เปิดข้อมูลใหม่สตง.สอบกรณี ม.รัฐแย่งงานที่ปรึกษาเอกชน-โชว์สถานะจริงมสธ.?
"..มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใช้ชื่อในการรับงาน 3 ชื่อ ได้แก่ ชื่อที่ 1. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (สถาบันวิจัยและพัฒนา) ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยแล้ว แต่ในส่วนชื่อที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และชื่อที่ 3 คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช สำนักวิชาการ ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยแต่อย่างใด.."
ดูเหมือนว่า 'ปัญหามหาวิทยาลัยของรัฐแย่งงานที่ปรึกษาเอกชน' ยังคงเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความสนใจติดตามตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะกรณี มหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ที่เข้าไปรับงานที่ปรึกษาหน่วยงานรัฐ จำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท ทั้งที่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมด 90 แห่ง ที่ปรากฎชื่อเข้าไปรับงานที่ปรึกษาของหน่วยงานรัฐ นับตั้งแต่ปี 2555-2559 จำนวน 4,219 โครงการ รวมวงเงิน 14,027.14 ล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้
(อ่านประกอบ : เปิดครบข้อมูล 90 มหาลัย รับงานที่ปรึกษารัฐ1.4 หมื่นล. -เอกชนโวยถูกแย่งงาน)
เพราะภายหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อ มหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ที่เข้าไปรับงานที่ปรึกษา จำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท โดยพบว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปรากฎชื่อ ได้รับงานไปมากที่สุด จำนวน 63 โครงการ วงเงิน 174,663,519 บาท
ปรากฎว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชรายหนึ่ง ได้นำหลักฐานมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เพื่อยืนยันว่า มหาวิทยาลัยได้รับการต่อทะเบียนที่ปรึกษาไทย จากศูนย์ที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาระดับ A หมายเลข 2163 มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 และมีอายุประมาณ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2558 เป็นต้นมา เพื่อตอบโต้ผลการตรวจสอบของ สตง. ว่า มีความคลาดเคลื่อน ทั้งที่มหาวิทยาลัยขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาถูกต้อง
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง.ทำการตรวจสอบข้อมูลยืนยันอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : คนมสธ.โต้ข้อมูลสตง.ยันมีคุณสมบัติเป็นที่ปรึกษาไทย รับงานหน่วยงานรัฐ174ล.)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ล่าสุด สตง.ได้สรุปผลตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์ที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงกรณีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอีกครั้ง
พบข้อเท็จจริงดังนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ได้จัดประเภทการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย ออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ประเภทบริษัท, ประเภทมูลนิธิ, ประเภทมหาวิทยาลัย, ประเภทสมาคม, ประเภทสถาบัน, ประเภทห้างหุ้นส่วน, ประเภทศูนย์, ประเภทวิทยาลัย และประเภทสำนักงาน
สำหรับข้อมูลการขึ้นทะเบียนป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นั้น จากการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย ในชื่อ สถาบัน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หมาย 2163 ตรงตามที่มีการชี้แจงข้อมูลก่อนหน้านี้จริง
แต่สำหรับการรับงานเป็นที่ปรึกษานั้น ปรากฎว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใช้ชื่อในการรับงาน 3 ชื่อ ได้แก่ ชื่อที่ 1. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (สถาบันวิจัยและพัฒนา) ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยแล้ว แต่ในส่วนชื่อ ที่ 2. คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และชื่อที่ 3 คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช สำนักวิชาการ ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สตง.ยังตรวจสอบพบข้อมูลว่า ในการจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับศูนย์ที่ปรึกษาไทยกระทรวงการคลังนั้น มีมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง ที่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยมากกว่า 1 ประเภท กล่าวคือ จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยประเภทมหาวิทยาลัย และประเภทสถาบัน แยกจากกันเพื่อใช้รับงานเป็นที่ปรึกษา
เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษไทยประเภทมหาวิทยาลัยในชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขทะเบียนที่ปรึกษา 567 และยังได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยประเภทสถาบันในชื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์) เลขทะเบียนที่ปรึกษา 393
มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยประเภทมหาวิทยาลัยในชื่อ มหาวิทยาลัยบูรพา เลขทะเบียนที่ปรึกษา 1065 และยังได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยประเภทสถาบันในชื่อมหาวิทยาลัยบูรพา (สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล) เลขทะเบียนที่ปรึกษา 3198
เบื้องต้น สตง. ได้สรุปข้อมูลส่วนนี้ว่า จากการตรวจสอบเรื่องการศึกษาปัญหามหาวิทยาลัยของรัฐแย่งงานเอกชน ที่ใช้ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ E-GP ที่มหาวิทยาลัยเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2559 จากกรมบัญชีกลาง และข้อมูลการจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย จากศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ประเภทมหาวิทยาลัย
พบว่า ไม่ปรากฎชื่อของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่จดทะเบียนในประเภทมหาวิทยาลัย และหลังจากปรากฎข่าวเรื่องนี้ สตง.ได้ตรวจสอบข้อมูลมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย ประเภทมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมพบว่า มีมหาวิทยาลัย จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยประเภทมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมภายหลังผลการตรวจสอบปรากฎเป็นข่าวจำนวน 1 แห่ง จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยประเภทสถาบันประเภทเดียวจำนวน 3 แห่ง และไม่ได้จดทะเบียนประเภทใดเลยจำนวน 14 แห่ง
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลใหม่ ล่าสุด ที่สตง.เพิ่งตรวจสอบพบจากกรณี มหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ที่เข้าไปรับงานที่ปรึกษา จำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำลังอยู่ระหว่างการขยายผลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมในขณะนี้
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก www.jewelrycomputerdesign.com
อ่านประกอบ :
มสธ.มากสุด174ล.! เปิดชื่อ18 มหาลัยฯ รับงานที่ปรึกษาแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก.คลัง
เผย3ชื่อม.ดัง! รับงานที่ปรึกษารัฐ เกษตรฯ มากสุด3พันล.-อธิการฯมธ.ยันกม.รองรับ
สตง.โชว์ตัวเลขม.รัฐ รับงานที่ปรึกษา1.4หมื่นล.! ชงบิ๊กตู่ ชะลอ ชี้กระทบการสอน-ขัดมติครม.
สตง.ชง บิ๊กตู่ เคลียร์ปมเอกชนร้องม.รัฐ แย่งงานวิศวะฯ-ที่ปรึกษา!ไม่มีใบอนุญาต
เปิดครบข้อมูล 90 มหาลัย รับงานที่ปรึกษารัฐ1.4 หมื่นล. -เอกชนโวยถูกแย่งงาน