- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกพื้นที่เกษตรเนรมิตสู่ ‘ทุ่งกังหัน’ สร้างพลังงาน สร้างชุมชน
พลิกพื้นที่เกษตรเนรมิตสู่ ‘ทุ่งกังหัน’ สร้างพลังงาน สร้างชุมชน
ห่างออกไปจากกรุงเทพมหานครเพียง 257 กิโลเมตร เข้าสู่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยต้นหญ้าและพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร แต่ใครจะรู้ว่าพื้นที่ทางเกษตรนี้จะกลายมาเป็นทุ่งกังหันลมแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีนในภูมิภาคเอเชีย
ในอดีตชาวบ้านด่านขุนทดขนานนามให้สถานที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สีแดง ชุกชุมเรื่องยาเสพติด หากแต่วันนี้พื้นที่เหล่านี้กำลังถูกปัดฝุ่นจากการก่อกำเนิดโครงการกังหันลม
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารกสิกรไทยพาผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าของโครงการกังหันลมที่ตำบลห้วยบง สิ่งที่เห็นได้ชัดนอกเหนือจากกังหันลมที่ตั้งตระหง่านกว่า 90 ต้น บนพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านแล้ว สิ่งที่เติบโตตาม 2 ข้างทาง คือ ธุรกิจร้านกาแฟ และรีสอร์ทที่เริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากโครงการนี้เกิดขึ้นเพียงไม่นาน
ตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอด้านขุนทดรายหนึ่ง เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า เขายอมรับว่าชาวบ้านมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตั้งแต่โครงการนี้เริ่มเกิดขึ้น จากที่เคยเป็นพื้นที่มีการซื้อขายยาเสพติดไม่มีใครกล้าสัญจรในช่วงดึกๆ ขณะนี้ปัญหาเรื่องนี้แทบไม่มี ถึงแม้ที่ผ่านมาเรายังจะไม่เจอปัญหาอะไรจากโครงการ แต่ชาวบ้านหลายคนยังคงค้างคาใจคือการพัดของตัวกังหันจะสร้างความแห้งแล้งให้ผิวดิน และส่งผลต่อการเพาะปลูกของชาวบ้านหรือไม่
รวมทั้งการช่วยเหลือชุมชมหรือการเข้ามาดูแลจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวนั้น บริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการธุรกิจบนพื้นที่การเกษตรจะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร
นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนอยากรู้ แม้ในตอนนี้ชาวบ้านได้รับความสะดวกในเรื่องถนนหนทางที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มเติมจากการเช่าพื้นที่ในการเป็นฐานตั้งกังหันลม
ทันทีที่เสียงสะท้อนจากชาวบ้านส่งถึงนายโชติชัย เอื้อวิเศษวงศ์ ผู้จัดการส่วนความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เขาจึงพยายามยืนยันกับชาวบ้านอีกครั้งว่า ตัวกังหันลมจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ทั้งสินต่อพื้นที่เพะปลูกทางการเกษตรของชาวบ้าน ทั้งนี้ในหลายๆประเทศที่ผลิตพลังงานจากกังหันลมศึกษาผลกระทบต่อพื้นที่ก็ยังไม่มีรายงานหรือวิจัยชิ้นใดที่บ่งบอกว่า ตัวกังหันลมจะสร้างความเสียหายต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน พร้อมทั้งยืนยันว่า พลังงานทางเลือกจากกังหันลม ถือเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดประเภทหนึ่งก็ว่าได้
“เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจพลังงานทางเลือกจะโตขึ้น เหมือนกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ที่เมื่อก่อนต้นทุนในการผลิตสูงแต่ในขณะนี้ถูกลง เชื่อว่าในอนาคตต้นทุนของกังหันลมก็อาจจะถูกลงเช่นกัน”
นายโชติชัย บอกว่า ทางบริษัทพยายามที่ทำโครงการร่วมกับชุมชมอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว โดยยกตัวอย่างของการเลือกที่จะเช่าพื้นที่ของชาวบ้านแทนการกว้านซื้อที่ดินมาครอบครอง โดยเห็นว่า อย่างน้อยในหนึ่งปีชาวบ้านที่ให้ทางบริษัทเช่าพื้นที่จะมีรายได้ไร่ละ 35,000 บาทต่อปี ซึ่งชาวบ้านก็จะมีที่ดินในการทำการเกษตรได้ต่อไป เพียงแต่ค่าเช่าเป็นการการันตีว่าอย่างน้อยหนึ่งปีจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 35,000 บาท ซึ่งเราเช่านานถึง25 ปี
เมื่อถามถึงงปัญหาของโครงการ เขาชี้ไปที่ปัญหาเรื่องการเผาหญ้าของชาวบ้าน “เราเข้าใจว่าคือวิถีชีวิตเพราะว่าชาวบ้านบอกว่าเผาแล้วบริเวณนั้นจะมีเห็ดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือการทำความเข้าใจแล้วก็ขอความร่วมมือกับชาวบ้าน เพราะว่า ถ้ามีควันเข้าไปในตัวเครื่องเครื่องจะเสีย ดังนั้นเราจึงต้องทำป้ายมาติดไว้ คือที่ผ่านมายังไม่เคยเจอนะ แต่เราก็ต้องขอความร่วมมือไว้ก่อน เพราะต้นทุนกังหัน1 ต้นค่อนข้างแพง”
สำหรับปัญหาในด้านอื่นๆเรื่องเสียงของกันหันลม ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชาวบ้านเท่าไหร่ เพราะไม่มีเสียง และที่ผ่านมานอกจากความกังวลเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ชาวบ้านก็ยังไม่ได้สะท้อนมีปัญหาอะไรมาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ พยายามเข้าไปอบรมและให้ความรู้ส่งเสริมการบริหารหมู่บ้าน การใช้พลังงาน เพื่อให้ในอนาคตชาวบ้านทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้
ขณะที่ นายระพี พะวันรัมย์ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงไฟฟ้าพลังงานลม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปี ก่อน ก่อนจะดำเนินการติดตั้งกังหันลม ได้มีการศึกษาศักยภาพและเก็บข้อมูลอัตราความเร็วของลมตั้งแต่ปี 2551 กระทั่ง พบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีอัตราความเร็วของลมค่อนข้างคงทีและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างมีศักยภาพ ดังนั้นจะไม่มีปัญหาในเรื่องความเร็วลม
เมื่อมาดูตัวตัวกังหันลมที่เลือกใช้ ก็เป็นกังหันที่นำเข้าจากบริษัทซีเมนส์ รุ่น SWT-2.3-101 เสามีความสูง 99.5 เมตร ใบพัดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 101 เมตร น้ำหนักรวม 423.4 ตัน และมีสถานีย่อย รับกระแสไฟฟ้าเชื่อมกับโครงการสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนอายุการใช้งานมีระยะเวลาประมาณ 25-30 ปี การควบคุมตัวกังหันจะดูแลผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว
เขาอธิบายด้วยว่า ช่วงเวลากลางคืนในพื้นที่นี้จะมียามขับรถเข้ามาตรวจตลอดเวลา นอกเหนือจากดูแลอุปกรณ์ของตัวกังหัน ก็เหมือนกับการดูพื้นที่ให้กับชาวบ้านไปในตัวด้วย
ด้านมร.แฟรงค์ โฮเจอร์สเลฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ยืนยันถึงความคุ้มค่าของพลังงานลมว่า ภายหลังจากติดตั้งกังหันลมภายใต้โครงการเวสห้วยบง 2 และ 3 สามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงน้ำมัน เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 96.4 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,040 ล้านบาท และจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด จึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 270,176 ตันต่อปี
และนี่คืออีกหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างของการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ตั้งอยู่บนความรับผิดชอบ เลือกสรรเทคโนโลยีได้เหมาสม รวมถึงไม่ละเลยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นที่มีมาแต่เดิม