กฎหมาย กฎ (ด) สื่อ คุ้มครอง หรือควบคุม
เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ มีคนพยายามให้เท่ากับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหมอ ทนายความ แต่ใบอนุญาตหรือการสอบเข้าได้ ไม่ได้การันตีคุณภาพ ถามว่า วิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาต เราไว้ใจเขาได้จริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนาเรื่อง กฎหมาย กฎ (ด) สื่อ คุ้มครอง หรือควบคุม ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีนักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ร่วมพูดคุย ถึงประเด็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถ่ายทอดผ่านเพจ Facebook PPTV
กฎหมายที่ใส่พานให้นักการเมือง
นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า ร่างกฎหมายมีหลายเวอร์ชั่นมากจนเราแทบตามไม่ทัน
นายเทพชัย กล่าวถึงกลไกการให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คอยกำกับดูแลสื่อมวลชนในกฎหมายฉบับนี้นั้น กลับไม่ใช่สภาวิชาชีพในรูปแบบ หรือความหมายที่ควรจะเป็น ซึ่งบทบาทสื่อมวลชนกับอำนาจรัฐต้องแยกกันอย่างสิ้นเชิง เพราะบทบาทสื่อคือการตรวจสอบอำนาจรัฐ หากสภาวิชาชีพมีอำนาจรัฐเข้าแทรกแซงได้ จะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือและความเป็นกลาง
“อย่าลืมว่าอำนาจสภาวิชาชีพ คือให้ หรือถอนใบอนุญาตสื่อ สามารถชี้ได้ใครเป็นสื่อมวลชน ถือว่ามีอำนาจสูงมาก โดยเฉพาะสภาวิชาชีพจะมีรายได้ที่กระทรวงการคลังจัดสรรให้อย่างน้อย 100 ล้านบาท จึงเป็นองค์กรที่มีทั้งอำนาจเงินและอำนาจในการกำกับ” นายเทพชัย กล่าว และเชื่อว่า วันนี้มีคนฟังเสียงท้วงติงอยู่ แต่ก็คนที่พยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ด้วยมีความเชื่ออย่างคับแคบว่า การควบคุมกำกับสื่อเท่านั้นจะทำให้สื่อมีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว คิดว่า ไม่จำเป็นเลยต้องมีกฎหมายฉบับนี้
“แต่กฎหมายฉบับนี้ หากผ่าน และมีผลบังคับใช้ คาดว่าไปเอื้อรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง เป็นกฎหมายที่นักการเมืองอยากได้มาก ซึ่งหากอยู่ในสภาวการณ์ปกติไม่มีทางที่สภาฯ จะผ่านแน่นอน ผมจึงมองเป็นกฎหมายที่ใส่พานให้นักการเมืองที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับมามีอำนาจ”
ขณะที่รศ.จุมพล รอดคำดี อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สื่อทำหน้าที่รายงานและแสวงหาข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ นี่คือหน้าที่และบทบาท แต่ที่ผ่านมาต้องปฏิรูปสื่อ ก็ด้วยเหตุผลหลายอย่าง คือการทำงานของสื่อเองที่มีการทำงานขาดความรับผิดชอบ ไม่อยู่ ในจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อ มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร จนเกิดความรุนแรง หากเราเห็นอย่างที่เขาอ้าง ก็มีความจริงบางส่วน แต่เมื่อจะมีการปฏิรูปสื่อ ก็มองถึงความอิสระและเสรีภาพสื่อ ภายใต้จริยธรรมของสื่อที่เขียนขึ้นมา หมายความว่า สิทธิเสรีภาพต้องอยู่บนความรับผิดชอบ
“ปัญหาที่ผ่านมาสภาวิชาชีพสื่อ บางครั้งไม่สามารถควบคุมสมาชิกของตนเองได้ ปล่อยให้สมาชิกทำละเมิด ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ส่วนหนึ่งองค์กรสื่อบางครั้งเมื่อละเมิด ไม่ทำตามจริยธรรมยังฝ่าฝืน ส่งเสริมคนละเมิดอีก ฉะนั้นจึงมีแนวคิดมีอะไรมากำกับสภาวิชาชีพ เพื่อให้สามารถทำงานเกิดผลเรื่องการดูแลสมาชิก ทำให้สังคมไม่มั่นใจในการทำงานของสื่อ”
รศ.จุมพล กล่าวว่า เราต้องยอมรับยังมีคนทำงานสื่อไม่เข้าหลักการความอิสระและเสรีภาพเลย เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของการให้มีสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ไม่ใช่การควบคุม แต่ช่วยพัฒนาวิชาชีพ พัฒนาคน ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะต้องการควบคุม ส่วนการจดทะเบียนฯ ก็แค่ให้สื่อมีสังกัดชัดเจน แสดงตนอยู่สังกัดไหน ไม่ใช่มาแบบลอยๆ สำหรับนักข่าวอิสระ สภาวิชาชีพฯ จะช่วยดูแลว่าได้ทำงานตามจริยธรรมหรือไม่
ด้าน นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นออกใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงโครงสร้าง 4 ปลัดกระทรวง เป็นประเด็นที่มีการท้วงติงค่อนข้างมาก ทำให้องค์กรสื่อต้องออกมาคัดค้าน และให้ข้อมูลทำความเข้าใจให้กับสังคม
เงิน จุดอ่อนของสื่อ
ส่วนรศ.มาลี บุญศิริพันธ์ อดีตคณบดีวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ. นี้มีความสำคัญที่ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยหลักการสื่อ มีหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน หากสื่อไม่สามารถจะตรวจสอบได้ ก็จะเกิดประเด็นปิดหูปิดตาประชาชน
“สื่อมวลชนคือช่องทางที่จะให้ข้อมูล จึงต้องมีเสรีภาพ หลักการ และความรับผิดชอบ จริยธรรม แต่กฎหมายฉบับนี้ มีประเด็นที่น่าคิด คือ อ่านกฎหมายแล้ว ตั้งมาทำไม ทำไมต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนฯ เพราะคณะกรรมการมาจากภาครัฐ อะไรก็ตามที่ภาครัฐเข้ามาเกี่ยวโยงกับสื่อ นั่นหมายความว่า เสรีภาพของสื่อเริ่มมีความเกรงใจ วัฒนธรรมเกรงใจ สื่อไม่สามารถที่จะทำงานเต็มที่”
รศ.มาลี กล่าวถึงคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวง เราเอาเขามานั่งเพื่อให้สนับสนุนเงินให้สื่อ ถ้าสื่อมีคนส่งเงินมาให้ สื่อเริ่มเกรงใจ ทำงานได้ไม่เต็มที่ ยิ่งเป็นเงินภาครัฐ ซึ่งเป็นภาษีประชาชน การทำงานก็จะถูกผูกมัด เสรีภาพไม่เกิด
"ตรงนี้ สื่อต้องการเงินจำนวนนี้หรือไม่ หากเราต้องการเราคงไม่ลุกขึ้นมาโวยวายขณะนี้ แต่ เมื่อใช้คำว่า เพื่อเป็นสวัสดิการ" นี่คือ จุดอ่อนของสื่อ” รศ.มาลี กล่าว พร้อมกับตั้งข้อสงสัยเอาคนไอซีทีมาทำไม 2 คน หรือกระทรวงวัฒนธรรม เกี่ยวกับวัฒนธรรมตรงไหน เสรีภาพสื่อ
ประเด็นงบประมาณ 100 ล้านเพื่อตั้งสภาวิชาชีพฯ รศ.มาลี กล่าวว่า ตรงนี้เป็นการล่อ ทำให้เป็นโครงสร้างที่แข็งกระด่าง ฉะนั้นคนที่ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่สื่อ และไม่รู้ว่าสื่อทำงานกันอย่างไร สังคมอันตรายมากหากเป็นแบบนี้
“สื่อในวันนี้มีองค์กรวิชาชีพที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวฯ ต้องให้เขาจัดการกันเอง แค่ขอให้ใครก็ตามเข้ามาสู่อาชีพนี้ ต้องเป็นสมาชิกองค์กรสื่อที่มีอยู่แล้ว รวมถึงทำองค์กรที่มีอยู่แล้วให้เข็มแข็ง ส่งเสริมกำกับดูแลให้ชัดเจน ปัญหาการกำกับ จริยธรรม เราไม่มีอำนาจบังคับให้ทุกคนเป็นสมาชิกได้ เมื่อมีการละเมิดเขาก็ลาออก จบ” รศ.มาลี กล่าว และว่า เรื่องการถอนใบอนุญาต เป็นเรื่องที่เชยมาก มีพ.ร.บ. จดแจ้งฯ มีอยู่แล้ว ไปเอาอันนี้ขึ้นมาทำไม เป็นการซ้ำซ้อน
ขณะที่ รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงในส่วนของโครงสร้าง กระบวนการกำกับดูแลและผู้มีอำนาจที่ข้อง ในร่าง พ.ร.บ.นี้ มีลักษณะกฎหมายมีการให้อำนาจรัฐเข้ามามีอิทธิพลในการกำกับดูแลสื่อจนเกินไป เนื่องจากว่า เดิมนั้นรัฐก็มีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของสื่อโดยกฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.การจดแจ้งการพิมพ์ ที่ต้องขึ้นตรงกับรัฐอยู่แล้ว หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก มองว่าจะทำให้เกิดการซ้อนทับอำนาจหน้าที่และมีอิทธิพลในสื่อมากจนเกินไป
“คนอยู่เบื้องหลังการร่างกฎหมายนี้ ไม่เข้าใจอิทธิพลของสื่อวันนี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว มันกระจายไปหมดแล้ว ไม่ได้กำหนดการรับรู้ความเป็นไปเหมือนแต่ก่อน โจทย์สำคัญวันนี้ ทำอย่างไรให้ผู้ใช้สื่อ ผู้เสพสื่อมีความรับผิดชอบมากกว่า” รศ.ดร.พิงรงรอง กล่าว
ฉะเป็นการรัฐประหารสื่อ เวอร์ชั่นอ้างสิทธิเสรีภาพ
ขณะที่นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่บังคับใช้กับสื่อรัฐเลย มาตราที่เป็นปัญหามากสุด คือมาตรา 41 สัดส่วนคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ ทั้งสัดส่วนและการคัดเลือก มองว่า ไม่แฟร์ และมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ให้กรรมการมีสิทธิรับจดแจ้ง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถือว่า ไม่ใช้หลักการตรวจสอบสื่อ แต่เป็นเผด็จการ “ผมจึงมองเป็นการรัฐประหารสื่อ เวอร์ชั่นอ้างสิทธิเสรีภาพ”
นายธาม ยังแสดงความเป็นเรื่องโทษทางปกครองในกฎหมายฉบับนี้ เอาระบบข้าราชการมาบังคับใช้ เขียนไปเขียนมาทำให้สาระสำคัญคุ้มครองเสรีภาพสื่อ มีปัญหา
สุดท้ายรศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ มีคนพยายามให้เท่ากับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหมอ ทนายความ แต่ใบอนุญาตหรือการสอบเข้าได้ ไม่ได้การันตีคุณภาพ ถามว่า วิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาต เราไว้ใจเขาได้จริงหรือไม่
“การจะออกกฎหมายฉบับนี้ เหมือนการยัดไส้นาทีสุดท้าย สุดท้ายมีธงที่ยากได้ เหมือนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปลายปี 2559 จำกัดสิทธิเสรีภาพมาก ซึ่งองค์กรวิชาชีพ วงวิชาการต้องจับมือกันทำงาน และให้มีการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง”
อ่านประกอบ:
เทียบวินมอเตอร์ไซค์! ไอเดีย ปธ.กมธ. ปฏิรูปสื่อ สปท. ดัน กม.คุมสื่อ-ถูกต้านแรง?
โชว์หนังสือ-เหตุผล 4 ตัวแทนสื่อ ลาออกอนุฯ กมธ. ปฎิรูปสื่อสปท. ค้าน 'กม.คุมสื่อ'