"สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์" ปราชญ์ชาวบ้าน ยันยิ่งใช้สารเคมี ยิ่งจน
“เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิด การยกเลิกและกำจัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด แต่จะดียิ่งกว่าถ้าสามารถทำเรื่องยกเลิกและลดการใช้สารเคมีเหล่านั้นได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงออกมาพูดเป็นข้อเสนอ เพราะทางปฏิบัติกลับทำสวนทางกันมาตลอด”
สืบเนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2559 โดยมีข้อเสนอยกเลิกและกำจัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ ยกเลิก พาราควอต, จำกัดการใช้ ไกลโฟเสท พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่สาธารณะโดยทันที และจำกัดการใช้ คลอร์โพริฟอส ในพืชอาหารทุกประเภท
นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้สนับสนุนการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา โดยแสดงความเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดการยกเลิกและกำจัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงทั้ง 3 ชนิด แต่จะดียิ่งกว่านี้ ถ้าสามารถทำเรื่องยกเลิกและลดการใช้สารเคมีเหล่านั้นได้อย่างจริงจัง เพราะในทางปฏิบัติกลับทำสวนทางกันมาตลอด คือ บอกให้ชาวสวนชาวนา ว่าให้ทำเกษตรอินทรีย์ แต่กลับเป็นตัวแทนขายปุ๋ยสารเคมีเหล่านั้นให้เกษตรกรแทน
"การมีเรื่องของผลประโยชน์การซื้อขาย เรื่องทุนกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เคยทำจริงเลย ในทางปฏิบัติ นอกจากพูดให้สวย ดูดี รักษาหน้าตาของหน่วยงานทั้งนั้น"
นายสุทธินันท์ กล่าวถึงการใช้สารเคมี แม้ได้ผลผลิตดี แต่เงินกำไรที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่าเสียเลย เพราะต้องนำเงินส่วนนั้นไปซื้อยารักษาตัวเองจากโรคต่าง ๆ เช่น การฟอกไต เป็นมะเร็ง รวมถึงเด็กทารกที่เกิดมาผิดปกติ ล้วนแต่เป็นผลกระทบจากการใช้สารเคมีเหล่านั้น
"สถิติข้อมูลพบผู้ป่วยเป็นโรคไต โรคมะเร็ง เด็กผิดปกติเป็นจำนวนสูงขึ้นทุกปี โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกินอาหารที่มีสารเคมีปะปน แม้ไม่มาก แต่หากกินเป็นประจำ สารเคมีจะสะสมในร่างกาย หลายคนอาจไม่เชื่อ เพราะตอนนี้ยังไม่เป็นอะไร แต่พออายุมากขึ้นก็จะรู้เอง ตัวอย่างในเมืองไทยอย่างเกษตรกรหลายรายป่วย สาเหตุก็เกิดจากการใช้สารเคมี ที่ทั้งสูดดม ถูกผิวหนัง รวมถึงเข้าไปในร่างกาย"
ปราชญ์ชาวบ้าน มองว่า กลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมี เป็นพวกที่เห็นแก่ตัว หวังแต่รายได้ที่ไม่คุ้มกันเลย โดยไม่มองว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่อส่วนรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และการบริโภคอาหารของผู้อื่น นอกจากตัวเองจะรับสารเคมีแล้ว ยังเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ถึงแม้จะย้อนกลับมาว่า การใช้สารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตเร็วทันใจ แต่อยากให้มองย้อนกลับ เงินที่ได้มาคุ้มหรือไม่ เพราะต้องนำเงินไปลงทุนซื้อสารเคมีนั้นๆ ตลอดเวลา รวมทั้งต้องนำเงินไปซื้อยารักษาตัวเอง
แม้การทำเกษตรอินทรีย์ จะให้ผลผลิตช้ากว่า เขาเห็นว่า ไม่ได้ช้าจนเกินไป พร้อมอยากให้มองที่คุณภาพของผลผลิต
"ลองคิดเปรียบเทียบหากเมืองไทยมีผลผลิตจากการทำเกษตรกรอินทรีย์ ต่างประเทศย่อมให้ราคาที่ดีกว่าตอนนี้แน่นอน เพราะเป็นสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพพวกเขา ถึงผลผลิตช้าก็รอ เพราะคำว่า คุณภาพดีต่อสุขภาพ"
นายสุทธินันท์ ยังให้ความเห็นถึงกองทุนเกษตรอินทรีย์ หรือแม้แต่การเก็บภาษีสารเคมีการเกษตร มีความเป็นไปได้ 0 เปอร์เซ็นต์ คือแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ และรัฐบาลไม่เด็ดขาดเรื่องการลด หรือ ห้ามใช้สารเคมีทำการเกษตรเหล่านี้อย่างจริงจัง
"อย่าทำเพียงแค่เปิดประชุม หารือร่วมกันที่ตลอดมาที่จัดขึ้น แต่การนำมาปฏิบัติจริงทำไมไม่เคยเห็น การบอกข้อมูลในที่ประชุมต่าง ๆ ถึงเรื่องการลดใช้สารเคมีอันตราย แต่ทางปฏิบัติก็ยังมีขายให้เห็นอยู่ ไม่ได้จัดการหรือห้ามปราบอะไรแบบจริงจังให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย เพราะติดตรงผลประโยชน์ที่เอื้อกัน" ปราชญ์ชาวบ้าน ให้มุมมอง และชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของไทย ถ้าเด็ดขาดทุกวันนี้จะไม่เห็นภูเขาหัวโล้น
พร้อมกับยกตัวอย่าง ประเทศภูฎานและศรีลังกา ที่สามารถลดการใช้สารเคมีได้จริง เพราะมีนโยบายที่ห่วงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ และสิ่งแวดล้อม
ปราชญ์ชาวบ้าน ให้คำแนะนำทิ้งท้าย สำหรับประเทศไทยก็มีวิธีการแก้ไขมีอยู่ คือ การเริ่มจากเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลออกมาตรการอย่างเด็ดขาด ทำจริงไม่ใช่แค่พูดว่าจะทำ
"สาเหตุการสนับสนุนให้ทำเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ เพราะผลที่ได้รับมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และต่อยอดผลผลิตให้เป็นสินค้าตัวเลือกจากต่างประเทศได้ รวมถึงเป็นการนำแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 มาเป็นแนวทางหาเลี้ยงชีพตัวเองอย่างยังยืน จากการเห็นผู้มาทำเกษตรอินทรีย์ เรื่องเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่มีปัญหา เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อโศกอุบล เป็นต้น
ส่วนคำบอกกล่าวกันว่า “ยิ่งใช้สารเคมี ยิ่งจน” เขายืนยันว่า เป็นเรื่องจริง พร้อมรับคำท้า หากไม่จริงเช่นนั้น ขอให้ลองจัดเวทีพูดเกี่ยวกับเกษตรสารพิษกับเกษตรอินทรีย์ และเทียบข้อมูลสถิติเรื่องค่าใช้จ่าย รายได้ การเจ็บปวด เป็นต้น โดยให้เกษตรกรที่ทำจริงทั้งสองฝ่ายอออกมาพูด โดยเฉพาะฝ่ายที่ใช้สารพิษทำเกษตรแล้วรวย อยากให้ลองมาเลย
อ่านประกอบ
: กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลง กว่า 9 หมื่นตัน/ปี
: ศรีลังกา เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า กลุ่มไกลโฟเสท พบสาเหตุตายไตเรื้อรังกว่า 2 หมื่น
: นักวิชาการ ยันร่างพ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืชฉบับใหม่ คุมเข้มโฆษณา ลด แลก แจก แถม