- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเลี้ยงไก่ อบจ.สุรินทร์ 143 ล. บกพร่องเพียบ
ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละโครงการเลี้ยงไก่ อบจ.สุรินทร์ 143 ล. บกพร่องเพียบ
"..ผลการตรวจสอบ พบสาเหตุแห่งการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการซึ่งเกิดจากความบกพร่องของผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารที่ขาดการติดตามประเมินผลโครงการหรือไม่กําหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและสามารถวัดได้ให้ดําเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีกับผู้รับผิดชอบโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องและให้ดําเนินการทางละเมิดในความเสียหาย ต่อไป.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายงานผลสอบโครงการฝึกอบรมส่งเสรมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ขององค์การบริหารสวนจังหวัดสุรินทร์ปีงบประมาณ 2557 – 2559 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
----------------------------
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.สุรินทร์) ต้องการยกระดับรายได้และแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของประชาชนภายในจังหวัด จึงได้ดําเนิน “โครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่” เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม มีการใช้จ่ายงบประมาณในการดําเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2557-2559 จํานวน 143,048,845.00 บาท ดําเนินการฝึกอบรมเกษตรกรตามเป้าหมายจํานวน 130,100 ราย ทุกอําเภอรวมทั้งหมด 17 อําเภอโดยอบจ.สุรินทร์ ได้เชิญวิทยากรจากสํานักงานปศุสัตว์จังหวัด/อําเภอในจังหวัดสุรินทร์เพื่อบรรยายให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจให้เกิดความเข้าใจ วิธีการ ขั้นตอน การเลี้ยงไก่อย่างถูกต้อง และหลังการอบรมเสร็จสิ้นได้มอบปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย พันธุ์ไก่ไข่อาหารไก่ไข่ ที่ใส่น้ําสําหรับเลี้ยงไก่และยาปฏิชีวนะผสมวิตามินละลายน้ํา ให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากการตรวจสอบโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ปีงบประมาณ 2557-2559
มีข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
@ ข้อตรวจพบที่ 1การดําเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์และไม่เกิดความยั่งยืน
จากการตรวจสอบพบว่าการดําเนินโครงการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และไม่เกิดความยั่งยืน สรุปประเด็นปัญหาได้ดังนี้
1. ไม่มีการกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของโครงการเชิงปริมาณและคุณภาพ จากข้อมูลรายละเอียดของข้อเสนอโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2559 พบว่าอบจ.สุรินทร์ไม่ได้มีการกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของโครงการเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อการวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการมีเพียงการกําหนดเป้าหมายดําเนินการในภาพรวมของ 17 อําเภอ โดยกําหนดจํานวนรุ่นที่จะอบรมและจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละรุ่น สรุปเป็นจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมรวมทั้งสิ้นของโครงการเท่านั้น
ทั้งนี้การไม่กําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของโครงการไว้ในการเสนอโครงการดังกล่าว จะส่งผลทําให้ไม่สามารถวัดผลสําเร็จของการดําเนินโครงการได้ตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อที่กําหนดไว้ซึ่งการดําเนินโครงการต้องมีการประเมินผลหลังการดําเนินการแล้วเสร็จ เพื่อทราบถึงปัญหา อุปสรรค และผลสําเร็จเพื่อนํามาปรับปรุงการดําเนินโครงการในปีต่อไป การกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จของโครงการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงถือเป็นส่วนสําคัญของการเขียนโครงการ เพื่อให้ผู้ประเมินโครงการใช้เป็นตัวชี้วัดความสําเร็จการ บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้
2. เกษตรกรไม่สามารถนําความรู้มาใช้เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ได้ตามหลักวิชาการ พบประเด็นปัญหาดังนี้
2.1 ไม่มีหลักเกณฑ์/วิธีการคัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายของโครงการที่เหมาะสม
จากการกําหนดขั้นตอนและวิธีการดําเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการฯพบว่าอบจ.สุรินทร์ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งได้ดําเนินการเพียงจัดทําหนังสือแจ้งไปยังสํานักงานปศุสัตว์เพื่อให้ดําเนินการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมการฝึกอบรมเช่น ปี2557ตามหนังสือ ที่สร51018.1/2311 ลงวันที่30เมษายน 2557และได้ส่งหนังสือไปยังอปท.ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายตามหนังสือ ที่สร51018.1/5748ลงวันที่25 ธันวาคม2557 พร้อมแนบใบสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นเพียงการแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเท่านั้น โดยไม่มีการกําหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมไว้แต่อย่างใด
จากการสอบถามผู้นําหมู่บ้าน/ชุมชนจํานวน31รายเพื่อให้ทราบถึงวิธีการขั้นตอนในการคัดเลือกเกษตรกร พบว่าผู้นําชุมชนทุกแห่งทําหน้าที่เพียงการให้ชาวบ้านมาลงชื่อเพื่อส่งต่อให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในพื้นที่และผู้นําชุมชนทุกแห่งชี้แจงว่าอบจ.สุรินทร์และอปท.ไม่ได้มีการกําหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมให้ชัดเจนและในการดําเนินการเป็นเพียงการสอบถามผู้สมัครว่ามีความประสงค์เข้าร่วมโครงการและเคยได้รับไก่พันธุ์ไข่จากอบจ.สุรินทร์หรือไม่ เท่านั้น และจากการสอบถามเกษตรกรผู้เข้ารับการฝึกอบรมจํานวน 17 อําเภอรวมจํานวน 294 รายถึงวิธีการเข้าร่วมโครงการซึ่งสรุปได้ว่าการคัดเลือกเกษตรกรส่วนใหญ่ผู้ใหญ่บ้าน/ผู้นําชุมชน เป็นผู้คัดเลือกเองคิดเป็นร้อยละ76.19 รองลงมาเป็นสมาชิกอบต./สมาชิกเทศบาลเป็นผู้คัดเลือกคิดเป็นร้อยละ10.88 โดยไม่ผ่านการคัดเลือกจากปศุสัตว์ตําบล/อําเภอตามขั้นตอนการดําเนินการที่อบจ.สุรินทร์กําหนดแต่อย่างใด
2.2 การกําหนดจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละรุ่นไม่เหมาะสมกับสถานที่
2.2.1จํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละรุ่น อบจ.สุรินทร์ได้กําหนดจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละรุ่นไว้ในรายละเอียดขอเสนอโครงการ โดยกําหนดจํานวนรุ่น/วันที่อบรมและจํานวนคนแต่ละรุ่นไว้ในระยะเวลาการดําเนินโครงการ โดยเชิญวิทยากรจากสํานักงานปศุสัตว์จังหวัด/อําเภอในจังหวัดสุรินทร์มาบรรยายฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมตามสถานที่ที่กําหนดของแต่ละตําบล/อําเภอ นั้นๆ พบว่าการกําหนดจํานวนของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีขนาดใหญ่ เกินจํานวนวิทยากรประมาณ1-3คน ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ทําความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม ทําให้การควบคุมดูแลผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ทั่วถึงและทําให้การเข้าใจเนื้อหาในการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรไม่เต็มศักยภาพ
2.2.2 สถานที่จัดฝึกอบรมไม่เหมาะสมจากการสังเกตการณ์สถานที่ฝึกอบรมเพื่อดูความเหมาะสมกับจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมกับสถานที่ฝึกอบรม เพื่อพิจารณาประเด็นการรับรู้ข้อมูลเนื้อหาตามหลักสูตรในการฝึกอบรมการให้ความสนใจและใส่ใจรวมถึงวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั่วไปในการเอื้อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งพบว่า การกําหนดสถานที่ในการฝึกอบรมไม่เหมาะสมกับจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมเช่น การฝึกอบรมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 สถานที่จัดฝึกอบรมคือ ศาลาการเปรียญวัดบ้านช่างปี่ตําบลช่างปี่อําเภอศีขรภูมิได้กําหนดจํานวนเกษตรกรไว้ 1,818 ราย
จากการตรวจสอบสถานที่จริง ณ วันที่ตรวจสอบ (วันที่ 13 มิถุนายน 2559) พบว่า ศาลาการเปรียญที่ใช้ในการบรรยายมีขนาดความกว้างประมาณ 15 เมตรและมีความยาวประมาณ 30 เมตร (พื้นที่ประมาณ 450ตารางเมตร สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน) ซึ่งไม่เพียงพอต่อจํานวนเกษตรกรที่มีจํานวนมากจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการชี้แจงว่า อบจ.ได้มีการกางเต๊นท์เสริมบริเวณลานวัดให้กับเกษตรกร อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนอยู่ตามต้นไม้ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถมองเห็นผู้บรรยายเป็นอุปสรรคต่อการรับฟังหรือทําให้ไม่ได้รับความรู้ทางหลักวิชาการได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์
2.3 เกษตรกรไม่ให้ความสําคัญในการนําความรู้มาเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ให้เป็นไปตามหลักวิชาการการดําเนินโครงการได้กําหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่มีความรู้ความเข้าใจวิธีการ ขั้นตอน การเลี้ยงไก่ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการดังนั้น เกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมแล้วต้องรับทราบข้อมูลการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และสามารถนําไปปรับใช้ในการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกรจํานวน 294 รายเกี่ยวกับความรู้ตามหลักวิชาการที่ได้รับและการนําไปใช้ในการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ พบว่า เกษตรกรจะมีเพียงความรู้พื้นฐานเดิม เช่น การสังเกตอาการของไก่ป่วยและการผสมอาหารกับวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ข้าวฟ่างข้าวโพดเป็นต้น ซึ่งหลังจากการฝึกอบรมแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าอายุของไก่พันธุ์ไข่ที่สามารถให้ไข่ได้คิดเป็นร้อยละ 98.98 รองลงมาไม่ทราบว่าช่วงอายุของไก่พันธุ์ไข่ที่สามารถให้ไข่มากที่สุดและไม่ทราบวิธีการให้อาหารไก่ตามหลักวิชาการคิดเป็นร้อยละ 98.64 ซึ่งยังคงให้อาหารไก่แบบเดิมหรือตามที่เกษตรกรสะดวกโดยการใส่อาหารไก่ไว้เต็มภาชนะให้ไก่กินทั้งวัน รวมถึงไม่ทราบว่าไก่พันธุ์ไข่สามารถให้ผลผลิตไข่ได้เป็นระยะเวลาเท่าใดคิดเป็นร้อยละ 96.26 สําหรับวิธีการผสมอาหารไก่กับวัตถุดิบในท้องถิ่น เกษตรกรส่วนใหญ่รู้วิธีการผสมอาหาร แต่เนื่องจากวัตถุดิบที่นํามาผสมจะหายากและราคาแพงไม่สะดวก จึงซื้อหัวอาหารแทนเนื่องจากมีความสะดวกกว่าและในการสังเกตอาการป่วยของไก่ เกษตรกรส่วนใหญ่จะทราบจากประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงไก่พื้นเมืองมาก่อน
3. เกษตรกรไม่สามารถจําหน่ายไข่ไก่เพื่อสร้างรายได้ลดรายจ่ายให้ครอบครัว ตามโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีอาหารโปรตีนจากไข่ไก่บริโภคในครัวเรือนและจําหน่ายอย่างพอเพียงในท้องถิ่น สร้างชุมชนเข้มแข็งลดการนําเข้าไข่ไก่ในชุมชน จากการสัมภาษณ์เกษตรกรจํานวน 294 รายพบว่า ส่วนใหญ่จะบริโภคไข่ไก่ที่เลี้ยงเอง จํานวน 273 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.86 มีเกษตรกรเพียงจํานวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.14 ที่สามารถจําหน่ายไข่ไก่ได้เนื่องจากทุกครัวเรือนได้รับแจกไก่พันธุ์ไข่เหมือนกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ทําให้ทุกครัวเรือนมีไข่ไว้รับประทานเอง และการที่จะนําไข่ไปจําหน่ายที่อื่นนั้นอาจจะไม่คุ้มกับค่าขนส่งรวมถึงเมื่อวิเคราะห์และนําข้อมูลมาเปรียบเทียบถึงต้นทุนการผลิต(ต้นทุนค่าอาหารไก่ประมาณ400-450 บาท/เดือน)กับมูลค่าของราคาไก่ไข่ หากซื้อมาบริโภคเอง(ราคาไข่
ไก่ที่ซื้อมาบริโภค200-300 บาท/เดือน) พบว่าการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เองมีต้นทุนที่สูงกว่าการซื้อไข่ไก่มาบริโภค
ดังนั้นการกําหนดวัตถุประสงค์ของการเพิ่มรายได้โดยการลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรจึงยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เนื่องจากการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จากการซื้ออาหารไก่แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเกษตรกรได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากโครงการ
4. การดําเนินโครงการไม่เกิดความยั่งยืนอบจ.สุรินทร์มุ่งเน้นการแจกปัจจัยการผลิตเพื่อให้เกิดการต่อยอดของเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรม จึงสะท้อนงบประมาณที่ใช้ไปสูงถึง 155,828,150.00 บาท ในการจัดซื้อปัจจัยการผลิตดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แต่จากการสัมภาษณ์เกษตรกรจํานวน 294 ราย พบว่ามีเกษตรกร22 รายคิดเป็นร้อยละ 7.48 ที่ซื้อไก่พันธุ์ไข่มาเลี้ยงเพิ่มมีเกษตรกรจํานวน 272 รายคิดเป็นร้อยละ 92.52ไม่มีการต่อยอดการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมแต่อย่างใดและจะเลี้ยงเฉพาะไก่ที่ได้รับแจกจากอบจ.สุรินทร์เท่านั้น อีกทั้งการดําเนินกิจกรรมเป็นลักษณะเดียวกันทุกปีแต่ไม่มีการประเมินถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและนํามาปรับปรุงในการดําเนินโครงการของปีต่อไป ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถเป็นต้นแบบเพื่อให้เกิดการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการได้
@ ข้อตรวจพบที่ 2 ไม่มีระบบการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
อบจ.สุรินทร์ยังขาดรูปแบบการจัดทํารายงานที่เป็นลักษณะรายงานเป็นรูปเล่มทั้งโครงการ เช่น การใช้จ่ายเงินงบประมาณจริงเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ สรุปผลจํานวนผู้เข้ารับการอบรมทุกแห่งสรุปรวบรวมภาพถ่ายของการอบรมและการวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการ เป็นต้น และยังไม่มีการมอบหมายหน้าที่ในการติดตามประเมินผลให้กับกลุ่มงานที่ต้องรับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งในการสุ่มติดตามพื้นที่การดําเนินการยังไม่กําหนดถึงจํานวนหรือเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่และมีจํานวนการสุ่มติดตามที่สมเหตุสมผลกับปริมาณการดําเนินโครงการ รวมถึงการกําหนดเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อทราบถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่และสะท้อนปัญหา เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขในปีต่อไป
ข้อสังเกตที่ 1 การจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่สูงกว่าราคาท้องตลาด
จากการตรวจสอบ พบว่า การกําหนดราคากลางของไก่พันธุ์ไข่ ปีงบประมาณ 2558-2559 ของอบจ.สุรินทร์เปรียบเทียบกับข้อมูลการสืบค้นราคาทางอินเตอร์เน็ตจากข้อมูลผู้ผลิตรายใหญ่และจากหน่วยงานราชการอื่น พบว่า ราคากลางของ อบจ.สุรินทร์มีราคาสูงกว่าราคาที่สืบค้นทางอินเตอร์เน็ตเนื่องจากการกําหนดราคากลางของอบจ.สุรินทร์ใช้วิธีสืบราคาเพียงจากกลมผุ่ ขายในจังหวัดสุรินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการสืบราคาจากท้องตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่และการจัดซื้อแต่ละครั้งมีปริมาณมากจํานวน 63,000-100,950 ตัวการใช้ราคาจากผู้ผลิตรายใหญ่หรือจากหน่วยงานราชการอื่นที่เคยจัดซื้อนํามาประกอบเพื่อเป็นราคาอ้างอิงด้วยความเหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและเป็นไปโดยประหยัดอีกทั้งยังพบว่าราคาที่ใช้ในการจัดหาพัสดุดังกล่าวในปีงบประมาณ 2558 เป็นราคาตามงบประมาณที่ตั้งไว้มิใช่ราคาตลาดอย่างแท้จริง และจากการเปรียบเทียบราคาการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ระหว่าง อบจ.สุรินทร์กับ หน่วยงานราชการอื่นที่สามารถสืบค้นได้จากอินเตอร์เน็ตในช่วงปี 2558 – 2559 พบว่าอบจ.สุรินทร์จัดซื้อแพงกว่าหน่วยงานราชการมีมูลค่าความเสียหายอย่างน้อย คิดเป็นเงินจํานวน11,138,286.00 บาท
ข้อสังเกตที่ 2 การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดฝึกอบรมไม่เป็นไปตามระเบียบฯ
อบจ.สุรินทร์ได้ดําเนินโครงการฝึกอบรมภายใต้ชื่อ “โครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่” ปีงบประมาณ 2557-2559 ซึ่งการดําเนินการภายใต้ชื่อโครงการฝึกอบรมต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพ.ศ. 2557 เนื่องจากเป็นโครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อนําไปปรับใช้ในการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่แต่ อบจ.สุรินทร์ได้ดําเนินการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ และวัสดุเวชภัณฑ์อื่น เพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรผู้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีกําหนดตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557 ข้อ 12
จากข้อสังเกตที่ 1 การจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่สูงกว่าราคาท้องตลาดซึ่งทําให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างน้อยคิดเป็นเงินจํานวน 11,138,286.00 บาทและข้อสังเกตที่ 2 การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดฝึกอบรมไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ดังกล่าวสํานักตรวจสอบพิเศษภาค 4 จะดําเนินการตรวจสอบและออกรายงานในลักษณะการตรวจสอบอื่น ต่อไป
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้โครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดความยั่งยืน สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสํานักตรวจสอบพิเศษภาค 4 มีข้อเสนอแนะให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์และผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ดําเนินการดังนี้
@ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์
1. ผลการตรวจสอบ พบสาเหตุแห่งการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการซึ่งเกิดจากความบกพร่องของผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารที่ขาดการติดตามประเมินผลโครงการหรือไม่กําหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและสามารถวัดได้ให้ดําเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีกับผู้รับผิดชอบโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องและให้ดําเนินการทางละเมิดในความเสียหาย ต่อไป
2. จัดให้มีการติดตาม ปรับปรุง ประเมินผลการดําเนินโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ที่ดําเนินการอยู่ตามโครงการฯ และรายงานให้สํานักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ทราบเป็นรายไตรมาส
3. ขอให้พิจารณาทบทวน ระงับ ยับยั้ง โครงการที่มีจุดอ่อนในลักษณะเช่นนี้หรือหากจะดําเนินโครงการใดๆ ให้ดําเนินการ ดังนี้
3.1 ให้กําหนดตัวชี้วัดในเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อให้สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ของการจัดฝึกอบรมได้ซึ่งถือเป็นส่วนสําคัญของผลสําเร็จของโครงการ ทั้งนี้การกําหนดตัวชี้วัดเชิงปริมาณและคุณภาพ จะทําให้โครงการประสบผลสําเร็จในการที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะนําความรู้ตามหลักวิชาการที่ได้จากการเข้ารับการฝึกอบรมและนําไปสู่การปฏิบัติและอาจส่งผลต่อความสําเร็จของตัวชี้วัดในด้านอื่นๆบรรลุเป้าหมายด้วยเช่นกัน
3.2 ให้กําหนดหลักเกณฑ์/คุณสมบัติของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายรวมถึงวิธีการคัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน เช่น เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องมีความพร้อมในการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ต้องเป็นผู้ที่ทํางานประจําในพื้นที่ เป็นต้น และมีการปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน โดยต้องกําหนดให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ รวมถึงการใช้ระบบฐานข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายครัวเรือนของสํานักงานปศุสัตว์จังหวัด/อําเภอ ประกอบการพิจารณาดังกล่าว
3.3 ให้กําหนดจํานวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับวิทยากรผู้ให้ความรู้และสถานที่ในการฝึกอบรมให้มีความเหมาะสมกับขนาดของผู้เข้ารับการฝึกอบรมรวมถึงความพร้อมของสภาพแวดล้อมทั่วไป อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆในการเอื้อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้รับความรู้ให้เต็มประสิทธิภาพและบรรลุผลในการจัดฝึกอบรม
3.4 ให้กําหนดหลักสูตรให้สอดคล้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กําหนด การแบ่งช่วงเวลา การบรรยายและการฝึกปฏิบัติการให้เกิดความเหมาะสมกับผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งมุ่งเน้นการนําความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.5 ให้กําหนดระบบการประเมินและการติดตามผลภายหลังการอบรมให้เกิดความชัดเจน ตั้งแต่การเสนอโครงการ โดยมอบหมายหน้าที่ในการติดตามประเมินผล การจัดทํารายงานผลการดําเนินโครงการการจัดทําเป็นรูปเล่มที่มีข้อมูลในการแสดงผลสําเร็จของโครงการเสนอต่อผู้บริหารเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดําเนินการ โดยการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการให้เป็นไปตามตัวชี้วัดความสําเร็จเชิงปริมาณและคุณภาพที่กําหนด หากพบปัญหาอุปสรรคที่มีผลต่อการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ให้นํามาวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อปรับปรุงแก้ไขในการดําเนินโครงการและสามารถนํามาเป็นฐานข้อมูลเพื่อกําหนดตัวชี้วัดเชิงปริมาณและคุณภาพของโครงการต่อไป
@ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์
1. กรณีความเสียหายที่เกิดจากการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดและสูงกว่าหน่วยงานราชการอื่นที่จัดซื้อในห้วงเวลาเดียวกัน(ช่วงปี 2558-2559) ซึ่งทําให้ราชการเสียหายอย่างน้อยเป็นเงินทั้งสิ้น 11,138,286.00 บาท ให้ดําเนินการทางละเมิดและดําเนินการตามควรแก่กรณีกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
2. ให้มีการติดตามผลการดําเนนการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทรตามข้อเสนอแนะของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้วแจ้งผลให้สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ทราบด้วย