พลิกคำพิพากษา ขมวดเหตุผล ไฉน!ศาลฎีกาฯไม่เชื่อ ‘สมศักดิ์’ ยึดบ้าน 16 ล.
เปิดคำพิพากษา! ขมวดเหตุผลชัด ๆ ไฉนศาลฎีกาฯ ไม่เชื่อคำอ้าง‘สมศักดิ์’ เขียน ‘ไดอารี’ ส่วนตัว บันทึกรายการรับเงินสนับสนุนจากพรรคชาติไทย ผู้ใหญ่ใช้เลือกตั้งเหลือเก็บสะสม 30 ล. สร้างบ้าน ง่ายเกิน-ขัดแย้งข้อเท็จจริง หากสุจริตต้องแจ้ง ป.ป.ช.
กรณีวันที่ 11 พ.ย. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เผยแพร่คำพิพากษาและความเห็นในการวินิจฉัยคดี คดีหมายเลขแดงที่ อม.128/2559 ระหว่าง อัยการสูงสุด (ผู้ร้อง) นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (ผู้ถูกกล่าวหา) (ขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน)
หลังจาก มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2559 ว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติ กรณีบ้านพักอาศัยเลขที่ 5/5 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานไปแล้วว่า แนวทางการต่อสู้คดีของนายสมศักดิ์ ภายหลังจากศาลฎีกาฯ พิพากษาคดีแรก เมื่อ 4 พ.ค. 2555 ว่า นายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. กรณีเป็นเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว นายสมศักดิ์ซึ่งถูก ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในข้อหาร่ำรวยผิดปกติอีกคดีหนึ่ง กรณีเป็นเจ้าของบ้านบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล ปรากฎว่า นายสมศักดิ์ได้เปลี่ยนคำให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.หลายครั้ง โดยยอมรับว่า เป็นเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว (ก่อนหน้านี้อ้างว่าเป็นของเครือญาติหรือกงสี) และเงินที่นำมาใช้ในการก่อสร้างเป็นเงินสดที่เหลือจากการรับสนับสนุนทางการเมืองและจากการเลือกตั้งจากพรรคชาติไทย และบุคคลอื่น ๆ 56,774,343.58 บาท แต่ศาลฎีกาฯ ไม่เชื่อถือคำให้การดังกล่าว (อ่านประกอบ : เผยแพร่คำพิพากษาคดียึดบ้าน ‘สมศักดิ์’ อ้างมี ‘เงินสด’ เหลือใช้หลังเลือกตั้ง 56.7 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สรุปสาระสำคัญมาเสนอ
@เปลี่ยนคำให้การหลายครั้ง ประเด็น ใครเป็นเจ้าของบ้าน?
คดีนี้ นายสมศักดิ์นำพยานขึ้นเบิกความต่อศาลฎีกาฯ จำนวน 10 ปาก คือ ตัวนายสมศักดิ์ นาวาอากาศโทหญิงงามเพ็ญ วงศ์วัฒนะ นายกว้าง รอบคอบ (อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา และ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน) นายสุรเชษ นิ่มกุล (เครือญาติ) นางรวีวรรณ ปริศนานันทกุล (ภรรยานายสมศักดิ์) พ.ต.ท.ก้องกาญจน ฉันทปรีดา นายมานิจ ชัยชาญณรงค์ น.ส.งามทิพย์ ฉัตรบริรักษ์ (เครือญาติ) นายพินิจ ธีระบุตรวงศ์กุล และ นางเอมอร ตั้งเกียรติตระกูล
ประเด็นหนึ่งปรากฎในคำพิพากษา คือ พยานเปลี่ยนคำให้การหลายครั้ง ในประเด็น ใครเป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริง และเงินที่ใช้ก่อสร้าง?
เริ่มจาก นายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ (เครือญาติภรรยานายสมศักดิ์) เคยให้การในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 20 เม.ย. 2544 ครั้งที่สอง 10 ก.ค. 2550 และครั้งที่สาม 14 ก.ค. 2553 คำให้การครั้งแรก นายไพโรจน์ให้การว่า บ้านเลขที่ 5/5 ไม่ใช่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา (นายสมศักดิ์) แต่เป็นบ้านของตระกูลกงสีฉัตรบริรักษ์ และครั้งที่สอง นายไพโรจน์ยังคงยืนยันว่า ใช้เงินสด และเงินในบัญชีเงินฝากของ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญเจริญกิจ ชำระค่าวัสดุก่อสร้าง
ส่วน นางรวีวรรณ ปริศนานันทกุล (ภรรยานายสมศักดิ์) เคยให้การในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 2 ส.ค. 2550 ครั้งที่สอง 15 ก.ค. 2553 ในการให้การครั้งแรก นางรวีวรรณอ้างว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกสร้างบ้านเลขที่ 5/5 โดยใช้เงินของโรงสีวิเศษชัยชาญเจริญกิจในการก่อสร้างบ้านดังกล่าว หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2556 (ภายหลังจากศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ เมื่อ 4 พ.ค. 2555 กรณีไม่แจ้งบ้านหลังดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นคดีแรก) นางรวีวรรณยังทำหนังสือถึงประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนขอให้การเพิ่มเติม โดยยืนยันว่า เงินที่ใช้ซื้อที่ดินและปลูกบ้านเลขที่ 5/5 เป็นเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญเจริญกิจ
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งแรกเมื่อ 29 มี.ค. 2553 หลังจากนั้น ถูกแจ้งข้อกล่าวหาวันที่ 25 พ.ค. 2554 นายสมศักดิ์ทำหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาเมื่อ 20 มิ.ย. 2554 ยีนยันว่า บ้านหลังดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา และคู่สมรส แต่เป็นทรัพย์สินของ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญเจริญกิจ ค่าใช้จ่ายในการชำระค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรง นายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ เป็นผู้ดูแลจัดการทั้งหมด โดยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของนายไพโรจน์ และหรือนายเกรียงศักดิ์ ฉัตรบริรักษ์ นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง
และในการขึ้นให้การต่อศาลฎีกาฯ คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จคดีแรก (ก่อนศาลตัดสิน) นายสมศักดิ์ยังคงให้การปฏิเสธ และยื่นคำคัดค้านว่า บ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล นายไพโรจน์ และนายเกรียงศักดิ์ หารือและตกลงกันจะทำเป็นสำนักงานดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของนายไพโรจน์ ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ด่านช้าง และให้นายสมศักดิ์ใช้เป็นสำนักงาน และที่พักอาศัย จึงใช้เงินของ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญเจริญ จ่ายค่าก่อสร้าง บ้านเลขที่ 5/5 ไม่ใช่ของนายสมศักดิ์ แต่เป็นทรัพย์สินของ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญเจริญ
@หลังแพ้คดีแรก เปลี่ยนคำให้การใหม่ งัด ‘ไดอารี่’ อ้างใช้เงินสด 30 ล.
แต่หลังจาก ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ โดยพิพากษาว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นของนายสมศักดิ์และคู่สมรส และไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช. เมื่อ 4 พ.ค. 2555 ซึ่งเป็นคดีแรก นายสมศักดิ์ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. อีกหลายครั้ง และกล่าวอ้างข้อเท็จจริงต่างกันไป
14 ส.ค. 2555 ระบุว่า เงินที่ใช้ในการปลูกสร้างบ้านส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ นายไพโรจน์ หรือนายเกรียงศักดิ์ ฉัตรบริรักษ์ เบิกจากเงินฝากธนาคาร และส่วนใหญ่ใช้เงินสดในการชำระค่าวัสดุก่อสร้างเป็นงวด ๆ รวมทั้ง ค่าแรงช่างในการปลูกสร้างบ้าน โดยเงินเบิกจ่ายจากบัญชีธนาคารและเงินสด นั้น ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส ต่างยินยอมและมอบไว้ให้ใช้สำหรับชำระเป็นค่าก่อสร้าง ซึ่งแตกต่างจากคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาในชั้นศาลโดยสิ้นเชิง แม้ต่อมา วันที่ 9 เม.ย. 2556 นายสมศักดิ์ขอเปลี่ยนคำชี้แจงใหม่เป็นว่า นายสมศักดิ์มีสมุดบันทึกการเงินเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา โดยเป็นสมุดบันทึกส่วนตัวเกี่ยวกับการรับเงินสนับสนุนการเลือกตั้งในปี 2538 และปี 2539 มีการเขียนรายละเอียดชัดเจนถึงกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนการเงินแก่นายสมศักดิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ละครั้ง ดังนั้น จึงชี้แจงใหม่ว่า นายสมศักดิ์และครอบครัวต้องการจะปลูกสร้างบ้านพักอาศัย และสำนักงานในงบประมาณ 10 ล้านบาทถึง 15 ล้านบาท โดยนายสมศักดิ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึง ค่าตกแต่งประมาณ 5 ล้านบาท และค่าจัดซื้อเครื่องใช้ภายในบ้านประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เหลือจากการเลือกตั้งที่เก็บสะสมไว้ประมาณ 30 ล้านบาท อันได้มาจากการรับการสนับสนุนการเลือกตั้งจากพรรคชาติไทย และผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุน
@ข้อพิรุธให้การขัดแย้ง
แม้คำชี้แจงใหม่จะสอดคล้องกับคำเบิกความในชั้นศาลก็ตาม แต่เพิ่งให้การเพิ่มเติมใหม่เมื่อ 9 เม.ย. 2556 หลังจากที่เคยให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งแรกเมื่อ 29 มี.ค. 2553 เป็นเวลา 3 ปีเศษ
พิจารณางบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฎว่า มีการทำสัญญาว่าจ้าง มีการกำหนดงวดงานแต่ละงวด และชำระค่าแรงแต่ละงวดอย่างไร มีการทำหลักฐานการส่งมอบงานและหลักฐานการรับเงินกันไว้หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาเคยให้การในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า เงินค่าก่อสร้างทั้งหมดทยอยถอนเงินจากบัญชีธนาคารมาชำระค่าใช้จ่าย แต่ในชั้นศาลกลับเบิกความว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างบ้าน ใช้เงินสดที่ฝากไว้กับนายสวัสดิ์ เลิศเจริญศิลป์ (พี่เขย) จำนวน 11 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่ง ใช้เงินสดที่เก็บไว้ในตู้นิรภัย จำนวน 8,170,000 บาท รวม 2 ก้อนเป็นเงิน 19,170,000 บาท ส่วนค่าตกแต่งต่อเติม ผู้ถูกกล่าวหานำเงินจากบัญชีธนาคารของ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญเจริญ 2 บัญชี จำนวน 6,372,274.97 บาท มาเป็นค่าใช้จ่าย แต่ก็ปรากฏว่า ได้ถอนเงิน และปิดบัญชีไปก่อนที่จะทำการแก้ไขตกแต่งต่อเติมภายในภายนอกอาคาร
แสดงว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้าน และค่าใช้จ่ายในการแก้ไขตกแต่งต่อเติมอาคาร ชำระด้วยเงินสดทั้งสิ้น มิได้ทยอยถอนออกมาจากธนาคารตามที่เคยให้การในชั้นไต่สวน แต่อย่างใด จึงขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
@ไม่เชื่อ สมุดบันทึกส่วนตัว
การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า เงินสดที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยและฝากไว้กับนายสวัสดิ์ และเงินที่ถอนและปิดบัญชีธนาคารมาก่อนแล้ว เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการก่อสร้างและตกแต่งบ้านดังกล่าว นั้น เงินสดที่อ้างว่า เก็บอยู่ในตู้นิรภัยเป็นการง่ายที่จะยกขึ้นมากล่าวอ้าง เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ถูกกล่าวหา และคู่สมรส เท่านั้น ถึงแม้นายสมศักดิ์จะมีสมุดบันทึกประจำวันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2538 เป็นพยานประกอบ แต่สมุดบันทึกประจำวันดังกล่าวเป็นบันทึกส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหา ที่ผู้ถูกล่าวหาจดบันทึกไว้เอง จึงไม่ทำให้คำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่อย่างใด
ส่วน ‘เงินสด’ ที่อ้างว่าฝากนายสวัสดิ์ไว้ 11 ล้านบาท นั้น นายสวัสดิ์เคยมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน เมื่อ 27 ต.ค. 2557 ระบุว่า ได้ทยอยจ่ายให้กับนายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ (พี่เขยนายสมศักดิ์) ไปจนครบถ้วนแล้ว แต่ในชั้นศาล นายสวัสดิ์มาเบิกความเป็นพยานผู้ร้อง กลับเบิกความตอบทนายผู้ถูกกล่าวหาว่า ได้ทยอยคืนให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาจนครบถ้วนแล้ว ซึ่งแตกต่างกันในสาระสำคัญ
@อ้างใช้เงินสดสร้างบ้าน แต่บัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. กลับไม่มีเงินสด
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง นายสมศักดิ์ ไม่เคยระบุว่า ตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีเงินสดไว้ในครอบครองในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. แต่ละครั้ง ทั้งที่ ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวกำหนดให้การมีเงินสดเกินกว่า 100,000 บาท จะต้องแจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ด้วย และมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการใช้อำนาจรัฐ มีบทบาทอำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษต่อสังคมได้อย่างกว้างขวาง สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม โดยการแจ้งข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แต่ผู้ถูกกล่าวหา หาได้แจ้งไว้ไม่ แต่มาอ้างว่า ความจริงตนเองมีเงินสดอยู่ในครอบครองจำนวนมากหลายล้านบาท
ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างชี้แจงตามคำให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เหตุที่ไม่แสดง ‘เงินสด’ ที่ได้มาจากการสนับสนุนการเลือกตั้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตำแหน่งแต่ละกรณีต่าง ๆ เพราะเห็นว่า เงินสดดังกล่าวมีจำนวนไม่แน่นอน เพราะมีการหมุนเวียนเพื่อกิจกรรมทางการเมืองโดยตลอด และไม่มีเอกสารยืนยันว่า มีเงินสดจำนวนมากนั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนด้วยการใช้จ่ายไปโดยชอบตามภารกิจต่าง ๆ ก็สามารถชี้แจงภายหลังได้ การปิดบังซ่อนเร้น หรือฝากบุคคลอื่นไว้กลับเป็นเงื่อนงำที่ส่อไปในทางไม่สุจริตเสียมากกว่า และผู้ถูกกล่าวหาจะยกแหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อแก้ตัว เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่
ข้ออ้างและทางไต่สวนของผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินทั้งหมดที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านเลขที่ 5/5 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
@ข้อเท็จจริงได้บ้านขณะเล่นการเมือง
ส่วนประเด็นที่สองที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ได้มาซึ่งบ้านดังกล่าวโดยก่อสร้างโครงสร้างบ้านแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน เม.ย. 2542 ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหา นั้น
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าบ้านหลังดังกล่าวจะปลูกสร้างโครงสร้างบ้านเเล้วเสร็จก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการการกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม แต่ยังมีการตกแต่งและปลูกสร้างส่วนอื่นมาอย่างต่อเนื่อง จนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี 2543
เมื่อพิจารณาหลักการและเหตุผล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่กำหนดลักษณะอันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ การมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หลักเกณฑ์วิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหา เพื่อให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติในขณะดำรงตำแหน่ง ตกเป็นของแผ่นดิน ก็เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
คำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือ...”
ส่วนคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า “(1) นายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรี (3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (4)....”
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 17 พ.ย. 2539 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ 14 พ.ย. 2540 พ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 9 ก.ค. 2542 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 5 ก.พ. 2544 ดังนี้
ในช่วงเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร ปี 2539 ถึง 5 ก.พ. 2544 ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสถานะเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” และเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา การก่อสร้างบ้านเลขที่ 5/5 ในระหว่างปี 2541-2543 จึงเป็นการที่ผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
@พิสูจน์ที่มาไม่ได้-ยึดเป็นของแผ่นดิน
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ไม่ได้ ว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นผลให้การได้มาซึ่งทรัพย์สินอันมิชอบ และขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนที่มีความมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้ประพฤติทุจริตในขณะดำรงตำแหน่งไม่อาจยึดถือทรัพย์สินไว้ได้อีกต่อไป อันเป็นผลทางกฎหมายที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 83 ซึ่งเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดทางอาญา อันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญา ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายนี้จึงมีผลย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาในขณะดำรงตำแหน่ง โดยร่ำรวยผิดปกติ อันเป็นการได้มาโดยไม่ชอบ และยังคงมีอยู่ ในขณะที่กฎหมายที่ใช้บังคับได้ ข้ออ้างและการนำสืบไต่สวนของผู้ถูกกล่าวหาทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษาว่า บ้านเลขที่ 5/5 หมู่ที่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท ซึ่งปลูกอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ตกเป็นของแผ่นดิน
อ่านประกอบ :
เผยแพร่คำพิพากษาคดียึดบ้าน ‘สมศักดิ์’ อ้างมี ‘เงินสด’ เหลือใช้หลังเลือกตั้ง 56.7 ล.
เปิดทรัพย์สิน'สมศักดิ์'ไม่เคยแจ้งมีเงินสด แต่อ้างศาลฎีกาฯเอาไปซื้อบ้าน 16 ล.
ไม่คุ้ยต่อปม‘สมศักดิ์’อ้างมีเงินสดแต่ไม่แจ้ง ป.ป.ช.-เชื่อคำพิพากษาศาลมัดไม่มีอยู่จริง
คำพิพากษาศาลฟัน‘สมศักดิ์’รวยผิดปกติ อ้างใช้เงินลงเลือกตั้งซื้อบ้าน-ไม่แจ้ง ป.ป.ช.?
ไทม์ไลน์'สมศักดิ์'นักการเมืองรายที่ 4 ถูกยึดทรัพย์
ยึดบ้าน 16 ล้าน! ศาลฎีกาฯ พิพากษา 'สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล' รวยผิดปกติ
‘สมศักดิ์’ รอด! มติ สนช.109:82 ไม่ถอดถอน ปมร่ำรวยผิดปกติ บ้าน 16 ล.
ปล่อยผมไปเถอะ! ‘สมศักดิ์’ยันได้บ้านก่อนนั่ง รมว.ศธ.ลุ้น สนช.ถอด 13พ.ย.
ป.ป.ช.ฟันดาบ 2 “สมศักดิ์” รวยผิดปกติหาที่มาบ้าน 16 ล้าน ไม่ได้
หนักกว่า “ชินณิชา” ศาลฎีกาฯ เชือด “สมศักดิ์” ซุกบ้าน-เงินฝาก 30 ล้าน จำคุก 6 เดือน