ปัญหารถตู้ นักวิชาการติงอย่าเปลี่ยนแค่รถ ต้องสังคายนาโครงสร้างประกอบการด้วย
นักวิชาการมอง ประเด็นที่มากกว่าการเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส แนะรื้อโครงสร้างการจัดการระบบขนส่งสาธารณะ รัฐต้องยกให้เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้อย่างปลอดภัย
วันที่ 6 ม.ค. 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 4 “แนวทางปฏิรูปหลังโศกนาฏกรรมรถตู้” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงรถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการโดยสาร ถึงแม้จะมีมาตรการที่จะเปลี่ยนเป็นมินิบัสในอนาคตข้างหน้า แต่อย่าลืมว่า ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องพฤติกรรมคนขับ แม้เราเปลี่ยน แต่เหตุปัจจัยในการขับรถไม่เปลี่ยน การแก้ปัญหาก็ไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ
"นอกจากเปลี่ยนรถ วันนี้เราตั้งคำถามว่าจะเปลี่ยนระบบบริหารจัดการอย่างไร ขณะที่คนขับไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินเดือน หากจะเก็บค่าโดยสารให้มากก็ต้องทำรอบให้มากขึ้น ซึ่งนั่นก็นำมาสู่พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย โจทย์สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องในวันนี้คือทำอย่างไงให้คนเหล่านั้นมีสวัสดิการที่เพียงพอ เพียงพอในระดับที่จะสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้"
รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงสาเหตุการเกิดมีการนำรถตู้มาใช้ เกิดจากการที่รถบัส รถประจำทางให้บริการไม่พอเพียง ไม่ครอบคลุม รัฐไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อเป็นอย่างนั้นผู้ประกอบการก็เห็นช่องทางในการทำธุรกิจ เพราะรถตู้มีข้อได้เปรียบคือ รถเล็ก ทำความเร็วได้ เข้าถึงทุกที่ ประชาชนก็นิยม ส่วนรถใหญ่ทำความช้า ต้นทุนสูงกว่า ไม่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ การแข่งทำไม่ได้ อีกอย่างสถานีขนส่ง (บขส.) ผู้เดินทางจะไป บขส.ก็ลำบาก อยู่นอกเมืองและไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า
“การเปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัสนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูอย่างรอบคอบด้วย เราเสนอให้เปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างนี้ก็ต้องสังคายานาความต้องการเดินทางทั้งประเทศ รูปแบบการเดินทางแบบไหนถึงเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คนขับและตัวรถป็นปัญหา อันนี้เรารู้กัน เรารู้เเล้วว่าสาเหตุของสาเหตุคืออะไร ทำไมต้องขับเร็ว หากเราบอกว่า เวลามีต้นทุน ความปลอภัยก็ย่อมมีต้นทุน ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายของรัฐที่ใหญ่มาก ใหญ่กว่าการกำกับเพราะนโยบายขนส่งสาธารณะกฎหมายไทยเน้นการกำกับ แต่ไม่ส่งเสริมสนับสนุน โดยพื้นฐานรัฐต้องทำมากกว่าการกำกับ อย่าผลักต้นทุนความปลอดภัยให้เอกชนอย่างเดียว รัฐจะช่วยอะไรบ้างในการลดต้นทุน ในการควบคุมกิจการสาธารณะ
“วันนี้เราต้องตั้งคำถามก่อนว่า ขนส่งสาธารณะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนประเทศนี้หรือไม่ เพราะถ้าเป็น รัฐต้องทุ่มไป เพราะปัญหาที่ผ่านมารัฐไม่คิดว่าเป็นต้นทุนใหญ่ที่รัฐจะต้องช่วย เราเลยมีกฎหมายที่กำกับอย่างเดียว” ผศ.ดร.อภิวัฒน์ กล่าว และว่า รัฐสามารถทำได้หลายอย่างมาก วันนี้รัฐลงทุนมากกมายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนน สนามบิน แต่รัฐลงทุนน้อยมากเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ เรามีปัญหาความไม่เป็นธรรมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เราไม่เคยคิดถึงคนจนว่าจะเดินทางอย่างไร คนจนเลยรับต้นทุนในการเดินทางสูงกว่าคนรวย
ผศ.ดร.อภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ถึงเวลาที่ต้องนึกการจัดสรรงบประมาณที่ส่งเสริมความปลอดภัย รัฐต้องตั้งอยู่บนฐานที่ว่า ขนส่งสาธารณะเป็นสิทธิพื้นฐานก่อนแล้วหาเงินอุดหนุน สนับสนุนผู้ประกอบ วิธีจัดการอย่างเป็นระบบ.
อ่านประกอบ
นพ.ธนะพงศ์ ชี้ถึงเวลานำตัวล็อคความเร็วมาใช้- รื้อระบบประกอบการรถตู้
คุยกับนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ มองราก (ลึก) ปัญหารถตู้
ภาพประกอบจากhttp://www.homelatin-hotel-paris.com/wp-content/uploads/2016/08/321323.png