จากใจครูร.ร.ขนาดเล็กถึงไม่เก่งวิชาการ แต่เราไม่ด้อยเรื่องวิชาชีพ
"ถ้าเด็กได้เรียนรู้เรื่องวิชาชีพ ถึงจบไปเด็กส่วนมากจะไม่ได้ไปเป็นคุณหมอ ไม่ได้เป็นคุณครู ไม่ได้รับราชการ แต่ก็สามารถนำทักษะส่วนนี้ไปประกอบอาชีพได้"
"ถ้าโรงเรียนใหญ่แต่ไกลบ้าน ขออยู่โรงเรียนเล็กๆแล้วมีความสุขดีกว่า เพราะแค่นี้ก็ดีแล้ว" ประโยคชวนคิดของด.ช.ธนพล สุวรรณธาดา โรงเรียนบ้านร้านหญ้า 1 ในผู้ร่วมงาน”ร้อยมือร่วม รวมใจปั้น ฝันเป็นจริง บนเส้นทางของโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่จัดโดยองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ณ หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เอ่ยขึ้นเมื่อถามถึงนโยบายรัฐที่มีแนวความคิดว่าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
เด็กน้อยคนนี้ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนที่เขากำลังเรียนอยู่ กำลังจะถูกยุบเพราะนโยบายรัฐ เพื่อนๆในโรงเรียนเศร้าใจกันมากเพราะทุกคนอยากเรียนใกล้ๆบ้านได้คุยกับเพื่อนที่เดินมาโรงเรียนพร้อมกันถึงแม้จะมีน้อยก็ตาม แต่ในที่สุดโรงเรียนของเราก็รอดจากการถูกยุบรวม เพราะมีองค์กรแอ็คชั่นเอดเข้ามาช่วยทำกิจกรรม
"โดยปกติครอบครัวผมมีอาชีพทำนา ซึ่งตอนนี้ทางโรงเรียนก็มีการสอนให้นักเรียนทำนา ผมชอบกิจกรรมนี้มากเพราะทำแล้วสามารถนำข้าวที่เราปลูกในโรงเรียนกลับไปกินกับครอบครัวที่บ้านได้และไม่ต้องไปซื้อ"
เช่นเดียวกันกับด.ญ.อริสรา ชมกระโทก โรงเรียนบ้านเขานางสางหัว ที่บอกกับเราว่า ปกติพ่อแม่ของเธอจะมาขายก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าโรงเรียน ฉะนั้นปกติเวลามาโรงเรียนเธอสามารถออกมาพร้อมผู้ปกครองได้เลย แม้โรงเรียนที่เรียนอยู่จะมีขนาดเล็กแต่ทุกวันที่เดินทางไปโรงเรียนรู้สึกมีความสุขมาก เพราะได้ทำกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นหลายอย่าง
กิจกรรมที่เธอยกตัวอย่าง และเธอสนใจที่สุด ก็คือ การสานตะกร้า เพราะได้รับความเพลิดเพลินและอีกอย่างคือ วิชาทอผ้า ทางโรงเรียนมีการสอนเรื่องทักษะชีวิตเพิ่มเติมในเรื่องของการเกษตร เช่น การปลูกข้าวโพด พอปลูกเสร็จก็สามารถเอาไปกินได้ และมีครูจากชุมชนเข้ามาช่วยสอน ในเรื่องการทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการมาโรงเรียนของอริสานั้น เธอบอกว่า ไม่ว่าโรงเรียนจะใหญ่หรือเล็ก ขอเพียงได้เรียนอย่างมีความสุข มีกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสนุกได้ความรู้ มีคุณครูที่เข้าใจ โรงเรียนจะเล็กหรือใหญ่ก็ไม่ได้สำคัญกับเธอเท่าไหร่นัก
ขณะที่นายอำนาจ แก้วฉวี ตัวแทนชุมชนจากจังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในผู้คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่า ถ้ามีบ้าน ก็ต้องมีวัด มีโรงเรียนคู่กัน คนในชุมชนจึงต่อสู้เมื่อได้ยินข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการจะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ทางหมู่บ้านก็มีการประชุมขึ้นระหว่างโรงเรียนและชุมชน ซึ่งก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยุบโรงเรียนไม่ได้ วัด โรงเรียน ชุมชน ต้องอยู่ร่วมกัน
จากนั้นวัด โรงเรียน ชุมชน มีการจัดวางแผนทั้งครูและชุมชนในการจัดหลักสูตรการสอนภูมิปัญญาและท้องถิ่น เชิญผู้ที่มีความสามารถในชุมชนเข้ามาสอน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี
"อย่างผมเองก็มีการสอนการทำนาอยู่ที่โรงเรียนด้วย อีกหนึ่งวิชาเป็นวิชาเสริมคือ การสอนเพาะเห็ด และการทำข้าวต้มด่าง ซึ่งเป็นข้าวที่ทำกันมาเหมือนประเพณี เพราะเราอยากให้ลูกหลานของตัวเองมีอาชีพติดตัว มีความสามัคคี ทางชุมชนได้เป็นสื่อที่ได้สร้างความสามัคคีได้ส่วนหนึ่งด้วย”
อีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ไม่อาจมองข้ามได้จากโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับการพัฒนาการศึกษาไปพร้อมกับทักษะการเรียนรู้แบบวิถีชีวิต อาจารย์ ภัทรนันท์ เพิ่มพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขานางสางหัว จ.กาญจนบุรี สะท้อนว่า โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน การที่โรงเรียนขนาดเล็กยังต้องอยู่กับชุมชนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศูนย์รวมใจ ไม่ได้อยู่ได้เพราะมีครูมาบริหารงาน แต่เราอยู่ได้ด้วยความเป็นพี่น้อง และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากถูกยุบควบรวมโรงเรียนจริง เรื่องของการเดินทาง ความอบอุ่นที่ได้รับจากพ่อแม่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับเด็กมากที่สุด คิดว่าโรงเรียนจะอยู่ได้ต้องรู้วิถีชุมชนเป็นหลัก ชุมชนและโรงเรียนได้ทำงานร่วมกัน
จุดเด่นสำคัญที่อ.ภัทรนันท์ มั่นใจและกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ว่า ถึงโรงเรียนเราไม่ได้เด่นเรื่องวิชาการเท่าไหร่ แต่เราก็ไม่น้อยหน้าเรื่องวิชาชีพ
และสิ่งที่ได้รับจากองค์กรแอ็คชั่นเอด คือ ได้รับกำลังใจที่เปี่ยมล้นจากองค์กร และในความดีใจอีกอย่างคือ มีหลายองค์กรเข้ามาช่วยเหลือ มีการจัดการพูดคุยเสวนากันทุกเดือนทุกเย็น จากโรงเรียนที่เคยเงียบเหงากลายเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งอาชีพที่นำมาสอนเด็ก เนื่องจากการให้เด็กเรียนรู้ด้วยหลักสูตรอย่างเดียวเหมือนเป็นการจำกัดความสามารถเด็ก เพราะเด็กจะไม่สามารถแสดงความถนัดด้านอื่นออกมาได้เลย
อีกทั้งทางโรงเรียนมีเด็กพิเศษ เขาไม่ถนัดด้านการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ แต่ก็ชอบการวาดรูป ชอบปลูกผัก และในความสามารถเฉพาะตัวของเด็กแบบนี้จะทำให้เด็กมีจุดเด่นในตัวของเขาเอง รวมถึงมีจุดยืนในสังคมได้ อย่างน้อยต้องทำอะไร เพื่อให้เด็กมีความสุข ได้ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ แต่ต้องไม่ทิ้งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ด้วย
สอดคล้องกับ ครูสกุณา สดใส โรงเรียนบ้านร้านหญ้า จ.ชัยภูมิ ครูโรงเรียนขนาดเล็ก สอนในทุกวิชา รวมถึงมีการสอนควบชั้นเรียนด้วย เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครูผู้สอนไม่เพียงพอ
"ก่อนหน้านี้ เด็กส่วนมากจบไปไม่เรียนต่อ เนื่องจากไม่เก่งเรื่องการเรียน ครูอย่างเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ปัจจุบันกลับเห็นความสำคัญกับเด็กส่วนนี้ เมื่อเกิดโครงการนี้เข้ามา สามารถทำให้โรงเรียนเราคงอยู่ต่อไปได้ ตัวชุมชนเองเขาก็มีความรู้สึกกลัวว่า โรงเรียนจะถูกยุบ แต่ในการสอนทักษะเหล่านี้เพิ่มเข้ามา พบว่าเกิดผลดีกับเด็กอย่างมากเพราะเป็นการสร้างทักษะชีวิตโดยตรง"
ครูสกุณา เห็นว่า ถ้าเด็กได้เรียนรู้เรื่องวิชาชีพ ถึงจบไปเด็กส่วนมากจะไม่ได้ไปเป็นคุณหมอ ไม่ได้เป็นคุณครู ไม่ได้รับราชการ แต่ก็สามารถนำทักษะส่วนนี้ไปประกอบอาชีพได้ ตัวโรงเรียนเองก็ไม่ทิ้งเรื่องการออกเขียนได้ตามที่ทาง สพฐ.กำนหนดไว้
ด้านดร.รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีดึงโรงเรียนขนาดเล็กเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพเล่าว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาแอ็คชั่นเอด ได้เข้าร่วมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ในการที่จะสร้างกลุ่มขึ้นมาให้พวกเขาร่วมมือกันและได้ขอรายชื่อเพื่อเซ็นข้อเรียกร้องยื่นเสนอให้ทางกระทรวงฯ เพื่อเปิดโรงเรียนขนาดเล็กและได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ ด้วยการจัดให้มีการฝึกอบรมให้โรงเรียนขนาดเล็กรู้ว่า เขาจะไปคิดตามงบประมาณได้อย่างไร เขาจะใช้จ่ายเท่าไหร่ และงบประมานที่ได้พอไหม ถ้าไม่พอจะทำอย่างไร ทางโรงเรียนก็ได้ร่วมมือกับทางชุมชน เพื่อหารายได้หรือรับบริจาคทางบริษัทต่างๆ หรือมูลนิธิอื่นเข้ามาช่วยเหลือ
ส่วนหนึ่งทางองค์กรได้สร้าง คือ เครือข่ายเน็ตเวิร์คของโรงเรียนขนาดเล็ก เดือนละครั้งจะให้มีการปรึกษากันเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือกันและกัน โดยตอนแรกเริ่มจากภาคอีสาน และมีการจัดตั้งทีมลงไปยังพื้นที่เพื่อดูปัญหาและความต้องการของในโรงเรียนนั้น สามารถพัฒนาเรื่องการเรียนการสอนนอกเหนือจากวิชาการ แล้วยังสามารถทำให้เด็กได้เรียนโดยมีทักษะที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
“ไม่มีใครรู้ปัญหาของตัวเองเท่ากับตัวเอง การที่ไปรอแต่ให้คนอื่นช่วยเหลือ แล้วเราไม่ได้พัฒนากลุ่มหรือให้ชุมชนให้เขามีส่วนร่วม การรอมันช้าอย่างน้อยตัวเองต้องเข้มแข็งเสียก่อน”
ในเรื่องของงบประมาณที่ทางองค์กรแอ็คชั่นเอดได้นำมาช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ดร.รังสิมา บอกด้วยว่า ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ และโครงการที่รับเงินจาก EU หรือ EC แค่โครงการเดียวทางภาคเหนือ ส่วนโครงการจากเรื่องการศึกษา การพัฒนาเรื่องสิทธิสตรีและเรื่องเกษตรยั้งยืนจะได้งบประมาณมาจากองค์กรที่เป็นองค์กรแม่ของต่างประเทศ
"การแก้ไขปัญหาการเหลื่อมล้ำและศักยภาพของโรงเรียนเมื่อถูกยุบรวม จะมีปัญหาที่เด็กต้องเดินทางไกล ไม่มีความปลอดภัย ถูกกล่าวถึง ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึง คือ เมื่อเด็กถูกย้ายโรงเรียนไปหรือถูกควบรวมแล้ว มีความรู้สึกว่าเข้ากับเด็กในโรงเรียนก่อนหน้านั้นยาก บางคนถูกรังแก หรือบางครั้งไม่ได้รับการยอมรับจึงเกิดการเรียนอย่างไม่มีความสุข
จากปัญหาเหล่านี้อย่างแรกมองว่าต้องมีการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการควมรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้"
แม้ขณะนี้นโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะไม่มีการกล่าวถึงในรัฐบาลทหาร แต่ภายหลังมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นก็ยังไม่มีอะไรยืนยันได้ว่านโยบายนี้จะกลับมาจุดไฟให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องตกใจอีกครั้งหรือไม่
ขอบคุณภาพจากบล๊อคแก๊ง