ยุบ‘ร.ร.ขนาดเล็ก’ไม่ใช่ทางออก
ผลวิจัยการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในภาคอีสาน สกว. พบการยุบหรือควบรวมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สำเร็จในทุกกรณี ควรฟังความเห็นผู้ปกครองและคนในชุมชน ชี้ตัวชี้วัดออกแบบจากส่วนกลางมุ่งผลสัมฤทธิ์จากคะแนน O-Net ไม่ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชุมชน
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน โดยวางแผนในปี 2564 จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้จำนวน 7,000 แห่ง ส่งผลให้ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ 5,000 - 6,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ได้หยิบเรื่องนี้มากล่าวย้ำอีกครั้งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ” เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ถึงการดำเนินการแก้ปัญหา “โรงเรียนขนาดเล็ก” ทั่วประเทศ เพื่อแลกกับคุณภาพการศึกษา
"เมื่อ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” ซึ่งถูกตั้งให้เป็น “โรงเรียนแม่เหล็ก” ได้รับการส่งเสริมความเข้มแข็ง ทั้งจากชุมชนเอง และจากรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ำไปเพิ่มเติมให้กับ “โรงเรียนแม่เหล็ก” ที่อยู่ในโครงการ ในภาพรวมเป็นงบประมาณสำหรับการจัดการเรียนการสอน “เพิ่มขึ้น” กว่า 500 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น ในอนาคต เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงกลไกประชารัฐ และประชาคมใกล้เคียงกับโรงเรียนเป้าหมายเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ในวันข้างหน้าได้แล้ว ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและครูไม่ครบชั้น ที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน ก็จะหมดไป และประเทศไทยก็จะได้ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ประเทศไทยก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุล ในทุกมิติ"
คุณภาพการศึกษาไทยที่ว่าแย่ๆ แล้วการยุบ‘ร.ร.ขนาดเล็ก’นั้น จะใช่ทางออกหรือไม่ มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่ง เรื่อง กรณีศึกษารูปแบบความสำเร็จการจัดการศึกษาโรงเรียนนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2557) โดย ดร.จันทร์จิรา จูมพลหล้า ดร.พงษ์นิมิตร พงษ์ภิญโญ และ อ.พรทิพา หล้าศักดิ์ แห่งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนขนาดเล็ก 80 แห่ง เกี่ยวกับตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวม และคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก
รวมถึงศึกษาแนวทางบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านนาแก จ.สกลนคร โรงเรียนบ้านถิ่นสุขาวิทยา จ.อุดรธานี โรงเรียนเครือข่ายแก่งจันทร์ จ.เลย และโรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร ผลสำรวจครั้งนั้นพบว่า แนวคิดปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการยุบหรือควบรวมโรงเรียนไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จในทุกกรณี ควรให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้ปกครองและคนในชุมชน
นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ควรหาแนวทางยกระดับคุณภาพของโรงเรียนร่วมกัน ตั้งแต่การวางแผน การพัฒนาหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสื่อการสอน และการหางบประมาณ ในด้านตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวมและคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า ชุมชนมีความพึงพอใจต่อโรงเรียนขนาดเล็กในด้านการเรียนการสอน ทั้งด้านวิชาการ การพัฒนาทักษะ กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงความสะดวกในการเดินทาง
ตัวชี้วัดที่ถูกออกแบบโดยหน่วยงานส่วนกลางเพื่อยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหา เพราะมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนผ่านคะแนนข้อสอบ O-Net ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญต่อความรู้ของเด็กเพียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ได้ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชุมชน
อีกทั้ง การประเมินคุณภาพด้วยมาตรฐานตัวชี้วัดจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่เหมาะสมต่อบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีศักยภาพไม่เท่ากับโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ที่มีความพร้อมหลายด้าน รวมทั้งการประเมินโดยใช้เอกสารไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน
ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก คือ การรับฟังความเห็นของผู้ปกครอง และชุมชนว่า ต้องการยุบหรือควบรวมโรงเรียนหรือไม่ และอย่างไร เพราะหากภาครัฐทำไปโดยไม่ถามความเห็นจากคนในชุมชน แทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ อาจก่อปัญหาแก่คนในชุมชนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อม แต่ไม่สามารถทำให้เด็กมีคุณภาพ (ดี เก่ง และมีความสุข) ได้ ชุมชนก็พร้อมจะยุบและควบรวมโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากใจครูร.ร.ขนาดเล็กถึงไม่เก่งวิชาการ แต่เราไม่ด้อยเรื่องวิชาชีพ
แอ็คชั่นเอดค้านยุบร.ร.ขนาดเล็ก ชี้จุดคุ้มทุนศึกษาอยู่ที่การพัฒนาผู้เรียน
กสม.ชี้ยุบควบรวม ร.ร.ขนาดเล็กละเมิดสิทธิเสรีภาพการศึกษาเด็ก
นักการศึกษาฉะขรก.บิดเบือนข้อมูล ทำรมต.สั่งยุบ ร.ร.เล็ก
รายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ http://knowledgefarm.in.th/small-schools/