หวาดระแวง-แบ่งแยก...ความสัมพันธ์แตก-ไฟใต้ตกตะกอน
หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงถล่มรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 มี.ค.60 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย คือ ตัวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายสมชาย ทองจันทร์ ภรรยา พี่สาว และลูกชายวัย 8 ขวบ ซึ่งทั้งหมดเป็นคนพุทธ ก็ทำให้เกิดกระแสตึงเครียดในประเด็นศาสนาขึ้นมาทันที
โดยเฉพาะเมื่อพี่น้องคนพุทธชายแดนใต้กลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันไปศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และยื่นข้อเรียกร้อง 15 ข้อที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแบบไม่ปิดบัง โดยเฉพาะความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจคนต่างศาสนา และมองว่า "รัฐลำเอียง" ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณและการดูแล
หลายเสียงได้ออกมาแสดงความเห็นที่สะท้อนความพยายามไม่ให้ความรู้สึกบาดหมางลุกลาม ขณะที่ศูนย์ข่าวอิศราเอง ในฐานะสื่อมวลชน ก็ได้นำเสนอข้อมูลตัวเลขบางแง่มุมที่ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ก็ได้พยายามดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม (อ่านประกอบ...เจาะเครือข่ายคนพุทธชายแดนใต้ จับจังหวะเคลื่อนไหวประเด็นเปราะบาง)
แต่แน่นอนว่าเรื่องความรู้สึกท่ามกลางกระแสการ "ตอกลิ่ม" ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนเห็นตรงกัน
เช็คก่อนแชร์ ถามก่อนลือ
หลังจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้บรรยากาศย่ำแย่ลงอีกหลายเหตุการณ์ เช่น การเผยแพร่ข้อความแจ้งเตือนทางโซเชียลมีเดีย สื่อถึงพี่น้องมุสลิมทำนองว่ามีความพยายามจากคนต่างศาสนิกจ้องจะทำร้ายเพื่อแก้แค้นเหตุการณ์ที่รือเสาะ โดยยกเหตุการณ์เด็กวัยรุ่นมุสลิมถูกแทงในพื้นที่ อ.เมืองยะลา 2 เหตุการณ์ซ้อน มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 4 คน หนึ่งในนั้นอาการสาหัส
จากการตรวจสอบของทีมข่าวในพื้นที่ยืนยันว่าเหตุการณ์ทำร้ายเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเกิดจากความพยายามแก้แค้นให้ลักษณะเล่นงานคนต่างศาสนา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าวัยรุ่นต่างศาสนิกใน อ.เมืองยะลา มีปัญหากันอยู่ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ว่าจะแค่ข่าวลือ หรือเป็นข่าวจริง ก็มีคนพร้อมจะเชื่อ เพราะพื้นที่ อ.เมืองยะลา มีเชื้อไฟมานานหลายปีจากการที่เจ้าหน้าที่บางหน่วยพยายามจัดตั้ง "กลุ่มพลังมวลชน" ให้กับคนบางกลุ่ม บางชุมชน และฝึกอาวุธให้ นัยว่าเพื่อป้องกันตัว เรื่องนี้เคยถูกเปิดโปงโดยสื่อมวลชนกระแสหลักบางแขนงเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน แต่ภาพและเรื่องราวก็ยังคงติดตา และมีความเชื่อว่าพฤติการณ์ดังกล่าวยังมีอยู่
ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของสื่อสังคมออนไลน์ที่พื้นที่สื่อสารเปิดกว้างแบบสุดๆ ทำให้การกระพือข่าวลือ ข่าวจริงผสมมโน เกิดขึ้นง่ายดาย โดยเฉพาะเรื่องที่คนพร้อมจะเชื่อ
ร้อนถึง พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ต้องเขียนข้อความเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้ประธานชุมชนทั้งพุทธและมุสลิมช่วยกันติดตาม ตรวจสอบคนในชุมชน และเร่งทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย พร้อมย้ำว่าในเขตเทศบาลนครยะลา พี่น้องชุมชนทั้งพุทธ มุสลิม ได้ร่วมมือกันทำงานด้วยความรักและความเข้าใจกันอย่างมาก แสดงถึงความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะช่วยกันหยุดยั้งเหตุดังกล่าว และสร้างความเข้าใจภายในชุมชน และจะต้องมีสติ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการสร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคม
แถมท้ายด้วยประโยค “อย่าคิดแต่เอามันส์ จนกลายเป็นปัญหา” ซึ่งไม่ชัดว่าเป็นข้อความของ “นายกฯอ๋า” พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ หรือมีมือดีช่วยเติมเข้าไป เพราะยุคนี้การตัดต่อข้อความทางโซเชียลมีเดีย ก็ทำได้ง่ายๆ พอๆ กับแพร่ข่าวเท็จ
ขณะที่ ภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งวันนี้นั่งเก้าอี้เลขาธิการ “ครม.ส่วนหน้าดับไฟใต้” ก็ส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์สู้ข่าวร้ายเช่นกัน
"เรารักกันเหมือนเดิม ไม่ยอมเป็นเครื่องมือใคร...สิบกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มคนไม่หวังดีต่อบ้านเมืองก่อเหตุร้าย สร้างความแตกแยกไทยพุทธมุสลิม วันนี้พวกเราตาสว่างแล้ว จะไม่ยอมโง่หลงกลมัน พบหน้ายิ้มไหว้สลามทักทายกัน ในกลุ่มไลน์แชร์ภาพข่าวสามัคคี ในชุมชนหมู่บ้านก็ช่วยเหลือดูแลให้ปลอดภัยร่วมกัน”
อดีตเลขาฯภาณุ ถึงกับลงทุนทิ้งเบอร์มือถือส่วนตัว พร้อมย้ำทิ้งท้ายว่า "เช็คก่อนแชร์ ถามก่อนลือ/ภาณุ 0890011999"
ความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ สะท้อนภาพอีกด้านหนึ่งว่า ปัญหาค่อนข้างจะหนักหน่วงรุนแรงจริงๆ จึงต้องออกตัวแรงขนาดนี้
ขณะที่ข้อเสนอสร้าง “พื้นที่กลาง” ในโซเชียลมีเดีย นับว่าน่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการจากศูนย์อิสลามศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ่านประกอบ...แนะสร้างกติกาโซเชียลฯลดเกลียดชังศาสนา มีพื้นที่กลางสื่อสารความเข้าใจ)
บางคนอ่านแล้วอาจคิดว่าเลื่อนลอย แต่จากสภาพปัญหาน่าจะถึงเวลาต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมเสียที
กระสุนแห่งความหวาดระแวง
อีกเรื่องที่สะท้อนบรรยากาศหวาดระแวงในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา แต่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง ก็คือเหตุทหารพรานยิงตำรวจที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพราะเข้าใจว่าเป็นคนร้ายที่พยายามยิงโจมตีฐานปฏิบัติการ
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 7 มี.ค.60 ตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาค้ายาบ้า ที่บ้านยารอ หมู่ 1 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อเสร็จภารกิจก็ได้นำตัวผู้ต้องหากลับโรงพัก แต่ระหว่างทางถูกรถยนต์เก๋งของแก๊งขนน้ำมันเถื่อนขับปาดหน้า จนรถเจ้าหน้าที่เสียหลัก ทำให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมบางส่วนไล่ติดตามไปทางถนนจารุเสถียร จนเข้าเขต อ.เจาะไอร้อง ที่บ้านบาโงดุดง หมู่ 6 ต.จวบ เจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงล้อรถเพื่อให้รถหยุด เสียงปืนทำให้เจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพราน 4808 ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ รปภ.เส้นทาง เข้าใจว่าคนร้ายยิงเข้ามา จึงใช้อาวุธปืนประจำกายยิงตำรวจ ทำให้ อส.เสียชีวิต 1 นาย ตำรวจบาดเจ็บ 2 นาย
เหตุการณ์นี้เกือบจบลงเงียบๆ ด้วยเหตุผล “เข้าใจผิด” และการ “เคลียร์กัน” ของผู้บังคับบัญชา เหมือนหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการยิงกันเองในฐาน ทะเลาะกันแล้วยิงใส่กันบ่อยครั้ง แต่เรื่องที่ทำท่าจะจบกลับไม่จบ เพราะมีการปล่อยคลิปบางส่วนของเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า หลังผ่านความชุลมุนมาระยะหนึ่ง ทหารพรานรู้แล้วว่าอีกฝ่ายเป็นตำรวจ แต่ก็ยังไม่หยุดใช้อาวุธและใช้กำลังเข้าทำร้าย
ล่าสุดโฆษก กอ.รมน.ในส่วนกลางพยายามออกมาแถลงว่า “ไม่มีอะไร” แต่กระแสในโซเชียลมีเดียค่อนข้างแรง เพราะเป็นศักดิ์ศรีระหว่างหน่วยด้วย
เรื่องนี้หากมองอย่างกลางๆ ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สะสมความเครียดเอาไว้ค่อนข้างมาก จากสถานการณ์ความไม่สงบในลักษณะก่อการร้ายที่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ทุกเสี้ยววินาที ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ก็จะเลือกใช้อาวุธป้องกันตนเอง และไม่เชื่อคำพูดของอีกฝ่ายจนกว่าฝ่ายตนจะคุมสถานการณ์ได้
เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดกับพลเรือนด้วยเหมือนกัน เช่น เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงใส่รถยนต์ของชาวบ้านที่เบรคแตกพุ่งชนด่านตรวจเมื่อหลายปีก่อน โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย
ส่วนเมื่อปี 58 ช่วงก่อนครบ 10 ปีตากใบเพียง 2 คืน เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงใส่รถกระบะ ในท้องที่บ้านฮูแตยือลอ หมู่ 6 ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้เด็กที่นั่งมาในรถเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่เรียกให้จอด แต่คนขับซึ่งเป็นพ่อของเด็กไม่ยอมจอดรถ เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจใช้อาวุธ
พ่อของเด็กอธิบายว่าสาเหตุที่ไม่จอดรถ เพราะไม่เห็นด่านเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นด่านลอย เมื่อเห็นทีหลังก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวคนร้ายแต่งกายปลอมเป็นเจ้าหน้าที่คอยดักทำร้ายหรือปล้นรถของผู้ที่สัญจรไปมาอยู่เนืองๆ
ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยอมรับว่า เครียดอย่างหนักกับการแจ้งเตือนข่าวสารร้ายๆ ช่วงใกล้ 10 ปีเหตุการณ์ตากใบ เมื่อเห็นรถขับมาด้วยความเร็วสูงคล้ายแหกด่าน จึงตัดสินใจใช้อาวุธ
นี่คือความตึงเครียด หวาดระแวง และความรู้สึกแบ่งแยกของผู้คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ตะกอนไฟใต้” ที่ตกค้างอยู่ในหัวใจ และยากที่จะลบเลือน