คปพ.เข้าชื่อยื่นหนังสือถึงประธานสนช. 30 มี.ค.ค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยันตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ในการเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่ได้มุ่งให้เป็นผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมผูกขาดครบวงจร หรือแข่งกับภาคเอกชน ชี้เพื่อให้เป็นองค์กรทำหน้าที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน-รับซื้อปิโตรเลียมปากหลุม และไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่ใหญ่ หรือใช้งบฯ มหาศาล
วันที่ 28 มี.ค. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต และนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม.และอดีต สปช.ด้านพลังงาน แถลงข่าว "ทำไมต้องคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมอัปยศปล่นกลางแดด ทิ้งมรดกบาปไว้ให้ลูกหลาน" และ ชี้แจงตอบโต้ "หม่อมอุ๋ย" กรณี บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ
นายปานเทพ กล่าวตอนหนึ่งถึงร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีปัญหาพร้อมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้ทันต่อการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งบงกช รอบที่ 21 ไม่ชัดเจนว่า ให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด และท่อก๊าซธรรมชาติยังอยู่กับปตท.ส่งผลให้ร่างกฎหมายนี้ไม่เป็นไปโดยผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย แสดงความบริสุทธิใจแกนนำปฏิเสธไม่รับตำแหน่งใดๆ ในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ
"การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ในการเรียกร้องของภาคประชาชนนั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมผูกขาดครบวงจร หรือเข้าแข่งขันกับภาคเอกชนแต่อย่างใด แต่เพื่อให้เป็นองค์กรทำหน้าที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน และทำหน้าที่รับซื้อปิโตรเลียมปากหลุมจากเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชนว่า ปิโตรเลียมทั้งหมดขายได้ และขายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ส่วนการทำหน้าที่เปิดประมูลให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นจะจัดการประมูลโดยบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือกรมเชื้อเพลิงฯ ก็ได้ขอเพียงทำให้เกิดความโปร่งใส เสรี เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ดังนั้นบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่ใหญ่ หรือใช้งบประมาณมหาศาล เพียงแต่ เข้าไปรับสิทธิประโยชน์แทนคนไทยเท่านั้น"
นายปานเทพ กล่าวถึงรับประกันของการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จะมีประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ มีเพียงประการเดียวคือต้องบัญญัติให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เกิดขึ้นได้ต้องมีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เครือข่ายฯ ขอคัดค้านโดยเตรียมเข้าชื่อยื่นหนังสือถึงประธานสนช.วันที่ 30 มี.ค.นี้ หากสนช.ไม่ฟังเสียงเรียกร้อง ยืนยันลงมติผ่านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับก็จะเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีต่อไปเพื่อขอให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ด้านนายธีระชัย กล่าวถึงกรณีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ว่า ทำให้ประชาชนสนใจร่างกฎหมายปิโตรเลียมอย่างมาก ซึ่งในยกร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม ที่ในช่วงแรกที่มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้กรมพลังงานทหารดูแลไปก่อนเชื่อว่า แนวคิดให้มีกรมพลังงานทหารช่วยดูแลช่วงเริ่มต้น เป็นข้อกังวลทำอย่างไรให้ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่านั้น
(อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็ม ที่นี่ : ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ)