วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์:คนพิการพลเมืองชั้นผู้น้อย ถูกลืม-คิดถึงเป็นลำดับสุดท้าย
“ผมอยากให้รัฐ แทนที่จะเข้ามายึดเงินเรา ให้กลับมาช่วยวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เงินออกไปสร้างอาชีพให้คนพิการได้อย่างรวดเร็ว มาช่วยกันเสนอ มาช่วยกันทำ และมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด”
ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ในฐานะผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 กระทรวงการคลังได้มีหนังสือที่ 0406.2/ล.2973 ให้ “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” นำเงิน 2,000 ล้านบาท ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งส่งผลให้กลุ่มผู้พิการต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง (อ่านประกอบ:คนพิการนัดรวมพลร้องศาลปกครอง หวั่นคลังยึดเงินกองทุนฯ 2 พันล้าน)
"จากคำสั่งเรียกให้กองทุนฯ นำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็น ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท จะส่งผลให้กลุ่มคนพิการได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า กลุ่มคนพิการเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งหน่วยงานรัฐควรจะเข้ามาดูแลว่า ทำอย่างไรให้กองทุนใช้เงินเหมือนกลุ่มสสส.
อย่าง สสส.เงินเขาไหลเข้าปีละ 4 พันกว่าล้านบาท เขายังใช้หมดทุกปี แต่กองทุนคนพิการเรานี่ไหลเข้าแค่ 2 พันล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะนายจ้างเริ่มไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนแล้ว เขาเอาไปให้คนพิการที่ทำงาน ฉะนั้นต่อไปเงินจะไหลเข้ากองทุนน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วรัฐบาลยังกลับมายึดไปอีก เป็นแบบนี้ก็ลำบาก”
ศ.วิริยะ กล่าวถึงสัดส่วนของผู้พิการในประเทศไทยว่า ผู้พิการมีจำนวนมากกว่าเกือบ 2 ล้านคน แต่ผู้พิการที่สามารถทำงาน มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้มีจำนวนเพียง 1 แสนกว่าคน
“ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้พิการมีประมาณ 1.9 ล้านคน แต่ถ้าจดทะเบียนไว้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรับเบี้ยคนพิการมีจำนวนประมาณ 1.6 -1.7 ล้านคน ซึ่งอยู่ในวัยทำงานประมาณ 7 แสนคน แต่มีงานทำจริงๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้มีเพียง 1 แสนกว่าคน และอยู่ในสภาวะที่อาจจะทำงานยากหรือความสามารถของหน่วยงานอาจยังมีไม่ถึงในการที่จะไปพัฒนาเขาอีกประมาณ 1 แสนกว่าคน และกลุ่มคนที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ทำงานได้แต่ยังว่างงานอยู่มีประมาณ 4 แสนคน
ผมอยากให้รัฐ แทนที่จะเข้ามายึดเงินเรา ให้กลับมาช่วยวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เงินออกไปสร้างอาชีพให้คนพิการได้อย่างรวดเร็ว มาช่วยกันเสนอ มาช่วยกันทำ และมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด”
สำหรับการกระทำของหน่วยงานรัฐที่ได้ทำกับกลุ่มผู้พิการในประเทศไทยนั้น ศ.วิริยะ มองว่า คนพิการเหมือนพลเมืองชั้นผู้น้อย ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมและถูกคิดถึงเป็นลำดับสุดท้าย
“มีคำพูดที่ใช้ในสหประชาชาติ “คนพิการเป็นคนจนที่สุด ในบรรดาคนจนทั้งหลาย” (the poorest among the poor) คือ ครอบครัวที่จนเท่ากัน แต่มีครอบครัวหนึ่งมีคนพิการอยู่ด้วยก็จนกว่าเพราะค่าใช้จ่ายเยอะกว่า และเขาก็บอกคนพิการเป็น “the first to be forgotten the last to be remembered” คนพิการเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม และเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ถูกคิดถึง ด้วยเหตุนี้คนพิการจึงต้องมีชะตากรรมแบบนี้ และก็มาชี้ว่าเป็นกรรมของคนพิการ ทั้งที่จริงๆ มันเป็นกรรมของคนที่หยิบยื่นให้คนพิการต่างหาก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คกก.ประชารัฐเพื่อสังคม หนุนเอกชนจ้างงานคนพิการครบหมื่นตำแหน่งในปี 60
“ภาครัฐ -เอกชน-สังคม” ผนึกกำลังตั้งเป้าจ้างคนพิการทำงาน 1 หมื่นอัตรา ภายในสิ้นปีนี้
จ้างคนพิการทำงานแล้ว กว่า 200 หน่วยงานสังกัดสธ.
ปตท.ไม่ใช่ หน่วยงานรัฐ กฤษฎีกาชี้เลือกส่งเงิน แทนจ้างคนพิการทำงานได้
‘ปลัดแรงงาน’คาดปลายต.ค.ได้ข้อสรุปชัดแนวทางจ้างคนพิการทำงานในชุมชน
ม. 33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน ?
ที่มาภาพ:http://www.pubat.or.th