สังคมไทยขาดวัฒนธรรมรับผิดชอบ อย่าหวังแก้สมการคอร์รัปชั่นได้
“… ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในสังคมไทยอย่างยิ่ง ถ้ามีสิ่งนี้ เราจะเราจะเคารพข้อเท็จจริง กฎระเบียบข้อตกลง กฎหมาย ใช้ดุลพินิจอย่างเป็นเหตุผล รับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เปิดโอกาสให้กฎหมายทำงาน...”
ในสมการคอรัปชั่นของ โรเบิร์ต คริตการ์ด (Robert Klitgaard) ที่ระบุว่า C=D+M-A มาใช้ในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น โดย C คือCorruption (คอรัปชั่น) D คือ Discretion(ดุลยพินิจ) M คือ Monopoly (การผูกขาด) และ A คือAccountability (กลไกความรับผิดชอบ เช่น ความโปร่งใส) ซึ่งหากความรับผิดชอบมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่คอร์รัปชั่นจะลดลงก็มีมากขึ้นเท่านั้น
จากประเด็นนี่เองที่ทาง "อธิคม คุณาวุฒิ" บรรณาธิการบริหารนิตยสาร WAY ได้กล่าวถึงในงานเปิดตัวหนังสือ “สมการคอร์รัปชันแก้โจทย์บวกลบคูณหายในสังคมไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขามองความขาดแคลนวัฒนธรรมการขอโทษของสังคมไทย อันเกี่ยวข้องกับตัวแปรของสมการที่สำคัญ เพราะว่าการจะขอโทษได้ต้องมีความรับผิดชอบก่อน
พร้อมกับยกกรณีตัวอย่างในหนังสือเรื่อง 'Sophie Scholl (โซฟี โชล)' เป็นชื่อของนักศึกษาสาวในมหาวิทยาลัยมิวนิค เยอรมัน ซึ่งตัวเขาเองอยู่ในขบวนการกุหลาบขาว กิจกรรมหลักคือต่อต้านนาซี เธอถูกจับในปี 1943 ด้วยข้อหาโปรยใบปลิว ต่อต้านนาซี ทันทีที่ถูกจับ ก็ถูกนำขึ้นศาลทหาร และมีคำพิพากษาประหารชีวิตด้วยเครื่องกีโยติน
ขณะที่หนังสือ 'Bury My Heart at Wounded Knee ฝั่งหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี' อธิคม อธิบายว่า หนังสือเล่มนี้เล่าประวัติศาสตร์การพิชิตตะวันตกในช่วงปี1860-90 หรือประมาณ 30 ปี ที่คนอเมริกันพิชิตตะวันตก
โดยที่เรื่องเล่าก่อนหน้านั้น มักได้ยินว่า บรรพบุรุษอพยพจากยุโรปเข้ามาดินแดนใหม่ ถูกชนพื้นที่เมืองปล้นชิง ขโมย ก่ออาชญกรรม แต่หนังสือเล่นนี้เล่าในทางตรงกันข้าม โดย 'ดี บราวน์' ผู้เขียน กลับไปค้นบันทึกเก่า ความตกลงเก่า มาตีแพร่ ซึ่งในปี1970 ที่มีการตีพิมพ์ กลายเป็นการรื้อฟื้นความอื้อฉาวของอเมริกา
อธิคม ชี้ว่า หากสังเกตเงื่อนเวลาทางประวัติศาสตร์ของทั้งเรื่องของ Sophie หรือ เรื่องการยึดครองดินแดนอเมริกา การไล่ฆ่าคนอินเดียนแดง ระยะเวลาห่างกัน จากประวัติศาสตร์การพิชิตตะวันตกจนมาถึงการตีพิมพ์ ห่างกันถึง 100 ปี
ขณะที่โซฟี โช ถูกตัดสินประหารในปี 1943 แต่หลังจากฮิตเลอร์หมดอำนาจในปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าฮิตเลอร์หมดอำนาจ แต่ในสังคมเยอรมันยังมีความอึมครึม ยังไม่กล้าพูดถึงความผิดพลาดของตัวเอง ไม่กล้าพูดเรื่องฆ่านักศึกษา หรือฆ่าชาวยิว เพิ่งมีการขอโทษอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 1970 โดยนายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตก เดินทางไปขอโทษที่กรุงวอร์ซอล โปแลนด์
เช่นเดียวกันในกรณีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวอินเดียน เพิ่งจะมีความพยายามในการจัดการจริงจังในปี2004 วุฒิสมาชิกรัฐแคนซัสพยายามเสนอญัตติ จะให้รัฐออกข้อบัญญัติคำขอโทษโดยรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ตลอดเวลาที่มีความพยายามถูกเหนี่ยวรั้งมาโดยตลอด สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช เพิ่งมาบรรลุในปี 2009 สมัยโอบาม่า หลังจากการเข่นฆ่าผ่านไปร้อยปี ซึ่งแม้ว่าจะเรื่องของการเมืองอยู่บ้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมการขอโทษ เรียนรู้จดจำของผิดพลาดของตัวเองจึงสำคัญ
นอกจากนี้ อธิคม ยังได้ยกตัวอย่างหนังสารคดีชื่อดังของ ไมเคิล มัวร์ อย่าง Where to Invade Next ตอนหนึ่งไมเคิล มัวร์ได้พูดถึง การเผชิญหน้าและสบตากับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เรียนรู้ข้อผิดพลาดของบรรพบุรุษ เพื่อที่จะไม่ทำพลาดซ้ำรอย ของโรงเรียนในเยอรมัน ซึ่งมีการสอนนักเรียนให้เรียนรู้จดจำว่า คนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ได้เคยทำอะไรเอาไว้บ้าง เรียนรู้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยทำผิดหลักสูตรเหล่านี้บรรจุในการเรียนการสอนโดยไม่มีการบิดเบือน ปิดบัง
“เราจึงเห็นว่า ทำไมชาวเยอรมันถึงมีบุคลิคพิเศษ มีความอดทน มุ่งมั่น กล้าเผชิญหน้าความจริง เพราะถูกปลูกฝังแบบนี้ว่าให้เผชิญหน้าความจริงไม่ว่าอดีตจะหม่นหมอง ดำมืดก็ตาม”
“กลับมาสังคมไทย ในสังคมไทยเราเคยมีสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมการขอโทษอย่างจริงจังหรือไม่” อธิคมตั้งคำถาม และบอกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามหาคำตอบในข้อนี้จากนักวิชาการมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคืออ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งประเด็นว่าการที่เราจะขอโทษอะไรขึ้นมาได้ เราต้องรู้สึกก่อนว่าเรามีความรับผิดชอบ ต้องรู้สึกว่าเราทำพลาด ทำผิด เราจึงขอโทษ
เช่นเดียวกัน อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร มองว่า ในสังคมที่วัฒนธรรมทางอำนาจจากบนลงล่าง ผู้ที่มีอำนาจมากไม่เคยเอ่ยคำขอโทษผู้น้อยกว่า
อธิคม บอกว่า เท่าที่เขาจำความได้ ประเทศไทยไม่เคยมีผู้นำคนใดเอ่ยคำขอโทษในความผิดพลาดของตัวเองเลย ดังนั้นสมการที่บอกว่า คอร์รัปชั่นเท่ากับการผู้ขาดบวกกับดุลพินิจ แต่หากไม่มีตัวกลไกรับผิดชอบเป็นตัวลบโจทย์สมการนี้ก็แก้ไม่ได้
ฉะนั้น ข้อสรุปอย่างหนึ่งของกระบวนการรับผิดรับชอบ 'การขอโทษ' นั้น เขาเห็นว่า อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ร้อยปี อย่างตัวอย่างที่ยกไปในเยอรมัน อเมริกา ซึ่งพอจะพูดคำปลอบใจได้บ้างว่า เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาอย่างยิ่ง
ที่สำคัญคือ คำขอโทษ ไม่ใช่พิธีกรรมที่ฉาบฉวยแล้วบีบบังคับ ไม่ใช่แบบที่ตำรวจเอาตัวผู้ต้องหา เอาธูปเทียนไปขอขมาเหยื่อ หลังจากเพิ่งก่ออาชญกรรมไปไม่กี่ชั่วโมง เพราะการขอโทษที่แท้จริงต้องรู้สึกผิดก่อน
นอกเหนือสมการคอร์รัปชั่น อธิคม เห็นว่า ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในสังคมไทยอย่างยิ่ง ถ้ามีสิ่งนี้ เราจะเคารพข้อเท็จจริง ความรู้ เคารพกฎระเบียบข้อตกลง กฎหมาย ใช้ดุลพินิจอย่างเป็นเหตุผล รับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เปิดโอกาสให้กฎหมายทำงาน ภายใต้หลักนิติธรรม(Rule of Laws)
ส่วนคำถามว่า เมื่อไหร่สังคมไทยจะเกิดเรื่องนี้ ไม่สามารถตอบไม่ได้
" หากต้องตอบก็พอตอบได้แค่ว่า เรื่องแบบนี้ต้องคอยฝึก ค่อยๆ เรียนรู้ เพราะในช่วงที่เข้ามากรุงเทพใหม่ๆ ตอนขึ้นรถเมล์ เห็นผู้โดยสารนั่งแกะเปลือกส้ม แกะเงาะ ทิ้งออกนอกหน้าต่างเป็นเรื่องปกติ ผ่านไปสามสิบปี ถ้าขืนใครทำอย่างนั้นสังคมไม่อนุญาตอีกต่อไป วันนี้ไม่มีใครทำแล้ว ดังนั้นคำตอบคือ ต้องค่อยฝึก ค่อยๆ เรียนรู้
สาเหตุที่เราต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง จนต้องมีเวทีที่พยายามปรองดอง เพราะแต่ละฝ่ายไม่มีวัฒนธรรมการรับผิดชอบ หากมีเครื่องมือนี้เราจะหาทางออกได้ง่ายขึ้น”
สุดท้าย อธิคม เชื่อว่าความรับผิดชอบเป็นข้อตกลงพื้นฐานที่เราจะเอาไว้พูดภาษาเดียวกันกับชาวโลก แม้ว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นในชั่วอายุขัยนี้ แต่หวังว่าและเชื่อว่าคนรุ่นต่อไปต้องมีสิ่งนี้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน
“เราจึงต้องมีความหวังเช่นนี้”
อ่านประกอบ
ดร.สมเกียรติชี้ไทยต้องสร้างระบบการเมืองแบบเปิด เชื่อช่วยลดคอรัปชั่นได้
ภาพประกอบ
ปกหนังสือ Sophie Scholl และBury My Heart at Wounded Knee จากhttp://waymagazine.org/
โปสเตอร์หนัง Where to Invade next www.goldposter.com
ภาพการ์ตูน จากhttp://globalasiablog.com/