เปิดเกณฑ์ "พื้นที่ปลอดภัย" เกิดเหตุรุนแรงเกิน 3 ครั้งต้องยกเลิก!
เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำทีมพบสื่อมวลชน แจงขั้นตอนการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ร่วมกับ "ปาร์ตี้บี" หรือ "มารา ปาตานี" หลังถูกวิจารณ์หนักกรณีเกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องช่วงที่มีความคืบหน้าการพูดคุยฯ
วันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค.60 พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยฯ พร้อมด้วยกรรมการคณะพูดคุย 4 คน จัดวงตอบข้อซักถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กับ "มารา ปาตานี" ซึ่งเดินหน้ามาถึงขั้นตอนการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ safety zone ร่วมกัน แต่กระบวนการนี้ถูกตั้งคำถาม เพราะมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ตามมา เช่น ห้วงเวลาเดียวกับการพูดคุยเที่ยวล่าสุด เมื่อ 28 ก.พ.60 มีการก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์กราดยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้เด็กชายวัยเพียง 8 ขวบต้องสังเวยชีวิต
ประเด็นที่มีกระแสวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ และสื่อมวลชนนำมาถามย้ำในวงประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานเลขานุการกองทัพบก กรุงเทพฯ คือ กลุ่มมารา ปาตานี เป็นตัวจริงที่ควบคุมกองกำลังในพื้นที่ได้หรือไม่ และโมเดลของ "พื้นที่ปลอดภัย" จะเป็นอย่างไร
คำถามแรก พล.ต.สิทธิ ตอบชัดเจนว่า "ปาร์ตี้บี" บนโต๊ะพูดคุยเป็นตัวจริง ขณะที่มีการให้ข้อมูลเสริมจากผู้แทนคณะพูดคุยฯว่า แกนนำบีอาร์เอ็น 2 คนใน "มารา ปาตานี" คือ อาวัง ยาบะ และ มะสุกรี ฮารี มาร่วมโต๊ะพูดคุยฯโดยขบวนการบีอาร์เอ็นรับรู้
ส่วนประเด็นพื้นที่ปลอดภัย พล.ต.สิทธิ อธิบายว่า ผลการหารือกับ "ปาร์ตี้บี" ได้เสนอพื้นที่ปลอดภัย 5 อำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่เปิดเผยชื่ออำเภอ หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ และภาคประชาชน เพื่อพิจารณาเลือกพื้นที่ ใช้เวลา 1 เดือน จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ใช้เวลา 3 เดือน และเตรียมการตั้ง "พื้นที่ปลอดภัย" ใช้เวลาอีก 3 เดือน คาดว่าภายใน 6 เดือนจะได้ "เซฟตี้โซน" ตามที่มีการเสนอร่วมกัน
"เราต้องการให้มีพื้นที่ปลอดภัยซึ่งประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งประกอบอาชีพ ทำมาหากิน หรือพาลูกไปส่งโรงเรียน โดยจะมีการพัฒนาและสร้างกลไกยุติธรรมในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน" พล.ต.สิทธิ กล่าว
ทั้งนี้ กรรมการคณะพูดคุยฯ ที่ร่วมวงหารือกับสื่อมวลชน พยายามเน้นย้ำว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการพูดคุยฯ ไม่ได้เป็นผลมาจากการพูดคุยฯ และยกตัวอย่างบางเหตุการณ์ เช่น บุกเผา อบต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเหตุการณ์กราดยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ อ.รือเสาะ ว่ามีเบื้องหลังเกี่ยวโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองในท้องถิ่น
คำชี้แจงดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย การพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" เพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ ใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ พล.ต.สิทธิ ยอมรับว่า มีโอกาสที่เหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งทั้งรัฐบาลและ "ปาร์ตี้บี" ก็ยอมรับตรงกัน แต่เมื่อกำหนดเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" แล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมกันพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากใคร กลุ่มไหน หรือเรื่องอะไร จากนั้นก็แก้ปัญหาไปตามสาเหตุที่เกิด
ตัวแทนคณะพูดคุยฯ ยังระบุอีกว่า ระยะหลังเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุความมั่นคงลดลง ช่วงเวลา 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 คือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ถึงสิ้นเดือน ก.พ.60 มีเหตุความมั่นคง 74 เหตุการณ์ ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 43 ขณะที่เหตุความมั่นคงเทียบกับเหตุอาชญากรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ระบุว่าเหตุความมั่นคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ของอาชญากรรมทั้งหมดเท่านั้น
จากคำชี้แจงประเด็นนี้ ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า จำเป็นต้องให้น้ำหนักในการพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" ต่อไปหรือไม่ ในเมื่อเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุความมั่นคงลดลง แต่ผู้แทนคณะพูดคุยฯ ไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรงๆ โดยระบุเพียงว่าการพูดคุยฯมีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติสุข และลดความตั้งใจ (intention) ในการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
ขณะที่ พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะร่วมกันสร้างพื้นที่ที่มีความปลอดภัยจริงๆ ดังนั้นจีงมีการตั้งเงื่อนไขร่วมกันว่า หากเกิดเหตุรุนแรงเกิน 3 ครั้งแล้วไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด ก็ต้องยกเลิกพื้นที่ปลอดภัยนั้น
เมื่อซักว่า เหตุรุนแรง 3 ครั้ง นับเฉพาะเหตุความมั่นคง หรือรวมเรื่องภัยแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย พล.ต.สิทธิ ตอบว่า เป็นที่น่ายินดีที่ "ปาร์ตี้บี" บอกว่าให้ครอบคลุมเหตุรุนแรงทุกประเภท เพราะไม่ทราบนิยามแน่ชัดว่าเหตุความมั่นคงหมายถึงอะไร แต่เหตุรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากเรื่องใด ก็ก่อความสูญเสียให้กับประชาชนทั้งสิ้น ฉะนั้้นการลดเหตุรุนแรงเพื่อสร้างพื้นที่ให้ปลอดภัย ก็ต้องลดเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศระหว่างการตั้งวงตอบข้อซักถามสื่อมวลชน นำโดย พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ (เครื่องแบบทหาร)
อ่านประกอบ :
1 พูดคุยดับไฟใต้เดินหน้าพื้นที่ปลอดภัย เลือก 1 จาก 5 อำเภอ สามเดือนสรุป
2 "พื้นที่ปลอดภัย"ชายแดนใต้...เข้าใกล้สันติสุขจริงหรือ?
4 พล.อ.อักษรา: ถ้าคิดว่าการพูดคุยฯเป็นต้นเหตุรุนแรงก็ยุติไปเลย!
6 ไฟใต้ไม่ได้เปลี่ยนรูป...แต่ยิ่งชัดขึ้น และ"พื้นที่ปลอดภัย"ยิ่งยาก