คุยกับ "ศุภกิจ นันทะวรการ" กังหันลม พลังงานสีเขียว กับการเช่าที่ดิน ส.ป.ก.
แม้ตัวตั้งกังหันลม จะตัวใหญ่แค่ไหน ก็ยังสามารถทำเกษตรกรรมได้ ฉะนั้นเรื่องที่ดิน ผลกระทบในทางวิชาการเรียกว่า ผลกระทบที่ย้อนกลับได้ คือตั้งกังหันลม ถึงเวลาเอาออกก็ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่เหมือนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ขุดถ่านหินขึ้นมา แผ่นดินตรงนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลไม่มีทางย้อนกลับได้
หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตการเช่าที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัท เทพสถิตวินด์ฟาร์ม ในจังหวัดชัยภูมินั้น เนื่องจากเป็นการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายและสุขภาวะ ถึงประเด็นการใช้ที่ดิน กับการทำธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าว่า เรื่องการใช้ที่ดินต้องคิดให้ดี เพราะพลังงานหมุนเวียนมีหลายประเภท พลังงานลมกับพลังงานน้ำค่อนข้างคล้ายกันในแง่ของพื้นที่จะต้องมีศักยภาพ เป็นที่ที่มีลมแรงถึงจะตั้งได้ เช่น ถ้าเป็นภูเขา พื้นที่ป่า หรือพื้นที่เกษตร โดยจะไปตั้งที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะว่า ลมไม่แรงพอ
นายศุภกิจ กล่าวว่า จริงๆในบางประเทศพยายามหาทางออก เช่น เอาไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นไฟฟ้าสีเขียว ให้อุทยานฯ ใช้ ซึ่งอุทยานฯ ใช้ไฟฟ้าไม่เยอะ ซึ่งแบบนี้ก็ไปด้วยกันได้ในเรื่องของผลประโยชน์ ส่วนในเรื่องของการก่อสร้าง ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ได้รับผลกระทบ เชื่อว่า น่าจะจัดการได้ หลายประเทศก็ทำได้
สำหรับผลกระทบของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม นักวิจัยจากมูลนิธินโยบายและสุขภาวะ กล่าวว่า มีน้อยมาก เพราะมีการพูดถึงเรื่องเสียงดัง กังหันลมในต่างประเทศมีผลกระทบในเรื่องของเสียง ก็เลยแก้ปัญหา จนแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ฉะนั้น กังหันลมรุ่นใหม่จะไม่มีปัญหาเรื่องเสียงแล้ว
“ผมเคยไปยืนใต้กังหันลมขนาดใหญ่ ประมาณ 15 ปีที่แล้ว คือไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แค่ได้ยินเสียงใบพัดแหวก อากาศแค่นั้น ฉะนั้นพลังงานลม หรือกังหันลมไม่มีผลกระทบเรื่องเสียง ซึ่งสามารถจัดการได้ ไม่ยากเลย”
ส่วนผลกระทบเรื่องของที่ดิน นายศุภกิจ กล่าวว่า แม้ตัวตั้งกังหันลม จะตัวใหญ่แค่ไหน ก็ยังสามารถทำเกษตรกรรมได้ ในหลายที่หลายประเทศก็ทำกัน เมื่อหมดอายุกังหันลม 25 ปี หรือแม้แต่โครงการมีปัญหา เวลาถอนเสากังหันลมออก ถึงจะตัวใหญ่มาก พื้นที่ดินจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย สามารถจะดำเนินการได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเรื่องที่ดิน ผลกระทบในทางวิชาการเรียกว่า ผลกระทบที่ย้อนกลับได้ คือตั้งกังหันลม ถึงเวลาเอาออกก็ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่เหมือนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ขุดถ่านหินขึ้นมา แผ่นดินตรงนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลไม่มีทางย้อนกลับได้ แต่กังหันลมกับที่ดินจริงๆ จัดการได้
เมื่อถามถึงคำพิพากษาของศาลเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. มีเรื่องที่ว่าเกษตรกรต้องได้ประโยชน์โดยตรง โครงการกังหันลมเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์โดยตรงนั้น นายศุภกิจ ได้ยกตัวอย่างดีๆในหลายประเทศ ให้ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ เป็นเจ้าของกังหันลม แค่นี้สหกรณ์และชาวบ้านสามารถมีรายได้จากกังหันลมในการขายไฟฟ้า หากชาวบ้านไม่เป็นเจ้าของหมดร้อยเปอร์เซ็น คือ การให้ชาวบ้านร่วมถือหุ้น ร่วมเป็นเจ้าของกังหันลม ทุกปีก็จะได้มีกำไร แต่ในประเทศไทยด้วยนโยบายของการพัฒนาทำให้พลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่ เช่น กังหันลมผลิตไฟฟ้าก็เป็นของเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเอกชนก็อ้างเรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ แต่ศาลพิพากษาว่า ไม่ใช่ ดังนั้นถ้าพูดถึงการให้ชาวบ้านรวมเป็นเจ้าของและได้ประโยชน์โดยตรง จริงๆฝ่ายชุมชน ฝ่ายประชาสังคมเสนอเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการ พอมาถึงวันนี้มีคำพิพากษออกมาแบบนี้ เรื่องของกังหันลม จึงเป็นที่น่าเสียดาย
นายศุภกิจ แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า การที่ชาวบ้านรวมกันเป็นสหกรณ์และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตัวอย่างจากประเทศเดนมาร์ก ทำให้ชุมชนการเกษตรสามารถดำรงชีวิตเป็นเกษตรกรต่อได้ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเดนมาร์กที่ชาวบ้านทำการเกษตร ยุคหนึ่งการเกษตรของเดนมาร์กก็แข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ ชุมชนเกษตรทั้งภูมิภาคกำลังจะสูญหาย เพราะการเกษตรไปไม่รอด คนอพยพออก ปรากฏว่า มีลมดีจากนโยบายรัฐบาลเอื้อสนับสนุนพนักงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ และไม่ได้สนับสนุนเฉพาะเอกชนเป็นหลักเหมือนประเทศไทย แต่สนับสนุนชุมชนด้วย ให้มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์และเป็นเจ้าของกังหันลม กู้เงินธนาคารได้ ด้วยนโยบายรัฐสนับสนุน ปรากฏว่า รายได้หลักของภูมิภาคนั้นมาจากกังหันลม ทำให้ใช้ชีวิตเกษตรกรต่อได้ ดังนั้น กังหันลมผลิตไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนเกษตรไม่ล่มสลายไป
“คนไทยมีโอกาสดี แต่ว่ายังไม่ผลักดันนโยบายให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและได้ประโยชน์โดยตรง ทำให้นโยบายแบบนี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พลิกพื้นที่เกษตรเนรมิตสู่ ‘ทุ่งกังหัน’ สร้างพลังงาน สร้างชุมชน
นักวิจัยพลังงานเผย เขายายเที่ยงพื้นที่สุดยอดศักยภาพพลังงานลม