รักษ์ป่าน่าน กับ "บัณฑูร ล่ำซำ"
บัณฑูรชี้หากรัฐยังดันทุรังจัดการแบบเดิมปัญหาป่าน่านไม่อาจแก้ไขได้ แนะจัดสรรที่ดินใหม่ส่งเสริมเกษตรที่หลากหลายเพิ่มมูลค่า เลี้ยงชีพได้
เมื่อเร็วๆนี้ในงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน”ครั้งที่ 3 ณศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจังหวัดน่านนายบัณฑูรล่ำซำประธานกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยกล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายเรื่อง “โครงสร้างการบริหารจัดการที่ส่งผลให้ได้ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านกลับคืนมา”
นายบัณฑูรกล่าวว่าวันนี้ป่าน่านจากผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียม พบว่า ทวีความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีป่าหายไป 2.5 แสนไร่ต่อปีจากตัวเลขที่แสดงความสูญเสียของป่าไม้ก็น่าเสียดายที่ฟ้าประทานต้นน้ำน่านให้ไทยแต่เรากลับปล่อยให้เกิดความเสียหายในระดับวิกฤติเพื่อเเลกเพียงพืชไร่ราคาต่ำที่ให้สัตว์กิน
"ที่ผ่านมาจังหวัดน่านไม่มีการจัดการถูกจัดสรรให้อยู่ปลายแถวในการบริหารท้องถิ่นไม่ได้งบประมาณอะไรมากมายไม่ได้รับความสนใจไม่มีใครอยากมาเป็นผู้ว่าราชการน่าน ขณะที่การทำมาหากินความเป็นอยู่ของคนน่านก็ไม่ได้มีการพัฒนามากมายเมื่อทุนเข้ามาจึงสู้กระแสทุนไม่ไหว"
นายบัญฑูรกล่าวอีกว่า 80 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนเหยียบหรือมาเมืองน่านเพื่อปฏิบัติราชการเลยเพราะมองว่าไม่สำคัญจนกระทั่งเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เดินทางมาเพื่อฟังการบรรยายรวมทั้งได้สนทนากับผู้นำชุมชนทั้ง 99 ตำบลเราวิเคราะห์เสนอทางออกให้นายกฯ เอาไปคิดว่าจะแก้อย่างไรจะลองทำดูไหมโดยมีสาระสำคัญในการแก้ปัญหาสองประการ
นายบัญฑูรกล่าวว่า ประการแรกต้องมีการจัดสรรสิทธิในการใช้พื้นที่ให้จบก่อนเพื่อให้คนรู้สึกสบายใจ เพราะวันนี้คำจำกัดความยังผิดอยู่มิหนำซ้ำทางออกที่บอกว่า ให้ซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถามว่า มีที่ไหนที่ถูกต้องบ้างที่ปลูกกันทั้งหมดก็ผิดทั้งนั้นหากไม่ซื้อเลยจะหากินอย่างไรเพราะปลูกข้าวโพดมาสิบปีจะไปทำอย่างอื่นก็ทำไม่เป็น ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่อย่างน้อยให้สบายใจและถูกต้องตามกฎหมาย
“มีสมการสองสมการคือหนึ่งทำอย่างไรประชาชนถึงมีกินมีใช้ที่พอนั่นคือให้สามารถทำกินได้แต่มีสมการที่สองที่คานกันมาทำอย่างไรที่จะเอาป่ากลับคืนมาด้วย” นายบัณฑูร กล่าว และว่าถ้าปล่อยให้เกิดการบุกรุกไปเรื่อยๆจาก 30% ไป 50% ซึ่งเป็นไปได้เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดการตัดยังมีครบถ้วน ก็จะมีผลกระทบต่อทั้งสังคมการเมืองความเป็นอยู่คนในยุคต่อไปถามว่าทำไมไม่แก้ปัญหานี้คนปัจจุบันก็ตอบไม่ได้ เพราะตายไปแล้ววันนี้ตัวเลขทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเห็นตรงกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเห็นฟ้องตรงกันโอกาสที่จะหาทางออกก็มีมากขึ้น
นายบัณฑูรกล่าวถึงกรอบของโจทย์ที่ออกมาคร่าวๆที่กำหนดเป้าที่เราต้องไปถึงสมมุติป่า100% ปัจจุบันเหลือแค่ 72% ที่เป็นต้นไม้ส่วนที่หายไป 28% คือโล้นเเล้วจะคืน100% คงไม่ได้เพราะคนอยู่แล้วมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่
"เอาเป็นว่า 72% ไม่ควรเสียไปมากกว่านี้คือหยุดตัดอีก 28% แบ่งเป็นสองส่วนบนสมมุติฐานที่ว่าสามารถทำมาหากินได้ดีกว่าเดิมค้าขายได้ดีกว่าเดิมในที่สุดเราคืนมา 18% จากส่วนนั้นได้ไหมกลับไปปลูกเป็นไม้สูงที่สามารถยึดผิวดินตามที่ควรจะเป็นได้ไหมแต่เป็นป่าที่มนุษย์สามารถเข้าไปทำกินได้แต่ไม่ได้ยกเป็นโฉนดปลูกอะไรก็ได้ที่อยู่ใต้ร่มต้นไม้เช่น กาแฟเห็ดสมุนไพรเป็นต้น"นายบัณฑูร กล่าว และว่า ทั้งหมดต้องมีข้อตกลงกันก่อนไม่ใช่เกิดปัญหาว่า ทำไมคนนี้ได้คนนี้ไม่ได้นายกฯ ลงพื้นที่ก็มอบสิทธิในการทำกินในป่าให้คนจำนวนหนึ่งอีกจำนวนหนึ่งกลับไม่ได้เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้ก็รู้สึกไม่ดีดังนั้นถ้าจะตกลงก็ต้องทำทั้งจังหวัด
นายบัณฑูร กล่าวต่อว่าภายใต้กติกาคร่าวๆแบบนี้ความรู้สึกเป็นธรรมต้องมีมีสิทธิทำกินเหมือนกันจะทำที่ละชิ้นไม่ได้
"ผมถามนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยว่า รับได้ไหมเขาบอกว่ารับได้ส่วนจะไปทำหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่งจัดสรรที่ดินเป็นโจทย์ที่หนักหนาพอสมควรใครจะยอมสละส่วนไหนถ้าวันนั้นมาถึงที่รัฐบาลจะทำเราต้องพึ่งความเป็นผู้นำความเป็นปึกแผ่นของชุมชนจากจังหวัดน่านมาคุยกัน"
นายบัณฑูรกล่าวด้วยว่า จุดที่สำคัญอีกอย่างคือ ทำอย่างไรที่จะทำมาหากินได้ รายได้เพียงพอ ไม่กลับไปทำแบบเดิมมีรายได้สูงพอที่จะเลี้ยงชีวิต แบบนี้ถึงจะเป็นการจัดสรรที่ยั่งยืนการท่องเที่ยวที่ถูกยกขึ้นมาว่า จะมีส่วนช่วยได้ขั้นหนึ่งแต่หากดูตัวเลขการท่องเที่ยวในปัจจุบันกระจุกอยู่ในอำเภอเมืองแต่ผลประโยชน์ไม่ได้ลงไปในระดับเกษตรดังนั้นตัวเลขที่จะตัดสินจริงๆคือรายได้ต่อไร่ต่อคนถ้าไม่สูงถึงขั้นหนึ่งเพื่อสนองต่อการดำรงชีวิตผลก็จะออกมาแบบเดิมๆก็จะออกมาให้รับประกันราคาสินค้ากันอีกก่อนจะไปถึงจุดนั้นมีปัจจัยอีกเยอะที่ต้องดึงศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายไม่ว่าจะเป็นวนศาสตร์อุทกศาสตร์แต่ก่อนอื่นต้องไปแก้ปัญหาของนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ก่อน แก้โดยรัฐบาลกลางเท่านั้นภาครัฐต้องเข้าใจโจทย์สถานการณ์ก่อนและต่อมาต้องกล้าที่จะทดลองการจัดการในรูปแบบใหม่หากยังดันทุรังที่จะใช้แบบเดิมเราก็จะเจอปัญหาแบบเดิม เกิดความสามารถในการเรียนรู้ทำให้พื้นที่จังหวัดน่านมีผลผลิตที่สูงพอที่จะเลี้ยงดูคนในพื้นที่ได้
“ถ้ารายได้ต่อคนไม่พอเราจะเสียป่าน่านอย่างทุกวันนี้ เราจะประชุมอีกกี่รอบก็ตามตอนจบก็จะกลับมาสู่จุดนี้คือการจัดสรรที่ดิน” นายบัณฑูร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หมู่บ้านแห่งเดียวใน จ.น่าน ที่ไม่ปลูกข้าวโพด
ฟังคนต้นน้ำ พูดถึงป่าหาย ที่ “น่าน”
คนหิวป่าหาย ณ “น่าน” เมื่อความยากจน คือปัญหา
.