ดร.สมเกียรติชี้ไทยต้องสร้างระบบการเมืองแบบเปิด เชื่อช่วยลดคอรัปชั่นได้
ดร.สมเกียรติ ชี้ระบบการเมืองแบบเปิด ช่วยลดคอร์รัปชั่นได้ หากประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูล การจัดซื้อ นโยบายของรัฐได้อย่างอิสระ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ C ASEAN อาคารไซเบอร์เวิลด์ สำนักกองทุนสนับสนุนวิจัย(สกว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดตัวหนังสือ “สมการคอร์รัปชันแก้โจทย์บวกลบคูณหายในสังคมไทย”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เรามักคุยตลอดเวลาว่า ปัญหาคอร์รัปชันคือปัญหาเรื่องคน หรือปัญหาเรื่องระบบ สุดท้ายเป็นเพราะว่ามีคนดีแล้วปัญหาจบหรือไม่ ปัญหาการมีคอรัปชั่นเป็นเพราะเราไม่มีคนดีมาปกครองประเทศใช่หรือไม่ หรือมีระบบที่ไม่ดีพอ ถ้าทำระบบดีแล้วคอรัปชั่นจะหายไป เรื่องนี้ซับซ้อนพอสมควร เพราะไม่ได้สุดขั้วแบบที่ข้างใดข้างหนึ่งเหมือนที่เราคิด
"จากคำถามคลาสสิคดังกล่าวจึงสามารถแบ่งออกเป็นตัวอย่างสี่ประเภทคือ 1. ระบบดีและคนดี ซึ่งมักอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว 2. ระบบไม่ดี คนไม่ดี คือประเทศที่มีคอรัปชั่นเยอะ ซึ่งส่วนมากคือประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่ 3. ผู้นำดี แต่ระบบปิด อย่างสิงคโปร์ กับจีน มุ่งมั่นปราบคอรัปชั่น แต่เป็นระบบปิด จีนอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ หรือสิงคโปร์เลือกตั้งกี่ที่ได้พรรคเดียว 4. ประเทศผู้นำไม่ดี แต่อยู่ในระบบเปิด เช่น บอตสวานา เป็นต้น"
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ประธานธิบดีจีน จี สิ้น ผิง ขึ้นมารับตำแหน่ง ได้กล่าวถึงการปราบปรามคอร์รัปชันว่า จะปราบคอร์รัปชันต้องตีทั้งเสือและแมลงวัน หมายถึงต้องจัดการทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก โดยช่วงคนระดับใหญ่ที่ถูกปราบมีราว 146 ราย ขณะที่รายเล็กๆ มีกว่า แสนราย แต่พอมีเอกสาร ปานามา เปเปอร์ ออกมาก็มีข่าวว่าญาติ สีจิ้นผิง มีส่วนในเหตุการณ์นี้ด้วย จึงเกิดคำถามว่าแท้จริงผู้นำเป็นคนสะอาดหรือเปล่า
หรือในสิงคโปร์ ติดหนึ่งในสิบประเทศที่มีความโปร่งใสที่สุดในโลก แต่สิงคโปร์ไม่ได้เริ่มการมีความสะอาดมาแต่ต้น ผู้นำสูงสุดสิงคโปร์ตอนนั้น ลี กวน ยู กล่าวว่าสิงคโปร์จะอยู่รอดได้ ต้องสร้างธรรมภิบาล หาเสียงด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ชูจุดขายว่าพรรคของตนมีความโปร่งใส จุดขายของประเทศคือลงทุนได้โดยไม่ต้องจ่ายสินบนเหมือนประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง ลี กวน ยู ไม่ใช่แค่ไม่ปล่อยให้หางกระดิก แต่ยังออกฎหมายให้นักการเมืองอธิบายทรัพย์สินของตัวเอง ตั้งหน่วยงานคล้าย ป.ป.ช. มาจัดการคอร์รัปชัน เคยสังกัดนายกรัฐมนตรีก่อนไปสังกัดประธานธิบดี เพื่อรักษาระยะห่างกับนายกรัฐมนตรี ให้เจ้าหน้าที่ มีออำนาจในการจับคนผิดได้โดยไม่ต้องพึ่งตำรวจ
นอกจากนี้ยังให้เงินข้าราชการที่สูงกว่าสองในสามของเอกชน ที่นี่ข้าราชการก็กลัวตกงาน กลัวมีปัญหาก็ไม่กล้าทำผิด ขณะที่รัฐมนตรีสิงคโปร์มีเงินเดือนสูงประธานธิบดีของสหรัฐฯ ทั้งยังออกนโยบายเลิกภาษีนำเข้าทุกอย่างให้เหลือศูนย์จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องใต้โต๊ะ ลดการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั้งหมดนี้คือการเอาสมการ หัวไม่ให้ส่ายหางไม่ให้กระดิกมาใช้ "
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ บอตสวานานั้น ผู้นำในช่วงก่อตั้งเป็นผู้นำที่ดี นายเซเรเส คามา (1966-1980) พอได้ตำแหน่ง เปิดให้บอตสวานา สร้างสังคมแบบเปิด สร้างตัวอย่างการเป็นผู้นำ นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด สร้างระบบการเมืองที่โปร่งใส จำกัดอำนาจของผู้นำ ตัดสินใจแต่ละครั้งต้องปรึกษาหารือ และเฉือดแม้กระทั่งคนใกล้ตัว ระบบที่ใสสะอาดจึงเกิดขึ้น ปรากฏว่า เป็นประเทศในแอฟริกาประเทศเดียวที่ใสสะอาด คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด อยู่อันดับที่ 30กว่าของโลกขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ ร้อยกว่า แต่ตอนนี้ บอตสวานา กลับต้องตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่อผู้นำคนปัจจุบันไม่ค่อยสู้ดี แบบนี้ระบบที่ดีจะอยู่รอดต่อไปหรือไม่ ดังนั้นผู้นำที่ดี ไม่ใช่ตัวเองไม่คอร์รัปชัน แต่ต้องสร้างระบบที่ดีขึ้นมา สร้างระบบที่เปิดมากขึ้น
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ประเทศที่เปิดกว้างด้านข้อมูลเยอะจะมีอัตราความโปร่งใสและคอร์รัปชันจะน้อย นอกจากถอดสมการคอร์รัปชั่น จะพบว่า คนกับระบบต้องไปด้วยกัน ถ้าผู้นำประกาศปราบคอร์รัปชั่น แล้วสร้างระบบที่ดีขึ้นมา ต้องเปิดโอกาสให้มีการสู้จากล่างขึ้นบน เพราะที่ผ่านมาเรามักจัดการจากด้านบนลงล่าง ต้องสร้างระบบที่เปิดกว้าง แบบนี้ถึงจะทำได้ เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญของไทยเพื่อหวังจัดการนักการเมือง เรามักสู้แบบไทยไทย แต่สิ่งที่ควรจะทำแทนที่จะใช้สูตรไทย คือใช้สูตรที่ผ่านการคิดมาแล้วในต่างประเทศ เช่นโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ ความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ มีข้อมูลแบบเปิด ซึ่งน่าเสียดายที่ไทยไม่มีนโยบายเปิดข้อมูลแบบกว้าง
“ประชาธิปไตยจะสู้คอร์รัปชั่นได้อย่างไรหากมองเเบบแคบคือเลือกตั้งที่เป็นธรรมเท่านั้น ประชาธิปไตยจะเป็นเครื่องมือที่จำกัดในการสู้กับคอร์รัปชั่น หากมองแบบความหมายที่กว้างไปถึง กลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ เรื่องการมีเสรีภาพของศาล การใช้กฎหมาย การเปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อยแสดงความคิดเห็นได้ เปิดพื้นที่สื่อ ประชาสังคม เพิ่มบทบาทราชการในการรักษาวินัยการเงินการคลัง ประชาชนมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางตรง กระจายอำนาจ รัฐสภามีความเข้มแข็ง ลดบทบาทองค์กรอิสระให้เหลือเฉพาะแค่การกระทำผิดทางกฎหมายอย่างเดียว หากเป็นเรื่องการเมืองไม่ควรใช้องค์กรอิสระในการปราบคอร์รัปชั่น ไม่งั้นจะโดนมองว่ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และสุดท้ายโอกาสที่จะชักชวนประชาชนคนไทยมามีส่วนร่วมในการเมืองแบบเปิดจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดปัจจัยที่กล่าวมา” ดร.สมเกียรติ กล่าว.