- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ฟังคนต้นน้ำ พูดถึงป่าหาย ที่ “น่าน”
ฟังคนต้นน้ำ พูดถึงป่าหาย ที่ “น่าน”
“ผมฝันเอาไว้ว่า อย่างน้อย 10 ปีข้างหน้า พื้นที่บ้านน้ำช้างพัฒนา จะเป็นแบบดอยตุงโมเดล ผมเชื่อ เด็กรุ่นใหม่เขาไม่เอาแล้วปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ทุกวันนี้ยังทำอยู่ก็มีเฉพาะคนรุ่นก่อนยังยึดติด และไม่มีทางเลือก”
“ที่นี่เป็นฝายของผม ฝายของบ้านน้ำช้างฯ ฝายผู้ใหญ่กานต์"
นายกานต์ เจริญจิตรัตนกุล ผู้ใหญ่บ้านน้ำช้างพัฒนา ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน พื้นที่ที่ประยุกต์นำแนวพระราชดำริ "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" และ"ดอยตุงโมเดล" มาใช้ในพื้นที่ เล่าความเป็นมาของฝายบ้านน้ำช้างพัฒนาอย่างฉะฉาน ให้กับคณะสื่อมวลชนที่ร่วมโครงการกิจกรรมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดน่าน จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จ.น่าน และโครงการปิดทองหลังพระ จ.น่าน
ผู้ใหญ่กานต์ เล่าต่อว่า ฝายตัวนี้เมื่อก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำจากไม้ธรรมชาติ เราต้องไปตัดไม้จากบริเวณใกล้เคียงที่อายุไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีมาทำฝาย
"ถามว่า ทำไมต้องใช้ต้นไม้ใหญ่มาทำฝาย เนื่องจากน้ำที่นี่แรงมาก ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เดินข้ามฝายแทบไม่ได้เลย จนกระทั่งกรมป่าไม้มาดู กลายเป็นปัญหาการทำฝายของบ้านน้ำช้าง ซึ่งมีฝายรวมทั้งหมด 37 ตัว ปีๆ หนึ่งต้องซ่อมฝายถึง 2 ครั้ง ต้องตัดต้นไม้หลายพันต้น”
“ตอนมีปัญหากับป่าไม้ เราถามกลับเจ้าหน้าที่ว่า หากไม่ให้ชาวบ้านตัดไม้มาทำฝายเลย มีทางเลือกอื่นให้ชาวบ้านไหม เพื่อเราจะรักษาต้นไม้อุ้มน้ำต่อไป ผลสุดท้าย เจ้าหน้าที่เอากล่องลวดตาข่าย (กล่องเกเบียน) มาลงให้ 6 ตัว จนต่อมามีโครงการซ่อมฝาย ของโครงการแม่ฟ้าหลวง จึงหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างฝายได้ระดับหนึ่ง”
ก่อนที่เขาจะชี้ไปที่...
“ต้นไม้ต้นนี้ ไม่ใช่มันขึ้นเองนะ ผมเอามาปลูก ต้นนั้นก็เอามาปลูก ต้นนี้ต้นแม่ ผมแบกมาขึ้น 5-6 กิโล เพื่อให้รากยึดหน้าฝาย การชะล้างหน้าฝายจะไม่มี”
หลังจากมีการพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร บริหารจัดการน้ำโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ผู้ใหญกานต์ บอกว่า ในอดีตรายได้ของชาวบ้านบ้านน้ำช้างฯ มาจากข้าวไร่ กับข้าวโพด
ณ ปัจจุบัน เขาบอกว่า ข้าวโพดก็ยังอยู่ แต่เปลี่ยนมาอยู่คู่กับป่าเศรษฐกิจ เริ่มมีการปลูกกล้วย มะม่วง กาแฟ ซึ่งจะมาทดแทนข้าวโพด
“ผมว่า ข้าวโพด อนาคตจากนี้ไป ข้าวโพดจะเริ่มหายไป ช่วง 1-2 ปีนี้ไม่หายไปหรอก เนื่องจากมะม่วงหิมพานต์ กาแฟ ก็ยังไม่โต ไม่ติดลูก ขณะที่ชาวบ้านยังต้องใช้จ่ายเงินทุกเดือน ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ เขาจำเป็นต้องมีการปลูกข้าวโพดแซมมะม่วงหิมพานต์ แต่เมื่อมะม่วงหิมพานต์ โตแล้ว ติดลูกแล้ว ปลูกข้าวโพดไม่ได้แล้ว ข้าวโพดก็จะเริ่มหายไป” ผู้ใหญกานต์ เชื่อเช่นนั้น และเห็นภาพขุนน่านที่แตกต่างจากเมื่อก่อน พื้นที่ 100% ที่เคยปลูกข้าวโพด เหลือ 65% เท่านั้น
พร้อมกับแสดงความชื่นชมโครงการแม่ฟ้าหลวง กับโครงการปิดทองหลังพระที่เข้ามาพัฒนาและอยู่กับชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงแค่ปีสองปีแล้วกลับไป แต่มุ่งพัฒนาอยู่คู่กับชุมชนระยะยาว
“เรื่องป่า เรื่องเขาหัวโล้น เราโดนข้อหาบุกรุกป่า แต่รู้หรือไม่ พื้นที่ตรงนี้ส่วนใหญ่ 90% เป็นพื้นที่ลาดชัน มีพื้นที่ราบลุ่มอยู่แค่ 10% อาชีพหลัก คือปลูกข้าวไร่ กับข้าวโพด” นายวันชัย บัวแสน อาสาสมัครพัฒนา (อสพ.) บ้านน้ำช้างพัฒนา ตัวแทนคนรุ่นใหม่ในชุมชน ประยุกต์ “ดอยตุงโมเดล” มาปรับใช้ในตำบลขุนน่าน อธิบายต่อจากผู้ใหญกานต์
ผลดำเนินการปลูกป่า ระหว่างปี 2556-2558 ทั้งการเข้าไปสำรวจแหล่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ซ่อมระบบฝาย 37 ตัว โดยการสร้างฝายแต่ละตัวจะเน้นฝายเดิมๆ ของชาวบ้าน
“เราไม่ใช้เครื่องจักรกลหนัก ใช้แรงงานคนในการสร้างฝายเป็นหลัก ที่เห็นตรงนี้ บางคนอาจเข้าใจฝายต้องกักเก็บน้ำ นี่แค่ฝายยกระดับน้ำเท่านั้น เป็นฝายเบี่ยงทางน้ำเข้าพื้นที่ทางการเกษตร”
ผลที่วัดได้ เมื่อแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จากที่เคยมีผลผลิตข้าวไร่ 30 ถังต่อไร่ ก็เพิ่มขึ้น 70-80 ถังต่อไร่
หลายกิจกรรมที่เขาไปส่งเสริมกับชาวบ้าน เช่น การทำนาขั้นบันไดเพื่อลดการชะล้างหน้าดิน และให้มีธาตุอาหารสะสม ขณะเดียวกันหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา
"คนขุนน่านไม่เคยทำมาก่อนเลย การปลูกพืชหลังนา สามารถเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดบนดอย ให้มาปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราบ หรือพื้นที่นาได้ เฉลี่ยข้าวโพดปลูกบนดอย 300 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกข้าวโพดในแปลงนาอย่างต่ำ 800 กิโลกรัมต่อไร่"
การส่งเสริมปลูกพืชให้ได้ประโยชน์สูงสุด สามารถแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมเข้าไปในพื้นที่ทำกินเดิม
วันชัย มองจากสายตาคนขุนน่าน ที่ยังเห็นชาวบ้านปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันอยู่ เนื่องจากพื้นที่ราบมีไม่มาก พื้นที่มีไม่เพียงพอ เขาจึงเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจบนดอย ปลูกครั้งเดียว เก็บผลผลิตได้ตลอด เช่น มะม่วงหิมพาต์ กาแฟ กล้วย มะแขว่น ฯลฯ ฉะนั้น การแก้ปัญหาเขาหัวโล้นเราต้องคำนึงถึงความจำเป็น ให้ชาวบ้านมีรายได้ก่อน
“การปลูกไม้เศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี กว่าต้นไม้จะโต ทั้งมะม่วงหิมพานต์ กาแฟ ระยะแรกต้องแซมด้วยข้าวโพด ลูกเดือย” วันชัย ให้ข้อมูลกับเรา ก่อนจะชี้ไปยังลานต้นก่อ ที่เห็นอยู่ข้างหน้า
“พื้นที่ตรงนี้ไม่มีการเผา ชาวบ้านแต่ก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีแต่ควันไฟเผาอย่างเดียว แต่เมื่อปลูกพืชเศรษฐกิจแซมสามารถลดการเผาลงได้ จากปี 2552 โครงการปิดทองหลังพระฯ เข้ามาช่วยเรื่องระบบน้ำ ผลสัมฤทธิ์การเพิ่มพื้นที่ป่า เห็นชัดเจนระหว่างปี 2556-2558 สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้แล้วกว่า 4 พันไร่”
“ป่า 3อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง” เริ่มต้นพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการปลูกคน ปัจจุบันชาวบ้านบ้านน้ำช้างพัฒนา มีรายได้จากการปลูกกล้วยพันธุ์เหลืองนวล ซึ่งเป็นรายได้หลัก 3-4 พันบาทต่อสัปดาห์ (ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ขึ้นไป) ขณะที่ผลผลิตกาแฟ กำลังเริ่มให้ผลผลิตไม่ต่ำ 2 พันบาทต่อปี (ขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่)
ตามมาด้วยรายได้จากมะม่วง และดอกก๋ง ขายได้กิโลกรัมละ 30 บาท โดยมีพ่อค้ามาติดต่อซื้อถึงที่
“ผมฝันเอาไว้ว่า อย่างน้อย 10 ปีข้างหน้า พื้นที่บ้านน้ำช้างพัฒนา จะเป็นแบบดอยตุงโมเดล ผมเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่เขาไม่เอาแล้วปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ทุกวันนี้ยังทำอยู่ก็มีเฉพาะคนรุ่นก่อนยังยึดติด และไม่มีทางเลือก” วันชัย ตั้งความฝันไว้ทิ้งท้าย
ผู้รักษาป่า
สำหรับผู้ขับเคลื่อนโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย โดยขยายผล “ดอยตุงโมเดล” มาใช้ที่จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2552 นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บอกว่า คนทำงานเพื่อฟื้นฟูป่าน่าน ต้องเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง
“ผู้ใช้กับผู้รักษา อยู่ร่วมกัน เป็นคนๆ เดียวกันเสมอ หากเขาใช้มาก เขาก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องรักษาด้วย”
เฉกเช่นที่ บ้านพ่อ ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ป่าต้นน้ำริมแห่งนี้เคยถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย มีการตัดไม้ทำลายป่า จนชาวบ้านต้นน้ำ ใต้น้ำ ต้องมาประชุมร่วมแก้ไขปัญหา ก่อนจะออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับดูแลรักษาป่าขึ้นมา เช่น 18 หมู่บ้านต้นน้ำห้ามขายที่เด็ดขาด พร้อมกับจัดสรรหน้าที่ตรวจป่า ปลูกป่าเสริม พอถึงหน้าแล้ง คณะกรรมการฝายริม ก็จะดูแลไม่ให้มีการเผาป่า
เมื่อประชาอาสาดูแลป่าต้นน้ำริมกว่า 5 หมื่นไร่ ตั้งแต่ปี 2540-ปัจจุบัน ป่าต้นน้ำริมกลับมาอุดมสมบูรณ์
ยิ่งเมื่อโครงการแม่ฟ้าหลวงฯ และปิดทองหลังพระฯ เข้ามาช่วยให้ชาวบ้านลงแรง มีส่วนร่วมซ่อมแซมฝาย ร่วมลงมือทำเองโดยไม่ต้องจ้างผู้รับเหมา ถึงวันนี้ 14 หมู่บ้านได้ประโยชน์จากการซ่อมแซมฝาย พื้นที่ได้รับประโยชน์ 3,862 ไร่
นายบวร อิ่มแก้ว รองประธานคณะกรรมการฝายริม เล่าถึงการบริหารจัดการอย่างสันติวิธี ชักชวนให้เรามองไปที่ลำห้วยเล็กๆ
"ลำห้วยเล็กๆ นี้ ยาว 7 กิโลเมตร มีสถานีแบ่งน้ำ 12 แห่ง พื้นที่เกษตรหมู่บ้านเหนือน้ำจะปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ได้ตอนกลางคืน ใต้น้ำสามารถปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ทางการเกษตรได้ตอนกลางวัน แบ่งสัดส่วน มีกติกา ใครจะเปิด-ปิดประตูน้ำโดยพลการไม่ได้
ไม่ไกลกัน ที่บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน นายสกนธ์ ใหม่น้อย ผู้ใหญ่บ้านดอนชัย หัวเรี่ยวหัวแรงระดมชาวบ้านซ่อมแซมฝายแก้ง เล่าว่า ช่วงแรกๆ ฝายแก้งชำรุดเสียหาย เนื่องจากทำด้วยไม้ ปีๆ หนึ่งน้ำหลากมาก็พังต้องทำใหม่ตลอด บางปีพังถึง 2 ครั้ง จนกรมชลประทานสร้างฝายคอนกรีตให้ แต่เมื่อช่วงพายุไหหม่ามา ฝายแห่งนี้ก็พังอีก
"พอดีทางโครงการแม่ฟ้าหลวง มาสำรวจ และถามชุมชนว่า ต้องการไหมหากมีวัสดุ อุปกรณ์ มาช่วย แล้วให้ชาวบ้านร่วมกันสละแรงซ่อมแซมฝายเอง เราไปทำประชาคม คนมีพื้นที่น้อยให้มา 1 แรง มีพื้นที่มากให้มา 2 แรง ชาวบ้านร่วมลงมือซ่อมฝาย 56 วัน 3,199 แรง เป็นเงิน 9.5 แสนบาท (ไม่คิดค่าแรง) ด้วยงบประมาณ 3.6 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าวัสดุ 2.8 ล้านบาท จนเป็นผลสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบการปรับปรุงฝาย" สกนธ์ เปิดตัวเลขอย่างละเอียด และว่า ตอนฝายพังทางราชการประเมินการซ่อมฝายกว่า 13 ล้านบาท แต่เมื่อโครงการแม่ฟ้าหลวงเข้ามาช่วย หมดค่าวัสดุ อุปกรณ์ บวกชาวบ้านที่มาช่วยกันลงแรง ทำให้การซ่อมแซมฝายประหยัดไปเกือบ 10 ล้านบาท
|
ผู้ใหญ่บ้านดอนชัย ยังเปรียบเทียบก่อนและหลังการทำฝายให้มั่นคงถาวร รายได้ชาวบ้าน 8 หมู่บ้านจากการทำนาและปลูกพืชหลังนา เฉลี่ย 22 ล้านบาทต่อปี หลังซ่อมแซมฝายเสร็จ น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์รายได้ชาวบ้านเพิ่ม 40 กว่าล้านบาท นี่คือตัวเลขจากการสำรวจภายในตำบลกับการมีป่า มีน้ำ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น
ชี้ท่องเที่ยวช่วยเกษตรกรน่านได้
การอยู่ร่วมกันระหว่างคน ป่า และชุมชน ในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
"ดร.ทวน อุปจักร์" เจ้าของบ่อเกลือ วิว รีสอร์ท บริเวณไหล่เขาของดอยภูคา บอกว่า เวลานั่งเครื่องบินจากน่านไปกรุงเทพ พื้นที่เมืองน่านเหมือนเด็กโดนตัดผม สกินเฮด
"ผมเห็นว่า น่านเข้าสู่การใช้ทรัพยากรไม่ถูกต้อง เราต้องเริ่มโดยใช้บ่อเกลือวิว สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน เรามาที่น่าน ทำธุรกิจที่นี่เพราะรักบ้านเกิด ผมเชื่อว่า การท่องเที่ยวช่วยเกษตรกรน่านได้"
ดร.ทวน จบจากคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และร่ำเรียนทำอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานี บวกประสบการณ์จากการเป็นเชฟ ที่โรงแรมโนโวเทล เขาได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้กับบ่อเกลือ บ้านเกิด
"ผมกลับมาดูพืชผลทางการเกษตรคนบ่อเกลือสมัยโบราณคืออะไรที่ไม่ได้ทำลายป่ามาก เช่น ฟักทอง ข้าวเหนียวดำ ถั่ง งา และเอามาปรับเรื่องของอาหารให้ใช้วัสดุเดิมๆ มาปรุงที่ร้าน เปลี่ยนเมนูอาหาร 80% ต้องเป็นวัตถุดิบในอำเภอบ่อเกลือ ผมประยุกต์ทุกอย่างแม้แต่แยมก็ทำจากมะเดื่อป่า มะไฟจีน กล้วย มะละกอ"
หรือแม้แต่การจัดโต๊ะอาหาร ดร.ทวน ระบุว่า ก็ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นทั้งหมด ที่นี่จะไม่ซื้อดอกไม้มาตกแต่ง แต่จะใช้กล้วยป่า มะเดื่อป่า ผักสวนครัวมาแต่งสถานที่
"เราไม่ได้ทำลาย ชาวบ้านเริ่มเห็น และทำตามผม ข้าวโพดที่คนเมืองน่านปลูก 7 แสนไร่ ไม่มีอยู่บนโต๊ะอาหารเลย น่านผลิตใช้ป่าเยอะมากเพื่อปลูกข้าวโพด ต้องไปผ่านเป็นหัวอาหารเลี้ยงสัตว์ก่อน กว่าจะถึงเราก็เป็นหมู เป็นไก่กลับมา ถึงเวลาที่เราต้องปรับการเกษตรที่น่านได้แล้ว"
โจทย์ใหญ่ เขาเห็นว่า หากชาวบ้านไม่ได้ผลประโยชน์ร่วม ยังไงก็กลับสู่วิถีเดิม คือ ปลูกข้าวโพด ปลูกทิ้ง รอน้ำฝน ถึงเวลาเก็บเกี่ยวพ่นยาเข้าไป แค่นั้นพอ
"ผมปรับผักผลไม้มาจากชุมชนทั้งหมด หมู่บ้านนี้ปลูกชนิดนี้ อีกหมู่บ้านปลูกอีกอย่างหนึ่ง เอามาส่งให้เรา ผมมีหน้าที่อย่างเดี่ยว หั่นปรุงลงจานอาหาร และแนะนำคนปลายน้ำที่มาเที่ยวบ่อเกลือว่า ทำไมต้องเสริฟอาหารแบบนี้ ต้องกินอาหารแบบนี้ คุณเปลี่ยนมีส่วนช่วยชาวบ้านทางอ้อม ช่วยป่าน่านทางอ้อม"
เมื่อชาวบ้านรู้เขาก็หันมาปลูกงาขี้ม่อน มะแขว่น ฟักทอง "การท่องเที่ยวช่วยเกษตรกรได้เยอะมาก เราไม่สามารถเปลี่ยนพรึบทีเดียวได้ ต้องเข้าทีละชุมชน"
สิ่งที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดอีกอย่าง แต่ก่อน เจ้าของบ่อเกลือ วิว รีสอร์ท ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เก็บผักทีละกำสองกำ เวลาทั้งหมดไปกับการหากล้วย หาฟักทอง วัตถุดิบมาป้อนรีสอร์ท มาระยะหลังๆ ทุกเช้าจะมีรถวิ่งมา 4-5 คัน ส่งไข่ ผักกูด กล้วย ผักสลัด ถึงที่
แค่ฟักทองอย่างเดียว รีสอร์ทแห่งนี้ ต้องใช้ถึงปีละ 5 -7 ตัน จนทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าวโพดได้แล้ว 7-8 ราย ดร.ทวน บอกว่า ไม่ง่ายเลยต้องใช้เวลา 4-5 ปีทีเดียว
"ฟักทอง 5-7 ตัน ผมไม่ได้ขนไปขายนะ แต่ติดไปกับรถตู้ของนักท่องเที่ยวทุกเช้า หลังผมเสริฟอาหารเช้า มีฟักทองอบเนยให้ได้ลิ้มลอง"
เสียงผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่อยากให้บ่อเกลือ หรือพื้นที่ใดๆ ของจังหวัดน่าน เมื่อการท่องเที่ยวเจริญแล้ว คนต้องล้มป่า บุกรุกป่า...
อ่านประกอบ