศึกษาการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี สมาชิก สนช. ราว 14-15 ราย อภิปรายมีความเห็นหลากหลาย แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ
หนึ่ง กลุ่มที่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาเพื่อดูโครงสร้าง วัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ในการบริหาร และควรระบุ ‘ความพร้อม’ ให้ชัดเจนว่า ควรตั้งภายในกี่ปี (ส่วนใหญ่เสนอภายใน 1-3 ปี)
สอง กลุ่มที่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และต้องจัดตั้งทันที เนื่องจากกังวลว่า อาจไม่ทันสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ
สาม กลุ่มที่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ยังไม่อยากให้ใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับนี้ อยากให้ใส่ไว้เป็นเพียงข้อสังเกตเพื่อให้ดำเนินการศึกษาก่อน แล้วค่อยออกเป็นกฏหมายทีหลังได้
สี่ กลุ่มที่ไม่ออกความเห็นว่าควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติหรือไม่ แต่เสนอแนวทางว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติแบ่งได้หลายประเภท ทั้งที่รัฐถือหุ้น 100% และที่รัฐไม่ได้ถือหุ้น 100% และมีการบริหารจัดการแตกต่างกัน
น่าสังเกตว่า สมาชิก สนช. ที่อภิปรายประเด็นดังกล่าว ไม่มีรายใด ‘ไม่เห็นด้วย’ ในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย ทุกคนต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สมควรต้องมี หรือควรศึกษาก่อนถึงจะมี
ท้ายสุด กมธ.พลังงาน ‘ยอมถอย’ ตัดบทบัญญัติมาตรา 10/1 ที่ให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออก และใส่ไว้ในข้อสังเกตแทน ให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการศึกษาภายใน 60 วัน และดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จใน 1 ปี โดยมีคำยืนยันจาก พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ กรรมการผู้ช่วย รมว.พลังงาน (พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์) ระบุว่า รมว.พลังงาน ให้คำมั่นสัญญาว่า จะพิจารณาข้อสังเกตอย่างเต็มที่ และดำเนินการศึกษาอย่างจริงจังแน่นอน
นับเป็นก้าวแรกในการปฏิรูปพลังงานไทยที่เปิดใช้ระบบใหม่ ภายหลังที่ใช้วิธีการสัมปทานมาอย่างยาวนานกว่า 40-50 ปี
ท่ามกลางการประสานเสียงกันของบรรดา ‘ท็อปบู๊ต’ ทั้งใน สนช. กมธ.พลังงาน คณะรัฐมนตรี และ คสช. ว่า ‘ทหาร’ คงไม่ ‘ฝันเฟื่อง’ เข้าไปยุ่มย่ามในเรื่องนี้อย่างแน่นอน และให้คำสัญญาว่า จะไม่ให้ใครเข้าไปหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้
อีก 60 วันต่อจากนี้ จับตาดูว่า ‘ใคร’ จะเข้าไปนั่ง 'เก้าอี้ร้อน' ตัวนี้ในคณะกรรมการศึกษาบ้าง ?
อ่านประกอบ :
ไม่โง่พอทำลายชาติ! ‘สกนธ์’ยันตั้งบรรษัทน้ำมันฯ ครม.ส่งมา-ปัดกรมพลังงานทหารคุม
เอาชีวิตยันทหารไม่ยุ่งพลังงาน! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นขอให้เชื่อมั่นไม่ให้ใครเข้ามาหวังประโยชน์
คำสัญญา‘บิ๊กตู่’ : คสช.จะไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งบรรษัทน้ำมันฯเด็ดขาด!
ล้วงชื่อ กมธ.ร่าง กม.ปิโตรเลียม ‘บรรษัทน้ำมันฯ’โผล่-‘หม่อมกร’นั่งอนุฯด้วย
โยน คปพ.ดันตั้งบรรษัทน้ำมันฯ! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นไม่ฝันเฟื่องยุ่ง-ปัดให้ทหารเข้ามาคุม
คปพ.เข้าชื่อยื่นหนังสือถึงประธานสนช. 30 มี.ค.ค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
เปิดชื่อ กมธ.พลังงาน ดัน กม.ปิโตรเลียมก่อน‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’โผล่-นายพล 26 คน
อดีตนายทหาร6คน อยู่เบื้องหลัง!หม่อมอุ๋ย เปิดแผนฮุบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ
เจาะมติครม.บิ๊กตู่ vs.หม่อมอุ๋ย แกะรอยท่าที รบ.ทหารกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ?