เปิดตัว'ผู้บริหาร-ถุงเงิน' โรลส์รอยซ์(ปท.)ก่อน บ.แม่ต้องคดีสินบน'บินไทย-ปตท.พันล.
เปิดตัว'ผู้บริหาร-ถุงเงิน' โรลส์-รอยซ์(ประเทศไทย) ก่อนบ.แม่อังกฤษ โดนคดีสินบน 'บินไทย-ปตท.พันล. -เผยจดทะเบียนช่วงปี 44 ทุน 3 ล้าน ทำธุรกิจให้คำปรึกษาวิศวกรรมอากาศยาน โชว์รายได้ 15 ปี 562 ล.
บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องยนต์ของโลกสัญชาติอังกฤษ ที่เพิ่งถูกศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับเป็นเงิน 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท หลังสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย
โดยในส่วนของไทย ถูกตรวจสอบพบว่ามีการการจ่ายสินบน ให้ นายหน้า พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนให้ความช่วยเหลือในการทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์ Trent 800 กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2534-2548 รวมจำนวน 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,300 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ สอบสวนพบการติดสินบนให้เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท.และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในช่วงปี 2543-2556 เป็นเงินกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 385 ล้านบาท
มีบริษัทลูกในประเทศไทย ที่ใช้ชื่อว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 ทุนปัจจุบัน 3 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 900 อาคารต้นสน ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิศวกรรมอากาศยาน
ปรากฎชื่อ นายโจนาธาน แอชเชอร์สัน นายฮิวจ์ วนิชประภา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 26 เมษายน 2559 โรลส์-รอยซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด สัญชาติอังกฤษ ถือหุ้นใหญ่สุด 29,998 หุ้น มูลค่า 2,999,800 บาท โรลส์-รอยซ์ อินดัสทรี้ส์ ลิมิเต็ด สัญชาติอังกฤษ และ โรลส์-รอยซ์ โอเวอร์ซีส์ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด ถืออยู่แห่งละ 1 หุ้น คิดเป็นมูลค่า หุ้นละ 100 บาท
สำหรับผลการประกอบการธุรกิจ นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2544 -2558 (ล่าสุด) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปี 2544 แจ้งว่ามีรายได้รวม 6,665,369.18 บาท รวมรายจ่าย 9,230,352.22 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,564,983.04 บาท
ปี 2545 แจ้งว่ามีรายได้รวม 12,803,136.79 บาท รวมรายจ่าย 11,129,986.05 บาท กำไรสุทธิ 1,476,662.15 บาท
ปี 2546 แจ้งว่ามีรายได้รวม 13,516,656.27 บาท รวมรายจ่าย 13,404,213.57 บาท ขาดทุนสุทธิ 167,023.19 บาท
ปี 2547 แจ้งว่ามีรายได้รวม 16,638,176.26 บาท รวมรายจ่าย 16,611,841.47 บาท ขาดทุนสุทธิ 99,291.12 บาท
ปี 2548 แจ้งว่ามีรายได้รวม 36,050,169.99 บาท รวมรายจ่าย 35,781,555.84 บาท กำไรสุทธิ 123,757.09 บาท
ปี 2549 แจ้งว่ามีรายได้รวม 38,595,008.77 บาท รวมรายจ่าย 38,237,923.12 บาท กำไรสุทธิ 224,719.16 บาท
ปี 2550 แจ้งว่ามีรายได้รวม 40,419,444.06 บาท รวมรายจ่าย 40,106,769.90 บาท กำไรสุทธิ 166,891.76 บาท
ปี 2551 แจ้งว่า มีรายได้รวม 40,564,872.32 บาท รวมรายจ่าย 40,538,620.48 บาท ขาดทุนสุทธิ 121,083.72 บาท
ปี 2552 แจ้งมีรายได้รวม 40,647,868.65 บาท รวมรายจ่าย 40,253,037.22 บาท กำไรสุทธิ 327,067.23 บาท
ปี 2553 แจ้งมีรายได้รวม 41,508,297.15 บาท รวมรายจ่าย 41,190,860.16 บาท กำไรสุทธิ 260,515.73 บาท
ปี 2554 แจ้งว่า มีรายได้รวม 41,295,184.34 บาท รวมรายจ่าย 40,924,046.40 บาท กำไรสุทธิ 302,402.87 บาท
ปี 2555 แจ้งว่ามีรายได้รวม 52,548,146.53 บาท รวมรายจ่าย 48,602,391 บาท กำไรสุทธิ 2,919,264.40 บาท
ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้รวม 80,541,761.69 บาท รวมรายจ่าย 73,644,515.20 บาท กำไรสุทธิ 5,416,358.78 บาท
ปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้รวม 67,614,619.01 บาท รวมรายจ่าย 60,730,239.32 บาท กำไรสุทธิ 5,407,636.25 บาท
ปี 2558 แจ้งว่ามีรายได้รวม 33,154,891 บาท รวมรายจ่าย 31,881,497 บาท กำไรสุทธิ 731,953 บาท
หากนับรวมเฉพาะรายได้จากการทำธุรกิจในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา จะอยู่ที่ตัวเลข 562,563.602.01 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันนายโจนาธาน แอชเชอร์สัน มีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียนและแปซิฟิก บริษัท Rolls Royce Plc.
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา นายโจนาธาน แอชเชอร์สัน เคยเข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกล่าวขอบคุณและยินดีที่ Rolls Royceมีความสัมพันธ์และเป็นพันธมิตรกับราชอาณาจักรไทยมาอย่างยาวนาน และยังคงดำเนินความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่า 50 ปีอย่างต่อเนื่องในธุรกิจอากาศยานพาณิชย์ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีฐานการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นการผลิต ในลักษณะ Original Equipment Manufacturer (OEM) และยังขยายฐานการผลิตในประเทศไทย
โดยในระหว่างการเข้าพบ นายโจนาธาน แอชเชอร์สัน ได้ยืนยันว่า ทราบมาว่า รัฐบาลได้กำหนดให้อากาศยาน เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต บริษัทฯ จึงมีความสนใจที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วน โดยเฉพาะโอกาสในการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานกับบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา กับบริษัทการบินไทยฯ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับอากาศยานด้วย
พร้อมยังได้กล่าวเชิญให้รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ของบริษัทฯ ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการหารือเพื่อต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันต่อไปด้วย (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก http://www.thaigov.go.th/)
ขณะที่นายฮิวจ์ วนิชประภา เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจาก โรลส์-รอยซ์ มาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด แทนนายยวน แมคโดนัลด์ ที่ย้ายไปประจำตำแหน่งอาวุโสที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเดือนส.ค.2557 ที่ผ่านมา
ส่วน นายโจนาธาน แอชเชอร์สัน นายฮิวจ์ วนิชประภา จะอยู่ในข่ายรายชื่อบุคคลที่ถูกหน่วยงานตรวจสอบของไทย เรียกเข้าไปให้ข้อมูล และผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องจับตาดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย