"ถังแก๊สเหล็ก"ยังเก็บไม่หมด ชาวบ้านบ่นถังใหม่เล็ก แก๊สหมดไว ไฟไม่แรง
ทีมโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงมาตรการควบคุมการขนย้ายถังแก๊สเหล็กเข้า-ออกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกประกาศก่อนหน้านี้ เพราะมีข้อสงสัยจากประชาชนและผู้ประกอบการว่าถังแก๊สเหล็กที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ ยังสามารถใช้ต่อไปได้หรือไม่
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ออกประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ลงวันที่ 13 มกราคม 2560 ห้ามมิให้บุคคลนำถังแก๊สหุงต้มที่เป็นถังเหล็กขนาด 15 กิโลกรัมหรือเล็กกว่า เข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกาศดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายเปลี่ยนถังแก๊สเหล็กให้เป็นถังแก๊สคอมโพสิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดความรุนแรงของการก่อเหตุระเบิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งมักใช้ถังแก๊สเหล็กมาเป็นภาชนะบรรจุระเบิดแสวงเครื่อง ทำให้ระเบิดมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากถังแก๊สเหล็กจะฉีกขาดและกลายเป็นสะเก็ดระเบิดที่อันตรายมาก
โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาตรการบังคับให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ห้ามใช้ถังแก๊สแบบเหล็กขนาดบรรจุ 15 กิโลกรรม แล้วให้นำมาเปลี่ยนเป็นถังแก๊สคอมโพสิต ขนาดบรรจุ 11 กิโลกรัมแทน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 และตั้งเป้าว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2559 พื้นที่ชายแดนใต้จะปลอดจากถังแก๊สเหล็ก
อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีถังแก๊สเหล็กในอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังนิยมใช้ และถังแก๊สแบบคอมโพสิตก็มีให้เปลี่ยนและจำหน่ายเฉพาะถังแก๊ส ปตท.เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เมื่อแม่ทัพภาคที่ 4 ออกประกาศฉบับใหม่ออกมา จึงทำให้เกิดความกังวลว่า ถังแก๊สเหล็กขนาดต่างๆ ที่ยังมีใช้อยู่ในพื้นที่ จะยังสามารถใช้ได้ต่อไปหรือไม่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาแถลงชี้แจงว่า ประกาศที่ออกมาใหม่ เป็นมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการขนย้ายถังแก๊สเหล็กทุกขนาดเข้ามาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่หากมีความจำเป็นในการนำถังแก๊สเหล็กเข้ามา ต้องขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัด ส่วนถังแก๊สเหล็กที่มีอยู่เดิม และยังมีสภาพที่ใช้งานได้ พี่น้องประชาชนยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับถังแก๊สคอมโพสิตที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้แทนถังแก๊สเหล็กนั้น เป็นถังที่ผลิตจากโพลิเมอร์และไฟเบอร์กลาส มีความเหนียว ทนต่อแรงกระแทก การเฉือน และต้านทานต่อสภาวะแวดล้อม ทำให้ไม่เกิดประกายไฟเหมือนถังเหล็ก ทั้งยังมีจุดหลอมเหลวต่ำ หากได้รับความร้อนสูงจากภายนอกจะไม่ระเบิดออกเหมือนถังเหล็ก แต่จะละลายแทน
ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าพยายามประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ และออกมาตรการควบคุมการใช้ถังแก๊สเหล็ก แต่ปรากฏว่าประชาชนในพื้นที่ยังคงนิยมใช้ถังแก๊สเหล็กมากกว่า
นางพาตีเมาะ บีแตบูแล ชาวบ้านในจังหวัดยะลา บอกว่า ถังแก๊สเหล็กดีกว่าถังแก๊สแบบใหม่ เพราะใหญ่กว่า ฉะนั้นถ้าอยากให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้ ต้องทำให้มีขนาดใหญ่เท่าถังแก๊สเหล็ก
นางรีดา อาบะ แม่ค้าขายข้าวเหนียวไก่ในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งยังใช้ถังแก๊สเหล็กอยู่ กล่าวว่า ถ้าให้เปลี่ยนไปใช้ถังพลาสติกคงไม่เอา เพราะถังพลาสติกทอดไก่ไม่กรอบ ทอดได้ไม่นาน แก๊สหมดไว ต้องไปเปลี่ยนอีก ขายของยังไม่ทันได้เงินต้องมาเปลี่ยนแก๊ส และเวลาแลกก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ยุ่งยาก คิดว่ามีแต่ปัญหา
ขณะที่ นายสุลกีพลี อาเยาะแซ เจ้าของร้านขายของชำ กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียงจากพ่อค้าแม่ค้า หรือคนที่รับทำงานจัดเลี้ยง ซึ่งต้องใช้แก๊สหุงต้มจำนวนมาก ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความร้อนของไฟที่ออกจากถังแก๊สเหล็ก จะร้อนกว่าถังแก๊สพลาสติก ประกอบกับถังแก๊สพลาสติกมีขนาดเล็กกว่า เพราะมีขนาดบรรจุแค่ 11 กิโลกรัม ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าแก๊สหมดเร็วกว่าถังเหล็ก และต้องเปลี่ยนถังแก๊สบ่อยๆ นอกจากนั้นเวลานำถังเหล็กไปแลกเป็นถังพลาสติก ชาวบ้านต้องเสียเงินเพิ่มด้วย ไม่เหมือนกับที่เจ้าหน้าที่ประกาศว่าไม่เสียเงิน
“พอไปแลกจากถังเหล็กมาเป็นถังพลาสติก ชาวบ้านต้องเสียเงินเพิ่มอีก ทั้งที่ตอนแรกเจ้าหน้าที่บอกไม่เสียเงิน แต่พอไปเปลี่ยนที่ร้านกลับต้องเพิ่มเงิน เรื่องอะไรชาวบ้านจะเสียเงิน เพราะทำให้ชาวบ้านต้องมีรายจ่ายเพิ่ม ที่สำคัญชาวบ้านแปลกใจว่าทำไมโครงการนี้มีแต่ ปตท.เท่านั้น ที่ บริษัทอื่นยังไม่มีให้เปลี่ยน ทางร้านบอกยังใช้ของเดิมอยู่เพราะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ”
“ทางแก้ที่ดีรัฐควรทำโครงการนี้ร่วมกับทุกบริษัท นำของเก่ามาแลกใหม่โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย รวมทั้งต้องผลิตถังให้เท่ากับของเก่าและใช้วัสดุที่ไม่ลดความร้อนของไฟเมื่อนำมาใช้ในครัวเรือน” เจ้าของร้านชำเสนอ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ถังแก๊สเหล็กยังเป็นที่นิยมของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้
อ่านประกอบ :
ผู้ใช้แก๊สใต้วอนเลิก"คอมโพสิต" ชี้แก้บึ้มไม่ตรงจุด ซ้ำเติมชาวบ้าน บริษัทเดียวผูกขาด
ผบ.อีโอดีใต้ ยัน "คอมโพสิต" ช่วยลดความแรงระเบิด แง้มสถิติบึ้มถังแก๊ส 420 ครั้ง!