พื้นที่ไม่เหมาะสม-หวั่นผลาญงบ! สตง.ชี้ผลศึกษาสีทาถนนกันลื่นพันล.ปัญหาเพียบ
เผยผลศึกษาใช้สีทาถนนกันลื่น! สตง.สุ่มตรวจพบปัญหาเพียบ กำหนดจุดเป้าหมายไม่เหมาะสม ขาดการติดตามประเมินผล ที่มาแนวคิดจากการไปดูงานต่างปท. จี้ 2 อธิบดี 'ทล.-ทช.' สำรวจข้อมูลใช้วางแผนการดำเนินงาน หวั่นงบประมาณพันล้านถูกใช้ไม่คุ้มค่า
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลการอำนวยความปลอดภัยโดยใช้สีทาถนนสำหรับกันลื่น ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมทางหลวง (ทล.) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 2557 -ปัจจุบัน ว่า มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่คุ้มค่าเหมาะสมหรือไม่
โดยล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลวงเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วพบว่า ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการไปแล้ว ระหว่างปี 2557-2559 จำนวน 717 แห่ง คิดเป็นวงเงิน 1,012.24 ล้านบาท และมีแผนที่จะดำเนินการในช่วงปี 2560 -2562 จำนวน 2,012 แห่ง วงเงิน 3,342 ล้านบาท รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 2,729 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 4,354.83 ล้านบาท ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการไปแล้ว ระหว่างปี 2557-2558 ในพื้นที่ 32 จังหวัด จำนวน 198 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 202.10 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ที่ตัวเลข 4,556.93 ล้านบาท นั้น
(อ่านประกอบ:4.5พันล.! เปิดเม็ดเงิน'ทล.-ทช.'ทุ่มใช้สีทาถนนกันลื่น-สตง.ลุยสอบปมคุ้มค่า)
แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ก่อนหน้านี้ สตง. ได้สรุปผลการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินงานโครงการนี้ ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทเรียบร้อยแล้ว โดยจากการสุ่มตรวจโครงการที่ดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ รวมถึงสัมภาษณ์ความเห็นผู้เกี่ยวข้องพบว่า การกำหนดพื้นที่เป้าหมายจุดเสี่ยงในการปรับปรุงผิวจราจรให้มีความฝืดหรือความต้านทานต่อการลื่นไถล หรือที่เรียกว่า Anti skid ของหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง อาจมีความไม่เหมาะสม ข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่หรือจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการยังไม่ครบถ้วน หรือไม่ชัดเจน
ขณะที่รูปแบบการทำเครื่องหมาย อาจไม่เหมาะสม โดยจากการศึกษาพบว่าที่มาของการทำAnti skid มาจากการศึกษาดูงานในต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ในประเทศ ลักษณะงานที่ออกมาในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เช่น ทำเต็มผืนทำเป็นแถบ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ยังไม่ได้มีการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้ Anti skid หรือความเหมาะสมของลักษณะ/รูปแบบของการทำ Anti skid ซึ่งลักษณะ/รูปแบบของการทำ Anti skid ที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพ ตลอดจนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาที่แตกต่างกันด้วย
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า จากการสังเกตการณ์ของสตง. ยังพบด้วยว่า หลายพื้นที่ที่พบประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการขาดวินัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก
"กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ควรสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงอันตรายเพื่อนำมาใช้ในการวางแผน กำหนดมาตราการควบคุม ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลทำให้สามารถกำหนดแนวทางการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการจัดทำ Anti skid ให้มีความชัดเจน และเกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ล่าสุด สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิบดีกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้ดำเนินการตามข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินงานปรับปรุงผิวจราจรให้มีความฝืดหรือความต้านทานต่อการลื่นไถล Anti skid ตามผลการวิเคราะห์ดังกล่าวแล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก thairats.com