ผู้ว่าฯสตง.รับลูก 'อิศรา' สั่งสอบ2บ. 'ผัว-เมีย' คู่เทียบทาสีถนนกันลื่น 'ทล.' 7.9ล้าน
ผู้ว่าฯ สตง. รับลูก 'อิศรา' สั่งสอบ 2 เอกชน 'ผัว-เมีย' คู่เทียบทาสีถนนกันลื่น 'ทล.'7.9ล้าน พร้อมขยายผลข้อมูลเชิงลึกประมูลงานทั้งระบบวงเงินนับพันล้าน เข้าร่วมประกวดราคากี่โครงการ ได้งานไปแห่งละเท่าไร
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บริษัท โฟร์เอ็ม อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท คลีโนลซอล ทราฟฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้าร่วมซื้อซองประกวดราคา ยื่นซองเสนอราคา และผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค โครงการประกวดราคาจ้างงานจ้างเหมาทำการติดตั้งป้ายจราจรแบบแขวนสูงและฉาบผิวจราจรเพื่อลดการลื่นไถล ตามแบบสำนักงานบำรุงทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ 2 โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 7,950,000 บาท ของ กรมทางหลวง โดย สำนักงานบำรุงทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ 2 ในช่วงปลายปี 2558 มีความเชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน
(อ่านประกอบ : เปิดข้อมูล 2บ.'ผัว-เมีย' คู่เทียบประมูลงานทาสีถนนกันลื่น 'ทล.'7.9ล้าน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2556 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ได้รับทราบข้อมูลการตรวจสอบโครงการนี้ ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอแล้ว และจะสั่งให้เจ้าหน้าที่สตง.เข้าไปตรวจสอบข้อมูลซ้ำอีกครั้ง
"หลักฐานที่ปรากฎในข่าวชิ้นนี้มีความชัดเจนมาก เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่สตง. เข้าไปตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง และขยายผลด้วยว่า บริษัทเอกชนทั้ง 2 ราย ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญางานกับกรมทางหลวงกี่งาน และเข้าเสนอราคาพร้อมกันกี่งาน และได้รับงานไปเท่าไร โดยเฉพาะงานจ้างเหมาเอกชนเข้ามารับงานทาสีถนนสำหรับกันลื่น ของ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมทางหลวง (ทล.) วงเงินรวมหลายพันล้านบาท ที่ สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่า มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่คุ้มค่าเหมาะสมหรือไม่"
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อด้วยว่า ปัจจุบัน สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบโครงการจ้างเหมาเอกชนเข้ามารับงานทาสีถนนสำหรับกันลื่น ของ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมทางหลวง (ทล.) หลังพบข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2557 -จนถึงปัจจุบัน ใช้เงินดำเนินโครงการไปแล้วกว่า 1.2 พันล้านบาท และเตรียมที่จะดำเนินการต่อถึงปี 2562 อีกกว่า 3 พันล้านบาท รวมเป็นวงเงินกว่า 4 พันล้านบาท
"การตรวจสอบข้อมูลโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่าผลการดำเนินงานมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ทั้งจุดพื้นที่ที่ดำเนินการ วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินโครงการนี้ มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อราชการและประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเรื่องแฟชั่นเห็นต้องไหนทำไปแล้วก็อยากทำบ้าง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิบดีกรมทางหลวง และอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานโครงการนี้เบื้องต้นไปแล้ว" ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า สตง. ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) และอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อแจ้งให้ดำเนินการตามข้อเสนอของสตง.เกี่ยวกับการดำเนินงานปรับปรุงผิวจราจรให้มีความฝืดหรือความต้านทานต่อการลื่นไถล Anti skid ตามผลการวิเคราะห์ของสตง. ซึ่งจากการสุ่มตรวจโครงการที่ดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ รวมถึงสัมภาษณ์ความเห็นผู้เกี่ยวข้อง พบว่า การกำหนดพื้นที่เป้าหมายจุดเสี่ยงในการปรับปรุงผิวจราจรให้มีความฝืดหรือความต้านทานต่อการลื่นไถล หรือที่เรียกว่า Anti skid ของหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง อาจมีความไม่เหมาะสม ข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่หรือจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการยังไม่ครบถ้วน หรือไม่ชัดเจน
ขณะที่รูปแบบการทำเครื่องหมาย อาจไม่เหมาะสม โดยจากการศึกษาพบว่าที่มาของการทำAnti skid มาจากการศึกษาดูงานในต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ในประเทศ ลักษณะงานที่ออกมาในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เช่น ทำเต็มผืนทำเป็นแถบ ซึ่งที่ผ่านมา กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ยังไม่ได้มีการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้ Anti skid หรือความเหมาะสมของลักษณะ/รูปแบบของการทำ Anti skid ซึ่งลักษณะ/รูปแบบของการทำ Anti skid ที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพ ตลอดจนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาที่แตกต่างกันด้วย
เบื้องต้น สตง.เห็นควรให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ควรสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงอันตรายเพื่อนำมาใช้ในการวางแผน กำหนดมาตราการควบคุม ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลทำให้สามารถกำหนดแนวทางการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการจัดทำ Anti skid ให้มีความชัดเจน และเกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลวงเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วพบว่า ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการไปแล้ว ระหว่างปี 2557-2559 จำนวน 717 แห่ง คิดเป็นวงเงิน 1,012.24 ล้านบาท และมีแผนที่จะดำเนินการในช่วงปี 2560 -2562 จำนวน 2,012 แห่ง วงเงิน 3,342 ล้านบาท รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 2,729 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 4,354.83 ล้านบาท ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการไปแล้ว ระหว่างปี 2557-2558 ในพื้นที่ 32 จังหวัด จำนวน 198 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 202.10 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ที่ตัวเลข 4,556.93 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
พื้นที่ไม่เหมาะสม-หวั่นผลาญงบ! สตง.ชี้ผลศึกษาสีทาถนนกันลื่นพันล.ปัญหาเพียบ
4.5พันล.! เปิดเม็ดเงิน'ทล.-ทช.'ทุ่มใช้สีทาถนนกันลื่น-สตง.ลุยสอบปมคุ้มค่า
หมายเหตุ : ภาพผู้ว่าฯ สตง.ประกอบข่าว จาก คมชัดลึก