ล้วงชื่อ กมธ.ร่าง กม.ปิโตรเลียม ‘บรรษัทน้ำมันฯ’โผล่-‘หม่อมกร’นั่งอนุฯด้วย
“…สำหรับมาตรา 10/1 ที่บัญญัติว่า ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นั้น เป็นเรื่องที่ กมธ. เพิ่มขึ้นมาใหม่…”
เป็นประเด็นที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก!
กรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่ามีอดีตนายทหารอย่างน้อย 6 ราย ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’ ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ดังกล่าว ซึ่งผ่านมาวาระ 1 ของ สนช. แล้ว ไม่มีการบัญญัติเรื่องเหล่านี้
แต่กลับมีความพยายามชงเรื่องถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯดังกล่าว ก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติตามที่เสนอ และนำเรื่องกลับเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ในวาระ 2 อีกครั้ง ในวันที่ 30 มี.ค. 2560
อย่างไรก็ดี ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันถึงกรณีนี้ว่า ไม่ใช่ทหารแน่นอนที่ผลักดันเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นภาคประชาชนคือ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต ที่กดดันให้ สนช. ต้องใส่บรรษัทน้ำมันฯเข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ด้วย
(อ่านประกอบ : โยน คปพ.ดันตั้งบรรษัทน้ำมันฯ! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นไม่ฝันเฟื่องยุ่ง-ปัดให้ทหารเข้ามาคุม, คปพ.เข้าชื่อยื่นหนังสือถึงประธานสนช. 30 มี.ค.ค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม, เปิดชื่อ กมธ.พลังงาน ดัน กม.ปิโตรเลียมก่อน‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’โผล่-นายพล 26 คน, อดีตนายทหาร6คน อยู่เบื้องหลัง!หม่อมอุ๋ย เปิดแผนฮุบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบรายชื่อ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ดังกล่าวในชั้น สนช. พบรายชื่อทั้ง กมธ. และที่ปรึกษา รวมถึงผู้เข้าชี้แจง ดังนี้
กมธ.วิสามัญฯ มีทั้งหมด 22 ราย มีมติเลือกให้สมาชิกดำรงตำแหน่งดังนี้
1.พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ. (เป็นประธาน กมธ.พลังงาน สนช. อีกตำแหน่ง)
2.พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธาน กมธ. คนที่ 1 (เป็นรองประธาน กมธ.พลังงาน คนที่ 5 อีกตำแหน่ง)
3.นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน รองประธาน กมธ. คนที่ 2 (เป็นโฆษก กมธ.พลังงาน อีกตำแหน่ง)
4.พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ รองประธาน กมธ. คนที่ 3
5.พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ เป็นเลขานุการ กมธ.
6.นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ เป็นรองเลขานุการ กมธ.
7.พล.ท.อำพน ชูประทุม เป็น กมธ. และที่ปรึกษา (เป็นรองประธาน กมธ.พลังงาน คนที่ 3 อีกตำแหน่ง)
8.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นโฆษก กมธ. (เป็นรองประธาน กมธ.พลังงาน คนที่ 2 อีกตำแหน่ง)
9.พล.ท.สมโภชน์ วังแก้ว เป็นรองโฆษก กมธ.
นอกจากนี้เป็น กมธ. ได้แก่ 10.พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ 11.พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร 12.คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี 13.พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ 14.พล.ร.อ.นพดล โชคระดา 15.นายประภาศ คงเอียด 16.น.ส.วราลัย อ่อนนุ่ม 17.นายวิทยา ฉายสุวรรณ 18.นายวิทวัส บุญญสถิต 19.พล.อ.ศุภกร สงวนชาติไกร 20.นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช 21.พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์
มีที่ปรึกษา กมธ. จำนวน 4 ราย ได้แก่
1.นายพนิต ธีรภาพวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) กระทรวงการคลัง 2.นายชาคริต สิทธิเวช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 3.ผศ.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
โดย กมธ.วิสามัญ แต่งตั้งคณะอนุ กมธ. จำนวน 2 คณะ แบ่งเป็น
อนุ กมธ.กลั่นกรองร่างฯ จำนวน 10 ราย ได้แก่
1.พล.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ ประธานอนุฯ 2.พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ รองประธานอนุฯ คนที่ 1 3.นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองประธานอนุฯ คนที่ 2 4.นายคุณานันท์ ทยายุทธ เลขานุการ และอนุฯ 5.นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองเลขานุการ และอนุฯ 6.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี 7.นายพนิต ธีรภาพวงศ์ 8.น.ส.วราลัย อ่อนนุ่ม 9.นายวิโรจน์ คลังบุญทอง 10.นายสมชัย แสงรัตนมณีเดช
อนุ กมธ. ปรับปรุงร่างฯ จำนวน 10 ราย ได้แก่
1.พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ 2.น.ส.ปฐมพร กุลพลัง 3.พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ 4.พล.ท.อำพน ชูประทุม 5.พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ 6.น.ส.วราลัย อ่อนนุ่ม 7.นายพนิต ธีรภาพวงศ์ 8.นายคุณานันท์ ทยายุทธ 9.นายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล 10.นายวสวัสดิ์ ชูเชิด
คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มาชี้แจงมี 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสรรพากร และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
ส่วนกลุ่มที่ กมธ.วิสามัญ เชิญมาชี้แจงมีหลายกลุ่ม ได้แก่ อาจารย์จาก ม.ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่ม คปพ. (ม.ล.กรกสิวัฒน์ นายธีระชัย นายปานเทพ และ น.ส.รสนา มาทั้งหมด) เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศไทย (พ.ท.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี นายนศรัลย์ ธนากรภักดี) กลุ่มคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม (นายมนูญ อร่ามรัตน์) ภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ (พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ)
โดยในส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ส่วนใหญ่เน้นแก้ไขในเรื่องการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมต้องได้รับสัมปทาน กำหนดให้ที่ใดสมควรดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมเป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างสำรวจและผลิต แก้ไขประโยชน์หรือสิทธิของผู้รับสัมปทาน กรณีค่าทดแทนสำหรับการใช้ประโยชน์จากการใช้น้ำในหลุมขุดเจาะ และแก้ไขเพิ่มบทบัญญํติเกี่ยวกับการยกเว้นค่าภาคหลวง และการกำหนดสกุลเงินที่ใช้ในการชำระค่าภาคหลวง
สำหรับมาตรา 10/1 ที่บัญญัติว่า ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นั้น เป็นเรื่องที่ กมธ. เพิ่มขึ้นมาใหม่ (ดูภาพประกอบ)
นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นของบรรดา กมธ. และอนุ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯฉบับดังกล่าว ท่ามกลางข้อโต้แย้งของหลายฝ่าย ดังนั้นต้องรอดูว่าในวันที่ 30 มี.ค. 2560 นี้ ที่ประชุม สนช. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ?
อ่านเอกสารร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับเต็ม : http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext68/68373_0001.PDF
อ่านประกอบ :
ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ
เจาะมติครม.บิ๊กตู่ vs.หม่อมอุ๋ย แกะรอยท่าที รบ.ทหารกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ?