ชัดแล้วส.ท.ท.ใช้เงิน200ล.ซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ! พนง.หวั่นไม่สง่างามจี้ฝ่ายบริหารแจง
ผอ.ส.ส.ท. แจงปมไทยพีบีเอส ลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ตามขั้นตอนปกติ ไม่กระทบการนำเสนอข่าวทีวีสาธารณะ ชี้หน่วยงานราชการอื่นก็ทำกัน แถมผ่านการพิจารณาคกก.บริหารแล้ว เตรียมเรียกพนง.ทำความเข้าใจ ขู่ใครไม่รู้จริงเอาข้อมูลภายในเผยแพร่ทำให้องค์กรเสียหาย มีโทษทางวินัยร้ายแรง ด้านสมาพันธ์พนง.ฯ หวั่นองค์กรไม่สง่างาม จี้ฝ่ายบริหารเปิดเวทีแจง
แหล่งข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้กำลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่พนักงานไทยพีบีเอส กรณีที่ฝ่ายบริหารได้นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ทราบจำนวนเงินที่แน่นอน โดยพนักงานบางส่วนมองว่า การนำเงินไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ โดยเฉพาะการทำข่าวเกี่ยวกับภาคประชาชน เกษตรกรรายย่อย นอกจากนั้นอาจเป็นการขัดต่อมาตรา 11 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยในเรื่องการนำเงินทุนและรายได้ขององค์การไปใช้ ว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการนโยบายทราบ แต่มิได้รายงานถึงรายละเอียดในการซื้อหุ้นกู้ของซีพีเอฟแต่อย่างใด ทำให้กรรมการนโยบายบางคนได้ซักถามว่า การซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวได้มีการศึกษาว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายจัดตั้งองค์กรหรือไม่ มีการศึกษาเปรียบเทียบการลง ทุนอื่นๆว่า มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร แต่ ทพ. กฤษดา มิได้ชี้แจงรายละเอียด
ด้าน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบาย กล่าวว่า ได้สอบถามเรื่องนี้กับผู้อำนวยการแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มองว่าได้นำเงินประมาณ 100 -200 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ซึ่งตนในตั้งคำถามถึงเรื่องการนำเงินไปใช้ลงทุนขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้งองค์การหรือไม่ เป็นการแสวงหากำไรหรือไม่ รวมถึงความเสี่ยงที่มีการเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆและได้สอบถามถึงการทำรายงานศึกษาในเรื่องนี้
นายณรงค์กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องดังกล่าวจะมีการนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระในการประชุมคณะกรรมการนโยบายในวันที่ 16 มี.ค. 2560 นี้
ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า มีการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของ ซีพีเอฟ จริง แต่เป็นการลงทุนลักษณะการซื้อตราสารหนี้ ไม่ได้เป็นการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้ เป็นการลงทุนตามปกติ หน่วยงานราชการหลายแห่งก็ทำกันก่อน การลงทุนมีการเปรียบเทียบข้อมูลการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารแล้วด้วย
“พนักงานที่นำเรื่องนี้ไปพูด มีความเข้าใจผิดเรื่องนี้อย่างมาก ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยตรงแบบนี้ถึงเป็นเรื่อง แต่กรณีนี้เป็นการลงทุนซื้อตราสารหนี้ตามปกติเท่านั้น และไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับซีพีเอฟอย่างแน่นอน ส่วนข้อมูลเรื่องเงินทุนว่าใช้ไปเท่าไรนั้น ยังบอกไม่ได้ ขอเช็คตัวเลขก่อน”
ทพ.กฤษดา ยังระบุด้วยว่า จะนัดพนักงานไทยพีบีเอส มาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกครั้ง และถ้าใครยังไม่เข้าใจ นำข้อมูลไปสื่อสารภายนอกองค์กรแบบผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ หุ้นกู้ที่ไทยพีบีเอส ลงทุนซื้อ คือ “หุ้นกู้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2556 ชุดที่ 3 ครบ กำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2564” (http://www.tfiic.org/th/Registry/Debt/SecurityDetails?id=35786)
สำหรับ มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.องค์การกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย ระบว่า เรื่องทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์การ แห่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย
(1) เงินบํารุงองค์การที่จัดเก็บตามมาตรา 12
(2) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 57 หรือตามกฎหมายอื่น
(3) ทุนประเดิมที่รัฐจ่ายให้เป็นการอุดหนุนตามมาตรา 60
(4) ค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนอื่นใดในการให้บริการ
(5) เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้รับจากผู้สนับสนุนองค์การ
(6) รายได้หรือการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การ
(7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การ
การรับเงินตาม (5) ต้องไม่เป็นการกระทําที่ทําให้องค์การขาดความเป็นอิสระในการ ดําเนินงาน หรือให้กระทําการอันขัดหรือแย้งต่อวัตถุประสงค์ขององค์การ
รายได้ในการดําเนินกิจการขององค์การนอกจาก (2) และ (3) ต้องนําไปใช้ในการ สนับสนุนพัฒนาศักยภาพและให้โอกาสสร้างสรรค์แก่ผู้ผลิตรายการอิสระในอัตราที่คณะกรรมการ นโยบายกําหนด แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของรายได้ดังกล่าว
รายได้ขององค์การตามวรรคหนึ่งไม่ต้องนําส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วย เงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 13 มี.ค.2560 สมาพันธ์พนักงาน สสสท. ได้ยื่นหนังสือถึงกรรมการนโยบาย ต่อกรณีการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ใจความเนื้อหาตามข้อความดังต่อไปนี้
เรียน ประธานกรรมการนโยบาย และกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.
เรื่อง ให้ชี้แจงกรณีนำเงินขององค์การฯ ไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ
ด้วยปรากฎข่าวสารยืนยันจากกรรมการนโยบายและฝ่ายบริหารว่ามีการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ในบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร สมาพันธ์ฯ ในฐานะตัวแทนพนักงานมีความสงสัยและกังวลใจในการดำเนินการครั้งนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ดำเนินกิจการโดยถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องธรรมาภิบาล และการผูกขาด กระทั่งบ่อยครั้งเป็นคู่ขัดแย้งกับคนในสังคม การร่วมดำเนินการใดๆ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองถึงความสง่างามขององค์กรสื่อที่ประกาศตัวว่าเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐหรือกลุ่มทุน
สมาพันธ์พนักงานฯ เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพนักงาน อนาคตขององค์การฯ ตลอดจนการหยัดยืนต่อประชาสังคมในฐานะเจ้าของภาษี จึงขอให้ผู้บริหารชี้แจงต่อข้อสงสัยดังต่อไปนี้
1. การซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร เป็นจำนวนนวนเงินเท่าไหร่ มาจากงบประมาณส่วนใด และผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายถูกต้องตามระเบียบหรือไม่อย่างไร
2. การนำเงินไปลงทุนในลักษณะนี้ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ว่าอาจขัดกับ พ.ร.บ.องค์การฯ มาตรา 7 และมาตรา 8 ว่าด้วยวัตถุประสงค์ขององค์การ รวมทั้งมาตรา 9 และมาตรา 11 ว่าด้วยการดำเนินกิจการและการหารายได้ขององค์การฯ รวมทั้งขัดกับระเบียบการเงิน การบัญชี และการงบประมาณหรือไม่อย่างไร
3. ดังที่กล่าวมาแล้วว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อคลางแคลงสงสัยในหลักธรรมาภิบาล เหตุใดจึงมีการเลือกลงทุนซื้อหุ้นกู้นี้ อีกทั้งมีการเปรียบเทียบหุ้นอื่นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาหรือไม่อย่างไร
จึงเรียนมาเพื่อให้มีการเร่งชี้แจงผ่านการเปิดเวทีพูดคุยภายในวันที่ 16 มีนาคม 2560
ด้านทพ.กฤษดา ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการนโยบายเคยให้นโยบายไว้ว่าในการลงทุน ต้องลงทุนตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอับดับเป็นระดับเอบวกขึ้นไป เพื่อให้เกิดคามมั่นคง และในวงเงิน500 ล้านบาท จะต้องกระจายการลงทุนอย่างน้อย 3 แห่ง ซึ่งก็ได้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ เป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท ตามข้อเสนอของที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการบริหารการจัดการกองทุน และมีการเปรียบเทียบถึงความเสี่ยงซึ่งบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเป็นเอบวกมีอยู่ไม่กี่บริษัท
"ที่ผ่านมา ส.ส.ท. ได้รับข้อเสนอจากกระทรวงการคลังว่าควรจะต้องนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งก็พยายามทำตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง" ทพ.กฤษดา ระบุ
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/532788