- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เทียบวินมอเตอร์ไซค์! ไอเดีย ปธ.กมธ. ปฏิรูปสื่อ สปท. ดัน กม.คุมสื่อ-ถูกต้านแรง?
เทียบวินมอเตอร์ไซค์! ไอเดีย ปธ.กมธ. ปฏิรูปสื่อ สปท. ดัน กม.คุมสื่อ-ถูกต้านแรง?
“ที่สำคัญการออกกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่า ‘ควบคุมสื่อ’ ในยุคที่รัฐบาลทหารยังคงเรืองอำนาจอยู่ แม้องค์กรวิชาชีพหลายแห่งจะมองว่า อาจทำให้รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองแทรกแซงก็ตาม แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลทหารในขณะนี้ จะไม่ใช้กฎหมายฉบับนี้แทรกแซงสื่อ ?”
นับเป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อแสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรง !
กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชัน ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ให้กับรัฐบาล นัยว่า จะพัฒนา และปฏิรูปวงการสื่อสารมวลชนให้พัฒนาทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
โดยเฉพาะการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยให้ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องทำใบอนุญาต และหากทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง อาจถึงขั้นถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพดังกล่าว
เพราะที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทำผิดจริยธรรมซ้ำซาก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม มีสื่อมวลชนบางคนเปลี่ยนชื่อแส้แล้วกลับมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เรื่อยมา ?
ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่สะเทือนถึงบรรดาองค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอีก 30 องค์กร รวมตัวคัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวของ สปท. ซึ่งมีความเห็นโดยรวม เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อ
นอกจากนี้ 4 ตัวแทนสื่อมวลชนในคณะอนุ กมธ.การสื่อสารมวลชน สปท. ‘ไขก๊อก’ พ้นตำแหน่งเก้าอี้ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปสื่อดังกล่าว นอกจากนี้เนื้อหาในชั้นพิจารณาของคณะอนุ กมธ. แตกต่างกับเนื้อหาในชั้น กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สปท. อย่างมีสาระสำคัญ
(อ่านประกอบ : 4 ตัวแทนสื่อ ยื่นจม.ลาออกจากอนุกมธ.ปฏิรูปด้านสื่อฯ ค้านกม."คณิต", 30 องค์กรวิชาชีพ รวมพลังค้านร่างกม. หวั่นเปิดช่องให้อำนาจรัฐคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ)
อย่างไรก็ดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ทำความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ โดยสมควรให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีใบอนุญาต รวมถึงต้องลงทะเบียนในรูปแบบคล้ายซิมโทรศัพท์มือถือ โดยเก็บเป็นฐานข้อมูลลับ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
(อ่านประกอบ : ทำผิดซ้ำซาก! ปธ.กมธ.ปฏิรูปสื่อยันต้องมีใบอนุญาต-ลงทะเบียนแบบซิมมือถือ)
แต่ไม่ใช่แค่ประเด็นต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีใบอนุญาต หรือเก็บข้อมูลสื่อมวลชนในรูปแบบซิมโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
พล.อ.อ.คณิต ยังมีความเห็นอีกหลายประเด็น ที่มีสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปไว้ ดังนี้
@กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรม
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีแนวคิดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลในด้านคุณธรรม จริยธรรม แนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ มีกระบวนการร้องเรียนอย่างเป็นระบบ บทลงโทษที่ชัดเจนแน่นอน มีสภาพบังคับที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องบุคคลและองค์กร
พล.อ.อ.คณิต ระบุว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่เรื่องนี้ได้พูดกันมานานอย่างเป็นนามธรรม ยังไม่มีอะไรกำหนด ทั้งเนื้อหา วิธีการ มาตรา ฯลฯ และเงื่อนเวลาว่า กี่วัน กี่ปี จะดำเนินการแล้วเสร็จ พูดคุยสัมมนากันหลายโอกาส หลายเวลา แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ดังนั้นควรพิจารณาให้มีวิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าพูดเป็นนามธรรมแล้วไม่มีสภาพบังคับ
@ตั้งคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชน
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีแนวคิดในหมวดว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เช่น มีการตั้งองค์กร มีการรวมกลุ่มและกำกับกันเอง กำหนดรูปแบบให้เป็นมาตรฐาน และในส่วนคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน เช่น ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กร มีมาตรฐานข้อกำหนด หรือแนวทาง
พล.อ.อ.คณิต เสริมว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นหลักการที่ดี และได้พูดคุยกันมานาน ควรกำหนดให้เป็นรูปธรรมเพื่อปฏิบัติได้มากกว่าการพูดกันแต่หลักการ แล้วก็ไม่ได้ดำเนินการไปที่ไหน อย่างไร
@เปิดช่ององค์กรอิสระมาสรรหา/คัดเลือก กก.องค์กร
พล.อ.อ.คณิต เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้น้ำหนักและความสำคัญในเรื่องความโปร่งใสอย่างมาก ดังนั้นควรเร่งดำเนินการออกแบบ และควรนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะทั่วประเทศ ทุกภาคส่วน ตามมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และควรให้องค์กรอิสระต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น คณะกรรมการตรวจราชการแผ่นดิน หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามามีส่วนร่วม และควรทำประชาพิจารณ์
@ย้ำชัดสื่อต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ประเด็นนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีแนวคิดว่า ไม่ควรกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ควรกำหนดมาตรการให้บุคคลนั้นเข้าเป็นสมาชิกองค์กร
อย่างไรก็ดี พล.อ.อ.คณิต ยืนยันว่า มาตรฐานสากล ที่การประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งมีหน่วยงานมากำกับ กำหนดเป็นใบอนุญาต ใบประกอบโรคศิลป์ ยิ่งทำให้เกิดการยอมรับ น่าเชื่อถือ เป็นหลักประกันของนายจ้าง และลูกจ้าง ดังนั้นนี่คือหลักนิยมสากล โดยยกตัวอย่างอาชีพที่ใช้ใบประกอบวิชาชีพในประเทศไทย ได้แก่ แพทย์ นักกฎหมาย นักบิน หรือการเปรียบเทียบกับการมีใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ (รถยนต์สาธารณะ) อาชีพโฆษก/ผู้ประกาศ อาชีพหมอนวดแผนไทย อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ควรที่จะต้องมีกระบวนการ หลักการ วิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพ/ใบอนุญาต ในรูปแบบต่าง ๆ จะกำหนด ควบคุม กำกับกันอย่างไรตามความเหมาะสม
“ในเรื่องนี้ ขอเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นสาธารณะว่า ควรมีใบอนุญาตหรือไม่อย่างไร การที่มีกลุ่มบุคคลอ้างว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้น กระผมขอเห็นต่างว่า นั่นคือสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความเห็นอย่างอิสระ ไม่ใช่การเข้ามาประกอบวิชาชีพที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในเวลาราชการและนอกเวลา อันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ต้องเคารพ ต้องแยกออกจากกัน และเป็นคนละประเด็น”
@จับสื่อลงทะเบียนเหมือนซิมมือถือ เก็บไว้ในคลังข้อมูลลับ
ในประเด็นบทกำหนดโทษ พล.อ.อ.คณิต ระบุว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการบัญญัติสรุปได้ว่า หากมีการกระทำผิด หรือฝ่าฝืนจริยธรรม จะต้องถูกตรวจสอบ และให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เห็นว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เหมือนกับภาวะอากาศในประเทศไทย คือ แล้งซ้ำซาก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ยาวนาน เรื่องสมาชิก/สื่อมวลชนกระทำผิดในอดีต หลายครั้งที่เมื่อได้ข้อยุติว่าผิด แต่สมาชิกลาออกจากสมาคม/สมาพันธ์ ทำให้ขาดสภาพบังคับ หลังจากนั้นอาจจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล แล้ววนเวียนเป็นปัญหาอยู่ในอาชีพนี้อีก ดังนั้นจึงควรกำหนดวิธีการ/สร้างกลไกขึ้นมาเพื่อให้เหมือนวิชาชีพอื่น ๆ คือ ใบประกอบวิชาชีพหรือใบอนุญาต แล้วมีสภาพบังคับให้ต้องเลิกอาชีพนี้แล้ว ไปทำมาหากินอย่างอื่น อันจะเป็นตัวอย่างให้สื่อมวลชนที่ดีรักษาความดีงามอยู่ในอาชีพนี้ได้
พล.อ.อ.คณิต เสนอว่า ควรกำหนดหลักสูตรระยะสั้น/ยาว เกี่ยวกับอาชีพสื่อสารมวลชน แขนงต่าง ๆ ให้มีความรักชาติ รับผิดชอบต่อหน้าที่ อาชีพ และจริยธรรม และสื่อมวลชนทุกคน ทุกแขนง ต้องมีใบอนุญาต มีหมายเลขกำกับ (เหมือนซื้อ SIM มือถือ ต้องลงทะเบียน ชื่อ ที่อยู่) รวบรวมอยู่ในฐานข้อมูล (Big Data) ของสภาวิชาชีพอย่างเป็นความลับ ในกรณีที่กระทำผิดสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงในกรณีที่สภาวิชาชีพ หรือศาล ตัดสินว่าผิด ขาดจริยธรรม ต้องถูกยึดใบอนุญาต และไม่สามารถกลับเข้ามาในธุรกิจนี้ได้อีกอย่างน้อย 15 ปี
@องค์กรสื่อต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น-ควรมีใบรับรองประกอบวิชาชีพด้วย
ประเด็นนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีแนวคิดนิยามคำว่า ‘องค์กรสื่อมวลชน’ หมายความว่า คณะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคล หรือไม่ก็ตาม หรือผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ฯลฯ
พล.อ.อ.คณิต เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาประมาณ 2-3 เดือน มี 5 กลุ่ม ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อฯ ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยยื่นต่อประธาน กมธ.ด้านสื่อสารมวลชน สปท. โดยเสนอแนะในหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและนำมาหาหนทางแก้ไข คือ เรื่องการเป็น-ไม่เป็นนิติบุคคล ข้อดีของการเป็นนิติบุคคล คือ ต้องมีเอกสาร หลักฐานที่จำเป็น และสำคัญในการเป็นตัวตน ไปจดทะเบียนต่อกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ถูกกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ เกิดความโปร่งใส มีสภาพบังคับที่ชัดเจนเป็นที่ทราบ-เข้าใจกันในสาธารณะวงกว้าง
ส่วนคณะบุคคลที่ไม่เป็นนิติบุคคลนั้น เป็นนามธรรม กว้างเกินไป สถานะทางกฎหมายไม่มี ตรวจสอบยาก ย้ายกลุ่มไปมาได้ง่าย สังคมสับสน เกิดความคลางแคลงใจ เข้าใจผิดได้ ดังนั้นองค์กรสื่อมวลชนต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาในอดีตได้
ส่วนประเด็น “ใบรับรองสมาชิก” พ.ร.บ.ฉบับนี้ นิยามว่า ใบรับรองซึ่งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ออกให้แก่องค์การวิชาชีพฯ โดยระบุเบื้องต้น เช่น มีกี่ประเภท สามัญ-วิสามัญ อายุใบรับรองกี่ปี การสิ้นสภาพในกรณีต่ออายุ เป็นต้น
พล.อ.อ.คณิต เห็นว่า ควรมีใบรับรองหรือใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละคนในธุรกิจนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอาชีพอื่น ๆ ที่เคยกล่าวแล้วนั้น เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ หมดนวดแผนไทย เป็นต้น
@แก้สมาชิกสภาวิชาชีพฯชงเรื่องโหวตใช้เสียง 1/3-1/4 จากเดิม 2/3
สำหรับสมาชิกสภาวิชาชีพนั้น หาต้องการเสนอเรื่องให้แก่ที่ประชุมใหญ่พิจารณา จะต้องร่วมกันสองในสาม หรือ 66.6% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (ครบจำนวนคือ 11 คน) เสนอให้พิจารณาเรื่องใด เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์/อำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพ
พล.อ.อ.คณิต เห็นว่า การเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณานั้น ขณะนี้กำหนดไว้สองในสาม หรือ 66.6% ย่อมเสนอได้ยาก เพราะการจะรวมกลุ่มกันของสมาชิกให้ได้นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ประกอบกับกรรมการสภาวิชาชีพมี 11 คน 6 คน มาจากการเลือกกันเอง ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ 5 คนนั้น ดูในเบื้องต้นแล้ว น่าจะออกคะแนนเสียง (Vote) แพ้ตลอด และเป็นที่มาของการลาออก ทำให้การบริหารงานขลุกขลัก งานไม่เดิน แต่เงินค่าตอบแทนรับเต็มจำนวนเหมือนเดิมทุก ๆ เดือน/ทุก ๆ ครั้ง ที่รับเบี้ยประชุม ฯลฯ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนตัวเลขให้สามารถเสนอปัญหาได้ง่ายขึ้นเป็น หนึ่งในสาม (33.3%) หรือหนึ่งในสี่ (25%) รวมทั้งควรเผยแพร่ผลการประชุมของสภาวิชาชีพแก่สาธารณชนในวันเดียวกับการประชุมด้วย
@ให้มีตำรวจเป็น กก.สรรหา-ดูแลสื่อภาคประชาชน
ทั้งนี้ในบทเฉพาะ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังเสนอให้มีคณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชน ซึ่ง พล.อ.อ.คณิต มีท่าทีสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างมาก อย่างไรก็ดีขอเสนอให้มีบุคลากรจากภาคส่วนราชการ และ/หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เช่น จเรตำรวจ เข้ามาเป็นคณะกรรมการในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความรอบคอบ หลากหลาย และเป็นการถ่วงดุลอำนาจด้วย โดยมีข้อเสนอว่า ควรมีผู้แทนถาวรจาก สตง. สตช. และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ทั้งหมดคือความเห็นบางส่วนของ พล.อ.อ.คณิต ที่มีข้อเสนอแนะไปยัง กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้ปรับปรุงและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้เกิดขึ้นได้จริง การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม กำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ถูกจับตา และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด นั่นคือการ ‘บังคับ’ ให้สื่อมวลชนจำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่อาจขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตย ที่ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์โฆษณา หรือสื่อความหมาย ทั้งที่บทบาทวิชาชีพสื่อนั้นควรมีเสรีภาพในการนำเสนอ และแสดงบทบาทการทำหน้าที่ ดังนั้นหากมีการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน อาจส่งผลทำลายต่อหลักการสิทธิและเสรีภาพสื่อได้
แม้ พล.อ.อ.คณิต จะอ้างว่า สื่อมวลชนจำเป็นต้องมี เพราะการนำเสนอความเห็นบางอย่างอาจเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความเห็นอย่างอิสระ ไม่ใช่การเข้ามาประกอบวิชาชีพที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นก็ตาม แต่ปัจจุบันในโลกที่เปลี่ยนไป ใครก็สามารถรายงานเหตุการณ์ที่เห็นตรงหน้าได้ หากมีการรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือข้อมูลผิดพลาด หรือมีการดูหมิ่นเกลียดชัง สามารถฟ้องร้องตามกฎหมายอาญาได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาครอบไว้อีก ซึ่งสามารถฟ้องร้องได้ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนอิสระ หรือสื่อมวลชนที่มีต้นสังกัดก็ตาม
นอกจากนี้การต้องลงทะเบียนสื่อมวลชน หรือที่ พล.อ.อ.คณิต ระบุว่า เก็บข้อมูลไว้ในรูปแบบซิมโทรศัพท์มือถือ แม้จะอ้างว่า เก็บเป็นฐานข้อมูลลับก็ตาม แต่ก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรืออาจเป็นภยันตรายแก่สื่อมวลชนได้ หากรายงานข่าวนำเสนอความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ปกติของสื่อ อาจเกิดการแทรกแซงให้เปิดเผยรายชื่อสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวดังกล่าวได้
ขณะเดียวกันการนำไปเปรียบเทียบกับอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ ก็เป็นการเปรียบเทียบแบบ 'ผิดฝา-ผิดตัว' เนื่องจากอาชีพวินมอเตอร์ไซค์นั้น ไม่ได้มีสภาวิชาชีพกำกับดูแล เป็นเพียงการกำกับดูแลกันเองภายในแต่ละวินฯเท่านั้น
ที่สำคัญการออกกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่า ‘ควบคุมสื่อ’ ในยุคที่รัฐบาลทหารยังคงเรืองอำนาจอยู่ แม้องค์กรวิชาชีพหลายแห่งจะมองว่า อาจทำให้รัฐบาลที่มาจากนักการเมืองแทรกแซงก็ตาม แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลทหารในขณะนี้ จะไม่ใช้กฎหมายฉบับนี้แทรกแซงสื่อ ?
ท้ายสุดแม้ วิป สปท. สั่ง 'เบรก' ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ส่งคืน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน แล้ว แต่ กมธ. จะยอมแก้ไขปรับปรุงตามที่เรียกร้อง หรือยอมถอยตีตกกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ?
อ่านประกอบ : โชว์หนังสือ-เหตุผล 4 ตัวแทนสื่อ ลาออกอนุฯ กมธ. ปฎิรูปสื่อสปท. ค้าน 'กม.คุมสื่อ'
หมายเหตุ : ภาพ พล.อ.อ.คณิต จาก แนวหน้า