ชัดๆไทยพีบีเอส แจงเหตุลงทุนหุ้นกู้ซีพีเอฟ-งบบริหารปีละ2พันล.ไม่เพียงพอ
“..การไปลงทุนในกิจการใดแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น ไปซื้อตราสารหนี้มีฐานะทำให้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด แต่สังคมอาจจะมองได้ว่าการไปลงทุนกับกิจการอื่นนั้นทำให้ไปมีความสัมพันธ์พิเศษซึ่งโดยทั่วไปตนไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่หากเป็นองค์กรสื่ออาจจะต้องระมัดระวังอยู่บ้างเพราะว่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์หรือผลต่อความรู้สึกแม้ว่าในทางปฎิบัติจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างจริงจังก็ตาม... ”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวกรณีฝ่ายบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) นำเงินจำนวน 200 ล้านบาท ไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) (อ่านประกอบ : ชัดแล้วส.ท.ท.ใช้เงิน200ล.ซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ! พนง.หวั่นไม่สง่างามจี้ฝ่ายบริหารแจง) ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 13 มี.ค.2560 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำเสนอข่าวเรื่องนี้เป็นทางการ โดยในเนื้อหาข่าวชิ้นนี้ มีการสัมภาษณ์ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง และสัมภาษณ์ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
----------------
(https://www.youtube.com/watch?v=b0bN9TPtvXE&feature=youtu.be)
ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ยืนยัน การลงทุนซื้อตราสารหนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ไม่ได้ขัดกฎหมาย และเจตนารมณ์การทำงานสื่อสาธารณะ
ผู้ประกาศข่าว : แม้ไทยพีบีเอสจะได้รับการจัดสรร งบประมาณบริหารองค์กรปีละ2 พันล้านบาท แต่ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สสท. กล่าวว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการบริหารองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการแพร่ภาพและการกระจายเสียงจึงจำเป็นต้องนำเงินรายได้ที่ได้รับจากการเช่าโครงข่ายมาบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตาม พรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ม.11 วรรค7 ซึ่งกำหนดให้ไทยพีบีเอส สามารถนำผลตอบแทนที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การ โดยว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินดำเนินการและคณะกรรมการบริหารรับทราบมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันไทยพีบีเอส ลงทุนในเงินฝากในธนาคาร พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจรวม ทั้งตราสารหนี้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) ซึ่งพึ่งจะลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นครั้งแรก แต่ยืนยันว่าการลงทุนตราสารหนี้ในบริษัทฯดังกล่าวไม่กระทบการทำงานสื่อสาธารณะ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย :จริงๆแล้วไทยพีบีเอสต้องเน้นความเป็นอิสระ ไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับทางเอกชนต่างๆได้ การที่เอาเงินไปบริหารก็เหมือนปกติ เหมือนเราเอาเงินไปฝากธนาคารปกติ ซึ่งไทยพีบีเอสคงไม่ได้นำเงินของตนเองใส่ตู้เซฟไว้แล้วก็ใช้ก็ต้องมีการนำเงินไปฝากทั้งธนาคารรัฐและเอกชน ซึ่งครั้งนี้ก็เหมือนกันหุ้นกู้ก็เป็นลักษณะเดียวกัน คือ ลักษณะของการนำเงินไปซื้อตราสารหนี้แล้วนำผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเท่านั้นเอง ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับทางธนาคารใดๆเลยเพราะตอนที่ซื้อก็ไม่ได้ซื้อโดยตรงจากบริษัท แต่ซื้อผ่านธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับเค้าเลย เพราะฉะนั้นเค้าจึงไม่มีอิทธิพลกับไทยพีบีเอสได้ ซึ่งไทยพีบีเอสเองก็ไม่ได้รับโฆษณาใดๆ ไม่มีการหารายได้จากการโฆษณา ซึ่งไม่ได้มีอิทธิพลใดๆอยู่แล้วจึงอยากให้ประชาชนได้พิสูจน์ด้วยผลงาน ที่จะเห็นได้ว่า ไทยพีบีเอสได้มีการติดตามข้อมูลไม่ว่าจะเป็นทั้งจากทางหน่วยงานรัฐหรือเอกชนมาอย่างเข้มข้น ไม่เคยมีอิทธิพลที่จะมามีส่วนที่จะเข้ามาทำให้ไทยพีบีเอสขาดความเป็นอิสระหรือบกพร่องจากการเป็นสื่อสาธารณะได้เลย"
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) : การลงทุนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย อาจจะมีประเด็นที่ไทยพีบีเอสต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะ
“การไปลงทุนในกิจการใดแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น ไปซื้อตราสารหนี้มีฐานะทำให้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด แต่สังคมอาจจะมองได้ว่าการไปลงทุนกับกิจการอื่นนั้นทำให้ไปมีความสัมพันธ์พิเศษซึ่งโดยทั่วไปผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่หากเป็นองค์กรสื่ออาจจะต้องระมัดระวังอยู่บ้างเพราะว่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์หรือผลต่อความรู้สึกแม้ว่าในทางปฎิบัติจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างจริงจังก็ตาม ”
ผู้ประกาศข่าว : อย่างไรก็ตามการลงทุนดังกล่าวถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเพราะธุรกิจที่ลงทุน มีความมั่นคง และไม่น่าจะทำให้เกิดเสียหายถือเป็นการบริหารทรัพย์สินองค์กรให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น