ฟังเสียงคนสตูล เหตุใดเวทีรับฟังความเห็น ค.1 ท่าเรือปากบารา ไม่ควรเกิด
เหตุใดเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่ควรเกิด มาลองฟังเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่ กับข้อสังเกตตัวโตถึงการทำงานของบริษัทตัวแทนรัฐ รวมถึงแนวทางการพัฒนาที่สะท้อนความล้มเหลวตลอด 5 ทศววรษที่ผ่านมา
นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2560เป็นเวลาเกือบสัปดาห์เเล้วที่ภาคประชาชน นำโดย สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา และเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และองค์ภาคี ร่วมถึงประชาชนผู้สนใจ จัดกิจกรรม “เดินด้วยรักจากภูผา ถึง ทะเล” เป็นการเดินเท้าเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ด้วยระยะทาง101 กิโลเมตรจาก เขาคูหา จ.สงขลา ถึง ปากบารา จ.สตูล ตามเส้นทางที่จะมีการก่อสร้างโครงการสะพานเศรษฐกิจหรือ แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล อันประกอบไปด้วยหลายโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง โดยฝั่งอ่าวไทยคือท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ในอ.จะนะ จ.สงขลาฝั่งอันดามัน คือท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล โดยมีรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือทั้งสอง มีคลังน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ นิคมอุตสาหกรรมทั้งสองฝั่ง โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านเขตป่าอนุรักษ์ผาดำ จ.สงขลา ถึง จ.สตูล รวมไปถึงการให้สัมปทานแร่หินอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีความต้องการใช้ทรัพยากร หิน ทราย ดิน และน้ำ ในการดำเนินการก่อสร้างและสนับสนุนระบบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนคณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า การเร่งดำเนินการขอประกาศแหล่งหินและขอสัมปทานเหมืองหินใหม่ อย่างน้อย 3 แหล่งในพื้นที่จังหวัดสตูลที่ เขาโต๊ะกรัง เขาบังใบ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ เพื่อใช้ในโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกนี้ มีความต้องการใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขาจำนวนมากถึง 8 ลูก มีการใช้ทราย จากแหล่งทรายใน ต.บ่อเจ็ดลูก และบ้านหัวหิน ต.ละงู จ.สตูล รวมถึง บ่อดินลูกรังย่อยอีกหลายจุดที่จะนำไปใช้ในโครงการฯนี้ อ่างเก็บน้ำอีกหลายพื้นที่ จะเกิดขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
“แนวทางการพัฒนาของรัฐรูปแบบนี้ ที่เน้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) และการพัฒนาที่เน้นความเจริญด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในช่วง 5 ทศวรรษ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลปรากฏชัดเจนว่า ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ภาคการเกษตร และเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นอย่างมาก”
ในขณะที่ยังมีคำถามสำคัญต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า แท้จริงแล้วจะสร้างผลประโยชน์อันใดให้กับใคร แค่ไหน อย่างไร? ซึ่งคำถามเหล่านี้ ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน โดยเฉพาะความเสียหายในมิติทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวของคนสตูล
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ทั้งยังเคยเดินทางยื่นข้อเสนอต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อขอให้มีการยุติเวทีรับความคิดเห็น(ค.1) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคมนี้
โดยข้อสังเกตที่ภาคประชาชนต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล อันดามัน-อ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล" นั่นหมายความว่าภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมสองฝั่งทะเลที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้วาดหวังเอาไว้นั้นจะต้องมีโครงการปลีกย่อยที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ ท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล, เส้นทางรถไฟเชื่อมท่าเรือฯทั้งสองท่า, ระบบสาธารณูปโภค ทั้งแหล่งน้ำ และพลังงาน และหนีไม่พ้นที่ต้องมีเขตนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต
ในส่วนของโครงการรถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารา สตูล และท่าเรือสงขลา2 ที่บ้านสวนกง ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปเกือบ 100 ล้านบาท และได้ทำการศึกษามานานหลายปี จนล่าสุดรายงานการศึกษาดังกล่าวเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 แต่ถูกตีเรื่องกลับให้เจ้าของโครงการไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ใหม่ และให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการดังกล่าว
ต่อจากเรื่องนี้ ทางเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้เคยเสนอกับรัฐบาลแล้วว่าหากเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง ซึ่งเท่ากับว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างน้อย 3 โครงการแน่นอน คือ 1. ท่าเรือน้ำลึกปากบารา 2.ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 3.โครงการรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือทั้งสองฝั่ง ก็จะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่แยกทำเช่นนี้ เพราะจะไม่ทำให้เห็นการพัฒนาและการประเมินผลกระทบในภาพรวมอย่างแท้จริง
ในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อให้มีการทบทวนภาพรวมการพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ภาคใต้ โดยให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นเหตุมาจากข้อถกเถียงว่า เส้นทางแลนด์บริดจ์ที่จะเชื่อมการคมนาคมระหว่างสองฝั่งทะเล ควรมีจุดเหมาะสมส่วนไหนของภาคใต้ และได้มีความพยายามเสนอให้รัฐบาลเลือกพิจารณา 3 พื้นที่คือใต้ตอนบน ใต้ตอนกลางและใต้ตอนล่าง พร้อมกันนี้ในงานศึกษาก็พยายามค้นหาทางออกการพัฒนาโดยภาพรวมในมิติอื่นๆ ด้วย
ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายฯ เผยว่า การศึกษาเเล้วเสร็จ และยังอยู่ในขั้นตอนการทำเอกสารเพื่อเสนอให้กับรัฐบาลพิจารณา จึงเห็นว่าในเวลานี้ยังไม่มีบทสรุปที่เป็นทางการว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือสวนกง สงขลา
เครือข่ายฯ มองว่า การที่รัฐบาลได้อนุมัติงบ115 ล้านบาท มอบหมายให้ บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำหน้าที่ทบทวน EIA ของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และให้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เพิ่ม โดยกำหนดระยะเวลาให้เเล้วเสร็จภายใน 20เดือน ถึงขณะนี้ล่วงเลยไปแล้ว 12 เดือน
มีข้อสังเกตหลายประการต่อการทำหน้าที่ในเชิงวิชาการ พบว่า บริษัทที่ปรึกษาไม่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งแทนที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงต่อเรื่องนี้ แต่กลับส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง แบ่งฝ่าย และมีทัศนคติที่เลวร้ายต่อผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง ทั้งยังพบว่ามีพฤติกรรมเลือกทำงาน หรือสื่อสารข้อมูลข่าวสารเฉพาะกลุ่มที่เห็นด้วยกับโครงการเท่านั้น หรือแม้กระทั่งใช้สื่อสาธารณะเพื่อการสื่อสารเฉพาะด้าน และไม่สนใจที่จะความจริงปรากฏทั้งหมดอย่างรอบด้านทั้งด้านบวกและด้านลบ แม้แต่ข้อเท็จจริงในบางเรื่องได้เป็นที่ยอมรับในส่วนของราชการที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แสดงถึงเจตนาในการบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง
เครือข่ายฯ มองว่าที่สุดแล้วจะเป็นการสูญเสียงบประมาณไปโดยไม่ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ และไม่เป็นไปตามความต้องการแท้จริงของคนสตูล ตลอดถึงไม่นำไปสู่การให้คำตอบกับสังคมโดยรวมต่อเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง แต่กลับจะยิ่งสร้างปัญหาอื่นๆ เพิ่มจึ้นตามมาอย่างที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ต่อไป
สำหรับข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อรองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อให้พิจารณาดังนี้
1. ประสานงานเพื่อให้มีการยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ เวที ค.1 ที่บริษัทดังกล่าวกำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคมนี้ ด้วยความไม่ชอบตลอดกระบวนการที่ผ่านมา
2. ต้องจัดให้มีการทบทวนรูปแบบวิธีการ และกระบวนการจัดทำศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา เพื่อจะได้เข้าใจสภาพปัญหาและนำไปสู่การสร้างมาตรฐานอันจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันทั้งสองฝ่ายเสียก่อน
3. บริษัทต้องปรับบทบาทของตนให้เหมาะสม และต้องตั้งตนเป็นกลางในการดำเนินงาน และทางวิชาการอย่างแท้จริงในทุกกระบวนการ มิเช่นนั้นแล้ว เวทีดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งนำไปสู่ทางของสังคมจังหวัดสตูลมากยิ่งขึ้น
4. ให้มีการนำ เสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสตูล เพื่อให้มีความรู้เท่าทัน ทั้งด้านข้อมูล และมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาต่อไป
ดั่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการศึกษา EIA และ EHIA ของประเทศมีปัญหา บทเรียนการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาโครงการเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจังหวัดสตูลเท่านั้น แต่กลับเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ไม่ว่ากับโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา2 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและล่าสุดกับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่นายกรัฐมนตรียอมรับว่ามีปัญหาจริง จึงได้มีการสั่งให้ทำเรื่องนี้ใหม่และให้ทบทวนกระบวนการ รูปแบบวิธีการใหม่หมด เพื่อให้เกิดการยอมรับและเป็นกลางกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
คงต้องติดตามกันต่อไปหากเวทีนี้ถูกจัดขึ้น (ซึ่งมีแนวโน้นว่าจัดแน่นอนนั้น) จะกลายเป็นความขัดแย้งระลอกใหม่ที่จะสร้างรอยราวมากขึ้นทั้งต่อฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน หรือหากรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯเลือกที่จะถอยแล้วหันกลบสู่กระบวนการที่เปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ของตัวเอง แบบไหนจะดีกว่ากันเพราะบทเรียนในหลายพื้นที่ได้เคยบอกไว้ว่า หากไร้ซึ่งความร่วมมือที่จริงใจของทั้งสองฝ่าย การพัฒนาที่ดูเหมือนจะดีในเชิงเศรษฐกิจ แต่แท้จริงกลับทำลายมิติทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ก็ได้แต่หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเลือกเดินในเส้นทางที่ดีที่สุด
อ่านประกอบ
เครือข่ายสตูลฯ วอน รัฐหยุดเวทีค.1ปากบารา16มี.ค.
ไทยก้าวไปไกลเกิน EIAเอาอยู่ นักวิชาการชี้ถึงจุดทำประเมินสวล.เชิงยุทธศาสตร์ SEA
ไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนมาก นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ EIA ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
EIA และ EHIA “หลุมดำ” ของความรู้ในการตัดสินใจของรัฐไทย [1]
รัฐพัฒนาแบบมัดมือชก นักวิชาการชี้ EIA ตัวปัญหาปชช.ไม่ได้ร่วมตัดสินใจ
ภาพประกอบจาก สมบูรณ์ คำแหง