ดร.ปริญญาชี้รธน.ฉบับมีชัย สื่อของรัฐมีเสรีภาพน้อยลงจริง
"ตอนนี้เสรีภาพของสื่อถอยหลังลงไปมากในทุกยุคทุกสมัย ผมพูดถึงทุกประเทศและทุกยุคทุกสมัย เสรีภาพที่เกินขอบเขตนั้นคือข้ออ้างของเผด็จการในการจำกัดเสรีภาพสังคม ที่ผ่านมาเป็นแบบนั้น สังคมรู้สึกว่าคุมได้ก็ดีเพราะที่ผ่านมามันเกินขอบเขตมาเยอะมาก"
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2559 หัวข้อ “ปฏิรูปสื่อ : ทางออกสังคมไทย?” ณ ห้อง JM 402 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการ“ปฏิรูปสื่อ VS ความอยู่รอดโดยได้ตั้งคำถามว่า สื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาล หรือเครื่องมือของคนที่มีเงิน หรือเป็นเครื่องมือของสังคม ถ้าตอบว่า สื่อเป็นเครื่องมือของสังคมต้องก็หาทางให้สื่อเป็นอิสระจากรัฐบาล หรือกลุ่มนายทุน ต้องมีการประกันเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากมีเสรีภาพอย่างเดียวแต่ไม่มีกรอบอะไรมาควบคุมเลย ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ใช้เสรีภาพมากจนเกินไป และไปทำร้ายคนอื่นหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม จึงจำเป็นต้องมีกรอบอะไรบางอย่าง ซึ่งก็เกิดคำถามอีกว่า จะให้ใครมาคุมสื่อ ถ้าให้รัฐบาลมาคุมก็จะกลับไปสู่แบบเดิม ถ้าเกิดว่า รัฐบาลมาคุมสื่อมวลชนได้ก็แปลว่า ประชาชนจะได้ฟังหรืออ่านอะไรเฉพาะหรือได้เห็นอะไรเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้เห็น และถ้ารัฐบาลไม่อยากให้เห็น เราก็จะไม่ได้เห็น สื่อจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลไปจะไม่ได้เป็นเครื่องมือของสังคมอีกต่อไป
ดร. ปริญญา ชี้ว่า หากรัฐเป็นคนควบคุมสื่อก็จะสามารถคุมประชาชนได้หมด ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดมาแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลที่เป็นนายทุนมาควบคุมสื่อแค่นี้ก็สามารถเป็นคุมประเทศได้ ดังนั้นไม่ว่าสื่อจะเป็นอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลหรือนายทุนก็แย่ทั้งคู่ ถ้าเกิดนายทุนไปเป็นรัฐบาลก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก แล้วถามว่า ใครจะคุมสื่อ
"คนแรกที่คุมคือหนึ่งสื่อต้องคุมกันเอง อันที่สองประชาชนต้องคุมสื่อ แต่อันที่สองค่อนข้างยากเพราะประชาชนเองก็เป็นผู้รับสื่อ แต่ไม่ว่าอย่างไรยังยืนยันว่า สื่อมวลชนจะให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมไม่ได้ และสื่อต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่"
ปัจจุบันเสรีภาพของสื่อ เขาเห็นว่า ถอยหลังลงไปมากในทุกยุคทุกสมัย "ผมพูดถึงทุกประเทศและทุกยุคทุกสมัย เสรีภาพที่เกินขอบเขตนั้นคือข้ออ้างของเผด็จการในการจำกัดเสรีภาพสังคม ที่ผ่านมาเป็นแบบนั้น สังคมรู้สึกว่า คุมได้ก็ดี เพราะที่ผ่านมามันเกินขอบเขตมาเยอะมาก"
ดร. ปริญญา กล่าวถึงเรื่องประชาธิปไตยของประเทศไทยว่า อยู่ในช่วงของขาลง ทุกคนต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ขอถามง่ายๆ กับท่านที่ไม่ศรัทธากับประชาธิปไตยว่าท่านคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศหรือไม่ ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ก็คือระบบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองของนักการเมือง ถ้าประเทศใดที่ปกครองโดยนักการเมืองนั่นไม่ได้เรียกว่า ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
"ถ้าที่ผ่านมาผิดพลาดก็ต้องหาทางแก้ไข ตอนนี้ประชาชนเบื่อนักการเมืองกันมากจนพาลกันเบื่อ ประชาธิปไตยของไทยถ้าจะเปรียบเทียบง่ายที่สุดก็เหมือนการแข่งกีฬาฟุตบอล โดยมีนักบอลในสนาม 2 ทีม ทั้งคู่ต้องการชัยชนะ แต่ทีมที่ชนะมีได้แค่ทีมเดียว ปัญหาคือนักบอลก็เล่นเกินกติกาหรือเล่นผิดกติกา บางทีก็ไม่ยอมรับคำตัดสินของกรรมการ และกรรมการบางคนก็ตัดสินเลยเถิดจากกติกาก็มี พอนักบอลตีกันคนดูเริ่มตีกัน ฝ่ายรักษาความปลอดภัยก็เข้ามายุติการแข่งขันและเกิดแบบนี้มา 13 ครั้งแล้ว เผลอๆคนดูแหละที่ไปเรียกหน่วยรักษาความปลอดภัยมาเอง และบางทีเห็นว่าฝ่ายตัวเองจะแพ้ก็เลยปิดสนามก่อนเลย ทั้ง 2 ข้างทำแบบนี้มาตลอดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา" ดร.ปริญญา ระบุ พร้อมกับเห็นว่า ถ้าเราเตะบอลกันตามกติกา ฝ่ายรักษาความปลอดภัยเขาจะมายุติการแข่งขันได้อย่างไร ความจริงประชาธิปไตยก็แค่นี้เอง กติกาไม่ดีก็แก้ได้ ก็ว่ากันไปตามกติกา
"กรรมการตัดสินก็คือศาล ต้องคอยคุมการแข่งขัน ถ้านักบอลคนไหนเล่นผิดกติกาสากลก็ต้องเป่าให้หยุด แต่ช่วง 22 พฤษภาคม 2557 บทบาทกรรมการทำหน้าที่ได้น้อย บทบาทมาอยู่ที่ศาลแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญในการคุมว่าเสรีภาพที่ท่านใช้ตอนนี้เลยเถิดไปแล้วจากกติกา ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการคุม แต่ศาลรัฐธรรมนูญกับบอกว่ าไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลไม่ทำหน้าที่"
แล้วถ้าถามว่า สื่อมวลชนเปรียบเป็นอะไรในฟุตบอล ดร.ปริญญาเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าท่านดูฟุตบอลอยู่ ปรากฎว่า โทรทัศน์ช่องหนึ่งอาจจะชอบทีมใดทีมหนึ่งเป็นพิเศษก็เลยถ่ายตอนที่ทีมนั้นเล่นโกง แต่ข้างตัวเองเล่นไม่ดีไม่ค่อยถ่าย ถามว่า ที่ผ่านมาเราเป็นแบบนั้นรึเปล่า และคนดูก็เลือกดูแต่ฝ่ายที่ตนชอบแล้วก็ด่าฝ่ายที่ตนไม่ชอบ นี่คือปัญหาของความแตกแยกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
รองอธิการบดี มธ. กล่าวถึงรัฐธรรมนูญอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถึงเรื่องเสรีภาพ คือ มาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญอาจารย์มีชัย แต่เดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 มี 2 มาตราแยกจากกัน มาตราที่จะพูดถึงคือเสรีภาพในการพูด,การแสดงความคิดเห็น,การเขียนและการโฆษณา ในมาตรานี้คือมาตรา 45 แต่ปัจจุบันมาอยู่ในมาตรา 35 เข้าใจว่า ต้องการให้มาตราน้อยลง ส่วนมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ท่านจำได้หรือไม่ว่า เป็นหลักการใหม่ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 คือบอกว่ามาตรา 45 ของปี 2550 มีการประกันเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นการทั่วไป
แต่ปรากฎว่า ในเรื่องสื่อมวลชนมีเรื่องของเจ้าสื่อ มีบรรณาธิการ มีหัวหน้าข่าว มีสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว มีคนที่เกี่ยวข้องมากมายที่เรียกว่า สื่อ เกิดคำถามว่า ถ้าหากว่าจะประกันเสรีภาพสื่อ จะประกันที่ใคร ประกันว่า สื่อคนนี้ของเจ้าของคนนี้ต้องเป็นอิสระ แต่ว่าเจ้าของสื่อจะเป็นรัฐก็ดีเป็นเอกชนก็ดีสามารถสั่งผู้รายงานข่าวได้แบบนี้ก็ไม่ได้อยู่ดี
"รัฐธรรมนูญปี 2550 เลยประกันเสรีภาพสื่อไว้ที่มาตรา 46 ว่า สื่อมวลชนผู้รายงานข่าวเป็นอิสระจากเจ้าของทั้งรัฐและเอกชน หลักการนี้เป็นหลักการที่วางเอาไว้และก็มั่นคงแข็งแรงอยู่พอสมควร"
ดร. ปริญญา ได้ตั้งคำถามถึงรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัย เป็นอย่างไรทราบหรือไม่ ได้ถูกรวมอยู่มาตราเดียวและเรื่องของอิสระจากเอกชน ส่วนของภาครัฐก็มีขอบเขต ซึ่งก็น่าสนใจเพราะใช้คำว่า พนักงานที่อยู่ในสื่อของรัฐก็มีเสรีภาพ แต่ต้องไม่ขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่ขององค์กร ตรงนี้ก็น่าสนใจในการตีความของประโยคที่ว่า "พนักงานที่อยู่ในสื่อของรัฐก็มีเสรีภาพ แต่ต้องไม่ขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่ขององค์กร"
"ถามว่าช่อง NBT มีเสรีภาพไหม ถ้าตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีเสรีภาพตามสมควร มีกรอบอันเดียวคือจริยธรรมของวิชาชีพเท่านั้นที่มาควบคุมสื่อ ถ้าเกินจากขอบเขตวิชาชีพสื่อใครก็มายุ่งกับสื่อไม่ได้ แต่ถามว่า ตามรัฐธรรมนูญอาจารย์มีชัยสื่อของรัฐมีเสรีภาพแค่ไหน ถ้าหากว่า สื่อของรัฐก็ต้องทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้รัฐก็จบแล้ว นี้คือสิ่งที่น้อยลง ผมขอเรียนว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เสรีภาพของสื่อมวลชนน้อยลงในส่วนของสื่อของรัฐ
"ผมยืนยันว่าสื่อมวลชนต้องเป็นอิสระ และควบคุมกันเอง อันนี้เป็นหลักการสำคัญ สื่อคุมกันเองให้ได้"
ขอบคุณภาพจาก : i.ytimg.com
อ่านประกอบ : สนามรบเปลี่ยน! ผู้บริหารสื่อ เปิดตัวเลขยอดขายนสพ.ลดฮวบ 13 ปี หายไป 50%