แอ็คชั่นเอดค้านยุบร.ร.ขนาดเล็ก ชี้จุดคุ้มทุนศึกษาอยู่ที่การพัฒนาผู้เรียน
องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เผยครูร.ร.ขนาดเล็กโดดเดี่ยว หลังมีนโยบายจะยุบ ชี้รัฐจะมุ่งไปน้ำบ่อหน้า ต้องไม่ลืมน้ำบ่อหลัง วอนลบภาพการแข่งขันออกจากระบบการศึกษาไทย
วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ "ร้อยมือร่วม รวมใจปั้น ฝันเป็นจริง: บนเส้นทางการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็ก" ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ดร.รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า แอ็คชั่นเอด เป็นองค์กรสาธารณะกุศลทำงานในไทยมา 10 ปีปัจจุบันมีเครือข่ายจำนวน 300 โรงเรียน โครงการนี้เน้นเรื่องสิทธิเป็นหลัก เช่น เรื่องสิทธิสตรี เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน และโครงการด้านการศึกษา ซึ่งเห็นว่า โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในเมืองมีโอกาสมากกว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก จึงพยายามสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า โรงเรียนยืนด้วยตัวเองไม่ได้ต้องอยู่ด้วยชุมชน จึงเน้นที่จะสนับสนุนให้เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กได้ทำงานร่วมกันกับชุมชน
"จากการที่นโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กออกมา สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้จากอาจารย์คือ ความรู้สึกที่โดดเดี่ยว กังวลในเรื่องของปัญหาที่โรงเรียนจะถูกปิด แต่หลังจากได้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของทางแอ็คชั่นเอดแล้วนั้น ได้รับความสนับสนุน ได้รับกำลังใจ จึงเกิดแรงผลักดันในการต่อสู้กับเรื่องนี้มากขึ้น ถึงเวลาที่สังคมจะเผยแพร่ให้ทราบว่า โรงเรียนขนาดเล็กต่อสู้มาอย่างไร และทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ"
ด้าน รศ.ชูพินิจ เกษมณี ประธานกรรมการแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมามีนโยบายออกมาอย่างต่อเนื่องที่จะยุบรวมและยกเลิกโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองไหนก็ตามจะดำเนินนโยบายต่อ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการทางด้านการศึกษามาก่อน มีความเห็นว่า เป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากว่าคิดจากจุดคุ้มทุนของทางรัฐคือ จำนวนเงินผลตอบแทนไม่เพียงพอ แต่ในเรื่องของการศึกษาจุดคุ้มทุนคือเรื่องของการพัฒนาผู้เรียน
รศ.ชูพินิจ กล่าวถึงคำว่า คุณภาพไม่ได้ผลิตแต่คนเก่ง แต่เราต้องการคนดีคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม จึงไม่ขึ้นอยู่กับโรงเรียนขนาดใหญ่โรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีข้อสังเกตว่า โรงเรียนขนาดใหญ่มีปัญหามากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น นักเรียนตีกัน ปัญหายาเสพติด ส่วนนี้รัฐควรจะตระหนักว่า โรงเรียนขนาดเล็กนั้น นอกจากพัฒนาคุณภาพได้มากกว่ายังสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนได้มากกว่า เราจะมุ่งไปข้างหน้าแต่ต้องไม่ลืมข้างหลัง จะหวังน้ำบ่อหน้าก็ต้องรักษาน้ำบ่อหลังไว้เพื่อความมั่นคง
"เรื่องการแข่งขันทางการศึกษาควรลบออกไปจากระบบการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไทยน่าเป็นการร่วมมือซึ่งกันและกัน"
ขณะที่นางสาวรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโปรแกรมและนโยบาย แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดนโยบายนี้คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก และจากการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ แต่จากการที่ได้เข้าไปร่วมพูดคุย พบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากมาย และเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เนื่องจากไม่สามารถที่จะรองรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การเดินทาง และเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยในนักเรียนผู้หญิง การทำโครงการนี้จึงต้องการเพื่อให้เด็กทุกคนได้โอกาสทางการศึกษา ไม่หลุดไปจากระบบ แต่เป็นการให้เด็กได้เรียนรู้นอกจากการศึกษาทางวิชาการแล้ว ยังเป็นเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตพื้นบ้านกับชุมชน
ส่วนนางสาวภัทรนันท์ เพิ่มพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขานางสางหัว จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า นอกจากการแผนการศึกษาของทาง สพฐ.แล้ว ได้มีการเสริมสร้างในเรื่องของทักษะชีวิต คือ แผนการเรียนรู้หลักสูตรชุมชน ในเรื่องของการสอนทอผ้า และในชุมชนของเรามีเรื่องของการเล่นกลองยาวถือเป็นเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงกลองยาว ตอนนี้การเล่นกลองยาวจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆภายในจังหวัด และมีการทำ ดาวล้อมเดือน คือการปลูกมะนาว พืชผักต่างๆในกระถ่างเพื่อประหยัดน้ำและสามารถนำผลผลิตนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีฐานเรียนรู้ 12 ฐานเพื่อให้เด็กรู้จักการเรียนรู้มากกว่าการเรียนในห้องเรียน
ทั้งนี้ตลอดทั้งวันยังมีนิทรรศการภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และการทีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้สำเร็จและยั่งยืน และการแสดงนิทรรศการจากโรงเรียนขนาดเล็ก 4 แห่งที่เป็นการสาธิตการนำความรู้จากชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการจัดหลักสูตร เช่น
1.โรงเรียนบ้านดอนทราย จังหวัดนครศรีธรรมราช นำผลงานของการทำดอกไม้จากผ้าใยบัว การทำน้ำมันหอมจากสมุนไพร เช่นตะไคร้ ใช้ไล่ยุง
2.โรงเรียนร้านหญ้า จังหวัดร้อยเอ็ด นำผลงานข้าวต้มด่าง น้ำด่างจากผงหนามและเปลือกนุ่น ซึ่งเป็นข้ามต้มที่ใช้ในงานบุญของทางจังหวัด และข้าวกล้องที่เกิดจากการทำนาด้วยตัวของเด็กเอง
3.โรงเรียนเขานางสางหัว จังหวัดกาญจนบุรี สาธิตตะกร้าหรรษา ผลงานผักเกษตรอินทรีย์ แก๊สชีวภาพ สาทิศการทอผ้า และหนังสือป็อปอัพ
4.โรงเรียนกุดเสถียร จังหวัดยโสธร ผลงานทำ สาธิตการทำนมสดสมุนไพร น้ำสมุนไพร บัวลอยที่ทำจากสีสมุนไพรแท้ๆ และเตาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำจากปี๊บและกระป๋องสีเก่า