อธิบดี กรอ. เล็งบังคับ รง.1.2 แสนแห่งให้ข้อมูลปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อธิบดีกรมโรงงานฯ เผยกำลังรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงาน 1.2 แสนโรง ในอนาคตอาจออกเป็นกฎหมายในเรื่องของโรงงานต้องให้ข้อมูลต่อภาครัฐ ด้านเลขาธิการสผ. ชี้ภาคพลังงานและภาคขนส่ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด
วันที่ 30 พฤศจิกายน กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) (อบก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การบูรณาการด้านการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2559-2563 " ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยครั้งนี้เป็นการผลักดันการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยหลังปี 2563 ซึ่งจะมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2573
ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมจนเกิดของเสียในอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ จะเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลกิจกรรมในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ
"จากข้อมูลสถิติของภาคอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม 44.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ คิดเป็นร้อยละ 14.57 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม 18.23 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ คิดเป็นร้อยละ 5.96. ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ และของเสียจากการบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม 3.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ คิดเป็นร้อยละ 1.03 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานมากที่สุดของภาคอุตสาหกรรม"
นายมงคล กล่าวต่อว่า ภาระกิจที่ต้องดำเนินการในตอนนี้ คือการรวบรวมข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานในเรื่องของกระบวนการผลิต การใช้วัตถุดิบและลดของเสีย ภายใน 1-3 เดือน เพื่อที่จะนำมาประมวลข้อมูลในเบื้องต้นก่อน โดยจะมุ่นเน้นในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า เพราะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษมาก
"ที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นการเก็บข้อมูลในภาคอุตสาหกรรมจะต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ ในอนาคตการได้ข้อมูลอาจจะเป็นภาคบังคับและอาจต้องออกกฎระเบียบหรือกฎหมายมา" อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว และว่า ปัจจุบันมีโรงงานทั้งหมดที่ต้องควบคุมดูแลประเทศในระบบมี 1.2 แสนโรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ประมาณ 8 หมื่นโรงงาน
ขณะที่นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้น ต้องดูประเภทของอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรมประเภทไหนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ เป็นเรื่องของอนาคต แต่จะทำให้เป็นมาตรฐานมากที่สุดและทำให้เกิดความเป็นธรรมในทุกภาคส่วน โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อวางกฎระเบียบไว้ใช้ในอนาคต
"จากตัวเลขบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภาคพลังงานและภาคขนส่ง เป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดที่ 75% โดยได้ร่วมมือการจัดทำบัญชีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ และภาคของเสีย เพื่อให้มีความสมบูรณ์และมีความแม่นยำถูกต้องให้มากที่สุด"
สุดท้ายนางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2554 อยู่ที่ 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์จากภาคอุตสาหกรรมรวม 65.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ คิดเป็นร้อยละ 21.57 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ภายในปี 2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า และได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ โดยมีเป้าหมายที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลง 20% ใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและภาคของเสีย ระบบการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความถูกต้องแม่นยำเป็นพื้นฐานที่สำคัญจะนำไปสู่การกำหนดและดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรื่อยกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิชาการชี้สัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย 70% มาจากภาคพลังงาน