ครบเดือนยังไม่ได้คนผิด! ปตท.เรียก จนท.แจงคดีสินบนโรลส์รอยซ์-หนุน ป.ป.ช.เต็มที่
ปธ.บอร์ด ปตท. เผยความคืบหน้าผลสอบคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ 385 ล้าน ครบกำหนดกรอบ 30 วัน ยังไม่ได้คนผิด เชิญคนที่อาจเกี่ยวข้องแจงแล้ว ทำหนังสือประสาน ยธ.สหรัฐฯ-เอสอีซี ขอข้อมูล หนุนการทำงานของ ป.ป.ช. เต็มที่
จากกรณีกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี) พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาทในช่วงปี 2546-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการ
กระทั่งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มีนายชวลิต พันธุ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน เป็นประธานฯ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ มาเป็นกรรมการ โดยกำหนดกรอบเวลาภายใน 30 วันนั้น
(อ่านประกอบ : เปิดเอกสารสินบน โรลส์รอยซ์-ปตท. 385 ล. สูงสุด 7.5% ระบุ 'ท่านกลัวถูกเปิดโปง', ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2560 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 บอร์ด ปตท. ได้รับทราบรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว เบื้องต้นเมื่อครบ 30 วันตามกรอบเวลา พบความชัดเจนขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขั้นทราบชื่อ หรือบุคคลที่กระทำความผิด แต่ได้รวบรวมข้อมูล เอกสาร ข้อเท็จจริง รายชื่อบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งบุคคลที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน ปตท. หรือบุคคลที่เกษียณไปแล้ว พร้อมกับเชิญมาให้ปากคำเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วย โดยยังไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นคนเรียกรับสินบนกรณีดังกล่าว เนื่องจากตามเอกสารไม่มีข้อมูลปรากฏอย่างแน่นอน ต้องสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และเอสอีซี เพื่อขอข้อมูลประกอบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบกลับมา
นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำขณะนี้คือสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคดี ได้แลกเปลี่ยน หารือกับ ป.ป.ช. ว่า ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม หรืออยากลงลึก เก็บข้อมูลอะไรบ้าง จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พร้อมจัดสถานที่ให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจเอกสาร และหากพบข้อมูลการกระทำความผิดของบุคลากรทั้งในอดีตหรือปัจจุบันของ ปตท. ให้ส่งรายชื่อมา จะดำเนินการทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง
นายเทวินทร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้บอร์ด ปตท. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขจุดอ่อนที่อาจเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเรียกรับสินบน หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนที่มาประมูลในอนาคตด้วย เช่น การขึ้นทะเบียนนายหน้า จัดระบบการบันทึกการติดต่อโครงการก่อสร้างและจัดซื้อ เพิ่มการเก็บเอกสารเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document) เนื่องจากที่ผ่านมามีเอกสารกว่า 30% ที่นานเกินกว่า 10 ปี และบางส่วนถูกทำลายไปแล้ว พร้อมทั้งใช้แนวทางในการนำหลักเกณฑ์เรื่องข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) และการบริหารต้นทุน (Cost) มาใช้ในโครงการในอนาคตของ ปตท. ต่อไป เพื่อแสดงความตั้งใจตามหลักการของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามสำนวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และเอสอีซี พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ และบริษัทลูกอย่าง PRESI และพนักงาน ได้แก่ ผู้บริหาร 1 ราย พนักงาน 3 ราย และบุคลากรไม่ระบุตำแหน่งอีกจำนวนหนึ่ง มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบนให้กับบริษัทนายหน้า รวมถึงบริษัทให้คำปรึกษาทางการค้าในการเซ็นสัญญา ภายใต้ข้อตกลงว่า บริษัทนายหน้า จะสนับสนุนบริษัท PRESI ให้ได้ทำธุรกิจร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ.
โดยในกรณีการติดสินบนดังกล่าวนั้น พนักงานของโรลส์-รอยซ์ และบริษัท PRESI ได้แก่ ผู้บริหาร 1ราย พนักงาน 3 ราย และบุคลากรไม่ระบุตำแหน่งจำนวนหนึ่งได้จัดเตรียม และวางแผนเพิ่มคอมมิสชั่นให้กับที่ปรึกษาบริษัท โรลส์-รอยซ์ เช่นเดียวกับที่ทำกับนายหน้า 4 ซึ่งเมื่อได้รับเงินดังกล่าวแล้วนั้น ที่ปรึกษาบริษัทส่งต่อเงินสินบนไปยังพนักงานฝ่ายต่างประเทศของ ปตท. และ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในสัญญาโครงการนี้
สำหรับกรณีนี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยมีประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนราชการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา กำหนดแนวทางในการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ตลอดจนเร่งรัดติดตามและบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
อ่านประกอบ :
เปิดชื่อบอร์ด ปตท.ปี 44-56 ช่วงคดีสินบน‘โรลส์รอยซ์’ -13 คนนั่ง รมต.5 รัฐบาล
เจอแล้ว!ปตท.จัดซื้อ ‘โรลส์รอยซ์’ 7 สัญญารวด 254.5 ล. ช่วง 3 ปี- บ.คนไทยเอี่ยว