ประเทศต้องเดินไปพร้อมปชต. รศ.วุฒิสาร ย้ำชัดให้เลิกถาม ระบอบนี้เหมาะหรือไม่
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ยันระบอบประชาธิปไตยยังเหมาะกับประเทศอยู่ แม้อยู่ในช่วง หารองเท้าให้ถูกเบอร์ก็ตาม ชี้ระบอบประชาธิปไตยสามารถทำให้ประชาชนมีส่วนรวม เป็นกระบวนที่จำเป็นต้องมี
วันที่ 6 พฤศจิกายน สถาบันพระปกเกล้า จัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 18 (KPI Congress 18) หัวข้อเรื่อง “เติมชีวิต คืนชีวาประชาธิปไตย” (Revitalizing Thai Democracy) โดยวันสุดท้ายของการประชุม มีการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยตลอดการจัดงาน3 วัน จากนั้นมีพิธีมอบรางวัลพระปกเกล้าทองคำและรางวัลพระปกเกล้าสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปี 2559 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไซย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า โดยเหตุผลการจัดการประชุมภายใต้หัวข้อ เติมชีวิต คืนชีวาประชาธิปไตย เพื่อหารือถึงการตั้งคำถามสงสัยกันว่า ระบอบประชาธิปไตยยังเหมาะกับประเทศหรือไม่ ซึ่งคำตอบ คือ ยังคงเหมาะสมอยู่ และการที่ทุกคนคิดว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องสมบูรณ์แบบทั้งหมด คงเป็นได้แค่ในอุดมการณ์เท่านั้น เพราะไม่สามารถเป็นได้ตามที่คิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องของปัญหาการคอรัปชั่น ระบบความความคิดแตกต่างของคน ค่านิยมทางสังคม เรื่องเสรี ตลอดจนสถานภาพทางเพศ ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในส่วนของระบอบประชาธิปไตยทั้งนั้น ซึ่งระบอบนี้ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของวงการการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นของทุกคนที่ต้องช่วยกันทุกคนในประเทศ
"สิ่งที่ต้องย้อนกลับมามอง คือ เรื่องว่าสังคมควรจะยอมรับอะไร และสิ่งไหนที่มีบอกว่า ยอมรับกัน แต่ก็ยังเหมือนเดิมคือความไม่เปลี่ยนแปลง อาจเพราะเป็นเรื่องฝังรากลึกของคนไทย แล้วจะมีวิธีการอย่างไร นอกจากการยอมปรับความคิดและเปลี่ยนแปลง แม้ยังเป็นช่วงของการหารองเท้าให้ถูกเบอร์ก็ตาม"
รศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การยอมรับว่าประเทศไทยต้องเดินไปพร้อมกับประชาธิปไตย และเลิกตั้งคำถามว่า ระบอบนี้ เหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะอย่างน้อยระบอบประชาธิปไตย ก็ยังสามารถทำให้ประชาชนมีส่วนรวมกันอยู่ ซึ่งเป็นกระบวนที่จำเป็นต้องมีประชาชน ไม่ใช่เพียงการการเมืองเท่านั้น
สำหรับการรวบผลจากการประชุมย่อยทั้ง 5 กลุ่ม เพื่อหาแนวการวางรากฐาน และหาทิศทางระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างส่วนของไซเบอร์ จะเน้นการสื่อสารลดช่องทางการพบปะโดยตรง ช่วยลดปัญหาเรื่องการเดินทางไกล และการหาข่าวสาร ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลของรัฐ หากเปิดเผยให้คนติดตาม ดูการทำงานของรัฐ จะแสดงถึงความโปร่งใสได้ โดยเป็นรัฐบาลแบบเปิด รวมถึงต้องมีกระบวนการยุติธรรม ที่ลดช่องว่างแต่ละคนให้น้อยลง เรื่องการปลูกฝังเรื่องจิตสำนึก ต้องยอมรับความหลากหลายที่เกิดในสังคม ทั้งเรื่องเพศ ความพิการ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับและไม่ซ้ำเติม
สุดท้ายคือการเข้าใจสภาพแวดล้อม ระดับความนิยมของคนไทย และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข
ทั้งนี้ ตามประเพณีการบอกหัวข้อประชุมปีถัดไปก่อนปิดการประชุมประจำปี คือ ปี พ.ศ.2560 จะจัดในหัวข้อ "ประชาธิปไตย อุดมคติ สื่งที่เป็นจริงและสิ่งที่อยากเห็น"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผอ.อิศรา ชี้พ.ร.บ.คอมฯ อุปสรรคต่อการตรวจสอบรัฐ ปิดปากปชช.