ขมวดปม!หลักฐาน'อิศรา' มัดจัดซื้อไก่อบจ.สุรินทร์ร้อยล. สตง.ใช้ลุยสอบคดี'ฮั้ว'
ขมวดปม! 'อิศรา' เปิดหลักฐานมัดจัดซื้อไก่อบจ.สุรินทร์ร้อยล. '2 หจก.' ที่อยู่-ผู้สอบบัญชีคนเดียวกัน ก่อน สตง.ใช้ลุยสอบคดี 'ฮั้ว'-ระบุชัดหากพบพฤติการณ์กระทำความผิดจริง เรียกค่าเสียหายคืนทั้งหมด
นับเป็นระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามตรวจสอบข้อมูลการประกวดราคาจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ และวัสดุเวชภัณฑ์ หลายสัญญา วงเงินนับร้อยล้านบาท ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สุรินทร์ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีการตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ชัดๆ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ภายหลังจากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบ โครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)สุรินทร์ ปีงบประมาณ 2557 – 2559 วงเงิน 143,048,845 บาท ที่ดําเนินการฝึกอบรมเกษตรกรตามเป้าหมายจํานวน 130,100 ราย ทุกอําเภอรวมทั้งหมด 17 อําเภอ โดยพบปัญหาการดำเนินงานส่อว่าโครงการจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์และไม่เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการปัญหาการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ที่สูงกว่าราคาท้องตลาดทำให้ราชการเสียหายเป็นเงินกว่า 11 ล้านบาท (อ่านประกอบ: ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเลี้ยงไก่ อบจ.สุรินทร์ 143 ล. บกพร่องเพียบ)
สำนักข่าวอิศรา ได้ขยายผลการตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างไก่พันธุ์ไข่ ของ อบจ.สุรินทร์ จากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2557 -2559 อบจ.สุรินทร์ ทำสัญญาซื้อไก่พันธุ์ไข่ จำนวน 5 สัญญา รวมวงเงิน 128,468,545 บาท โดยจัดซื้อจากเอกชน 2 ราย คือ หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ 4 สัญญา รวมวงเงิน 103,812,470 บาท หจก.บุรีรัมย์ ยาสัตว์ 1 สัญญา วงเงิน 24,656,075 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลเอกชนทั้ง 2 ราย พบว่า หจก. สุรินทร์ยาสัตว์ ที่ได้รับงานไปมากที่สุด 4 สัญญา จดทะเบียนจัดตั้ง 10 สิงหาคม 2548 ทุนปัจจุบัน 600,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 82/110-111 ถนนสระโบราณ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริมแร่ธาตุ เวชภัณฑ์รักษาโรคสัตว์
ปรากฎชื่อ นางสาว มนชิดา เขียวหวาน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ หุ้นส่วนมี 2 ราย คือ นาย กอบชัย มัดตุรัด และ นางสาว มนชิดา เขียวหวาน ถือหุ้นเท่ากันคนละ 300,000 บาท
ส่วน หจก. บุรีรัมย์ ยาสัตว์ ที่ได้รับงานไป 1 สัญญา จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 4 เมษายน 2556 ทุนปัจจุบัน 600,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 2/19 ถนนหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้ายาสัตว์ ยาบำรุง อาหารเสริมสำหรับสัตว์ประกอบกิจการ ค้าเมล็ดพันธุ์พืช ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงโค และจำหน่ายน้ำเชื้อ พันธุ์สัตว์
ปรากฎชื่อ นาย ธีระ บุญประจำ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ หุ้นส่วนมี 2 ราย คือ นาย ธีระ บุญประจำ และ น.ส. องุ่น อุไร ถือหุ้นเท่ากันคนละ 300,000 บาท
ขณะที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สุรินทร์ยาสัตว์ เพื่อขอสัมภาษณ์หุ้นส่วนผู้จัดการเกี่ยวกับราคาไก่ที่ขายให้กับอบจ.สุรินทร์
เบื้องต้น มีผู้ชายคนหนึ่ง เป็นผู้ชี้แจงข้อมูล โดยระบุว่า หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ ได้ขายไก่พันธุ์ให้กับอบจ.สุรินทร์ จำนวนหลายสัญญาจริง โดยเฉลี่ยราคาไก่อยู่ที่ตัวละ 245-250 บาท ได้กำไรประมาณตัวละ 20-23 บาท
เมื่อถามว่า สตง.ระบุว่า ราคาไก่แพงเกินกว่าราคาตลาด ผู้ชายคนนี้ ชี้แจงว่า ช่วงที่อบจ.สุรินทร์ จัดซื้อไก่ เป็นช่วงที่ไก่ขาดตลาด และสั่งซื้อที่ละประมาณแสนกว่าตัว ทำให้มีราคาแพงกว่าปกติ
"หจก.ของผม เข้าร่วมประกวดราคาตามขั้นตอนปกติ ไม่มีปัญหาอะไร เราเสนอราคาต่ำสุดทำให้ได้รับงานมา ส่วนการจัดหาไก่มาขาย ก็จะไปติดต่อกับผู้เลี้ยงหลายราย รวบรวมมาจากหลายที หลังจากได้งานครั้งแรก เราก็มีช่องทางในการหาไก่มากขึ้น พอรู้ว่าอบจ.จะจัดซื้อช่วงไหน เราก็จะรีบไปรวบรวมมาขาย ทำให้เราได้เปรียบกว่าคนอื่น ซึ่งก็เป็นวิธีการทำธุรกิจตามปกติ"
(อ่านประกอบ : หจก.รายเดียวคว้า4 สัญญา103ล.!ข้อมูลจัดซื้อไก่อบจ.สุรินทร์ ก่อนสตง.ลุยสอบ)
สอง จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคาจัดซื้อไก่ของอบจ.สุรินทร์ 3 สัญญา ล่าสุด คือ การจัดซื้อเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2559 วงเงิน 29,982,150 บาท หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ เป็นผู้ชนะ , การจัดซื้อเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2558 ปรากฎชื่อ หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ เป็นผู้ชนะ เสนอราคาอยู่ที่ 27,238,400 บาท และ การจัดซื้อเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2558 ปรากฎชื่อ หจก.บุรีรัมย์ ยาสัตว์ เป็นผู้ชนะ เสนอราคาอยู่ที่ 24,656,075 บาท
พบว่า หจก.บุรีรัมย์ ยาสัตว์ และ หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ มักปรากฎชื่อเป็นผู้เสนอราคาแข่งขันกันทุกครั้ง
(อ่านประกอบ :ตั้งราคากลางตัวละ249บ.!โชว์สเปคแม่ไก่อบจ.สุรินทร์-2 หจก.ชิงดำ 3 สัญญาติด)
สาม สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.บุรีรัมย์ยาสัตว์ พบว่า ที่ตั้ง ของ หจก.ฯ คือ เลขที่ 2/19 ถนนหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของ นายกอบชัย มัคตุรัด ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งแต่ช่วงจดทะเบียนจัดตั้งหจก.ฯ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่แต่อย่างใด
ขณะที่ นายกอบชัย มัคตุรัด เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ ที่เข้าแข่งขันประกวดราคาขายไก่พันธุ์ไข่ และวัสดุเวชภัณฑ์ กับอบจ.สุรินทร์
เมื่อติดต่อไปยัง นายธีระ บุญประจำ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุรีรัมย์ยาสัตว์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงตามข้อมูลที่ตรวจสอบพบ ได้รับการยืนยันว่า หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ และ หจก.บุรีรัมย์ยาสัตว์ เป็นหจก.คนละแห่ง ไม่เกี่ยวข้องกันในทางธุรกิจและการบริหารงาน
เมื่อถามว่า ที่อยู่ปัจจุบันของหจก. บุรีรัมย์ยาสัตว์ คือ เลขที่ เลขที่ 2/19 ถนนหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ใช่หรือไม่ นายธีระ ตอบว่า "ใช่"
เมื่อถามว่า ที่อยู่แห่งนี้ เป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของ นายกอบชัย มัคตุรัด หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ ใช่หรือไม่
นายธีระ ตอบว่า "ใช่ หจก. บุรีรัมย์ยาสัตว์ เราเช่าบ้านของคุณกอบชัยอยู่จริง"
"แต่แม้เราจะเช่าบ้าน คุณกอบชัย แต่เราก็ไม่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกันนะ แค่เช่าบ้านเฉยๆ"
เมื่อถามว่า หจก.ทั้งสองแห่ง เข้าร่วมประกวดราคาขายไก่ให้กับ อบจ.สุรินทร์ มาตลอด
นายธีระ ตอบว่า "ใช่ แต่แข่งขันราคากันจริง ไม่เกี่ยวข้องกัน บางงานก็ได้บางงานก็ไม่ได้ "
เมื่อถามว่า รู้จักกับ นายกอบชัย ได้อย่างไร นายธีระ ตอบว่า "เราทำธุรกิจขายพวกอาหารสัตว์ และคุณกอบชัย ก็เป็นตัวแทนจำหน่าย(เอเยนต์)ขายสินค้าพื้นที่นี้อยู่"
เมื่อถามถึง ข้อมูลเกี่ยวกับไก่ที่นำมาขายให้ อบจ.สุรินทร์ นายธีระ ตอบว่า "ก็รวบรวมมาขายโดยซื้อต่อมาจากเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ซื้อมาตอนอายุ 16 สัปดาห์ ต้องเอามาเลี้ยงต่ออีก2 สัปดาห์ เพราะสเปคที่อบจ.สุรินทร์ซื้อ คือ ไม่เกิน 18 สัปดาห์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าจะราคาแพงเกินราคาตลาด"
เมื่อถามว่า หจก.มีที่อยู่เชื่อมโยงกัน ไม่กังวลว่าจะถูกมองเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกัน และเข้าร่วมประกวดราคาพร้อมกันหรือ นายธีระ ตอบว่า "ก็แล้วแต่ใครจะมอง แต่เราเป็นคนละหจก.กัน แค่เช่าบ้านอยู่เท่านั้น"
เมื่อถามย้ำว่า หากมีหน่วยงานตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบพร้อมจะชี้แจงข้อเท็จจริงอยู่แล้ว นายธีระ ตอบว่า พร้อมที่จะชี้แจงอยู่แล้ว เรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด"
(อ่านประกอบ : เปิดทะเบียนบ้านมัด '2 หจก.' ขายไก่อบจ.สุรินทร์กลุ่มเดียวกัน-หุ้นใหญ่แจงแค่เช่าบ้านอยู่)
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของ หจก.บุรีรัมย์ยาสัตว์ และ หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ พบว่า ในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ปี 2558 ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฎชื่อ นางดวงกมล ยอดศรี เป็นผู้รับทำบัญชีให้ทั้ง 2 หจก.
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2559 ในช่วงทำโครงการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ อบจ.สุรินทร์ ทำสัญญาซื้อไก่พันธุ์ไข่ จำนวน 5 สัญญา รวมวงเงิน 128,468,545 บาท โดยจัดซื้อจากเอกชน 2 ราย คือ หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ 4 สัญญา รวมวงเงิน 103,812,470 บาท หจก.บุรีรัมย์ ยาสัตว์ 1 สัญญา วงเงิน 24,656,075 บาท
(อ่านประกอบ : พบหลักฐานใหม่ 2 หจก.ขายไก่อบจ.สุรินทร์ ใช้หญิงสาวทำบัญชีงบดุลฯคนเดียวกัน, เงินกู้ปริศนาโผล่12 ล.!เจาะงบดุลหจก.ขายไก่อบจ.สุรินทร์ร้อยล.-สตง.ลุยสอบภาษี)
สี่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้รับทราบข้อมูลการตรวจพบความเชื่อมโยงกันระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีรัมย์ยาสัตว์ และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สุรินทร์ยาสัตว์ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันเสนอราคาโครงการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ และวัสดุเวชภัณฑ์ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ จำนวนหลายสัญญา วงเงินกว่าร้อยล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบแล้ว ทั้งในประเด็นเรื่องการที่ หจก. บุรีรัมย์ยาสัตว์ เช่าบ้านของหุ้นส่วน หจก.สุรินทร์ยาสัตว์ เป็นที่ตั้งในการทำธุรกิจ และการปรากฎชื่อบุคคลทำบัญชีงบดุลการเงินคนเดียวกัน
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สตง.นำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ประกอบการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกแล้ว เพราะถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกันของหจก.ทั้ง 2 แห่ง ขณะที่แนวทางการตรวจสอบโครงการนี้ ที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การกำหนดราคากลางในการจัดซื้อไก่ พบว่าแพงเกินกว่าราคาท้องตลาด ขณะที่อายุไก่ที่ซื้อมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 18 สัปดาห์ ถือเป็นช่วงอายุที่สั้นเกินไป และ 2.ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเข้ามาขายสินค้า
"ก่อนหน้านี้ สตง.ตรวจสอบภาพรวมโครงการไปแล้ว พบว่าโครงการส่อว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์โครงการ และเตรียมที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งในส่วนของการประกวดราคาจัดซื้อพันธุ์แม่ไก่ หากพบว่ามีพฤติการณ์ทุจริตเกิดขึ้นชัดเจน ในท้ายที่สุดของการตรวจสอบก็จะนำไปสู่การเรียกเงินที่นำไปใช้ในการดำเนินงานโครงการนี้ประมาณร้อยกว่าล้านคืนจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด"
(อ่านประกอบ :ผู้ว่าฯสตง.สั่งสอบปมจัดซื้อไก่อบจ.สุรินทร์-ลั่นหากเจอทุจริตเรียกคืนเงินร้อยล้าน!)
ห้า ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังนายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายก อบจ.สุรินทร์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยได้รับคำชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับหนังสือจาก สตง. อยู่ระหว่างขั้นตอนรอหนังสือจาก สตง. อยู่เพื่อที่จะนำมาพิจารณารายละเอียดข้อกล่าวหาต่าง ๆ อย่างไรก็ดียืนยันว่าขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการตามระเบียบ มีการเปรียบเทียบราคากลางถูกต้อง ส่วนที่สำนักข่าวอิศรานำไปลงข่าวนั้น ยังไม่ถูกต้องชัดเจนทั้งหมด ปัจจุบันเตรียมให้เจ้าหน้าที่ส่งคำชี้แจงไปอยู่
นายกิตติเมศวร์ ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ของ อบจ.สุรินทร์ดังกล่าว มีสเปกของเราเอง ยกตัวอย่างเหมือนจะซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าสักคันหนึ่ง มีสองรุ่นคือรุ่น โคโลน่า และรุ่นโซลูน่า ฝ่ายเราจะซื้อโคโลน่า เพราะเห็นว่ามีสเปกดีกว่า แต่อาจแพงกว่าโซลูน่าที่แม้ถูกกว่า แต่เราไม่ชอบสเปก ก็เช่นเดียวกันกับไก่พันธุ์ไข่ ที่แต่ละสายพันธุ์จะออกไข่แตกต่างกันแต่ละเบอร์ เราก็เลือกไก่พันธุ์ไข่ที่ออกไข่ในเบอร์ที่คิดว่าคุ้มค่าที่สุด เมื่อประชาชนได้รับแจกไป ก็รู้สึกยินดี ไก่พันธุ์ไข่ที่เราซื้อมาไม่เกิน 3 วันก็ออกไข่แล้ว
“ตอนนี้คนมองว่า พวกผมตั้งราคาสูงเกินจริงเหมือนกับที่ สตง. ส่งเรื่องมา ผมก็ยังยืนยันว่า ก็เหมือนกับสเปกในการเลือกซื้อรถที่เล่าไป ไก่พันธุ์ไข่ก็เช่นกัน ไก่ขนาดไหน ไข่เบอร์อะไร เราไม่ได้โทษฝ่าย สตง. หรอก แต่ขอดูรายละเอียดก่อน” นายกิติเมศวร์ กล่าว
เมื่อถามว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างมีเอกชนอยู่เพียง 2 รายที่ชนะการเสนอราคา และเข้าร่วมเป็นคู่เทียบการเสนอราคาขายไก่พันธุ์ไข่ เอกชนดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ นายกิติเมศวร์ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ทราบรายละเอียด ฝ่ายบริหารไม่ได้ดูเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยืนยันว่าดำเนินตามระเบียบอยู่แล้ว เบื้องต้นเท่าที่ทราบข้อมูลมีลักษณะอย่างนี้ ส่วนหนึ่งคงมีการสอบข้อเท็จจริงกับฝ่ายปฏิบัติที่เกี่ยวข้องด้วย
“ยอมรับว่าสำนักข่าวอิศรามีความเชื่อถือสูง ประชาชนเข้าไปอ่านมาก ผมจึงอยากชี้แจงข้อเท็จจริงทุกอย่างให้กระจ่างชัด ผมมีความตั้งใจจริงในการบริหาร และการดำเนินการดังกล่าว จึงอยากขอความเป็นธรรมด้วย” นายกิตติเมศวร์ กล่าว
(อ่านประกอบ : นายก อบจ.สุรินทร์สวน สตง. ยันซื้อไก่ไม่แพง-ทำถูกต้องตามสเปก)
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2559 ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายก อบจ.สุรินทร์ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ จาก หจก. 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกันดังกล่าวอีกครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปประมาณ 2-3 รอบ เลขาฯ ระบุว่า นายก อบจ.สุรินทร์ ติดประชุมอยู่ ต่อมาในช่วงเย็น ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อไปอีกครั้ง ปรากฎว่า หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวไม่สามารถติดต่อได้อีก
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสตง. ว่า ในวันที่ 14 พ.ย.2559 นี้ สตง.จะเข้าตรวจสอบการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ ของอบจ.สุรินทร์ เป็นทางการ โดยประเด็นความเชื่อมโยงกันของ 2 หจก.ที่เข้าร่วมการประกวดราคา จะใช้ข้อมูลของสำนักข่าวอิศรามาประกอบการสอบสวนด้วย
ส่วนกรณีเรื่องการจัดซื้อไก่ในราคาแพงเกินจริง จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลราคาไก่ถึงหน้าฟาร์ม เพื่อนำมาใช้ประกอบข้อมูลการตรวจสอบในท้องตลาดและราคาการจัดซื้อของหน่วยงานราชการที่สตง.มีอยู่ในมือแล้ว ซึ่งพบว่า ราคาไก่อายุ 18 สัปดาห์ ไม่สูงถึงตัวละ 250 กว่าบาท ตามที่ อบจ.สุรินทร์จัดซื้อมา และจะรีบสรุปผลการตรวจสอบเป็นทางการโดยเร็ว
"สำหรับโครงการนี้ หากตรวจสอบพบว่ามีปัญหาเรื่องการทุจริตจริง จะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย และมีการเสนอเรียกคืนเงินโครงการที่ใช้ไปร้อยกว่าล้านคืนมาจากผู้เกี่ยวข้องด้วย" แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบจากโครงการจัดซื้อไก่ของ อบจ.สุรินทร์ ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสตง.อย่างเป็นทางการในขณะนี้ (ดูแผนภูมิประกอบ)
อ่านประกอบ :
ซื้อไก่ไข่แพงเกินจริง เสียหาย11ล.!สตง.แจ้งผู้ว่าฯสั่งนายกอบจ.สุรินทร์ชดใช้
ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเลี้ยงไก่ อบจ.สุรินทร์ 143 ล. บกพร่องเพียบ
หจก.รายเดียวคว้า4 สัญญา103ล.!ข้อมูลจัดซื้อไก่อบจ.สุรินทร์ ก่อนสตง.ลุยสอบ