สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ “Our Loss is our gain” ขาดทุน คือ กำไร
“การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ดังเห็นจากการสละพระราชทรัพย์ พระวรกาย และพระสติปัญญา และเวลาเกือบทั้งหมดของพระองค์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงช่วยเหลือราษฎรตามถิ่นทุรกันดาทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถือว่า “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร โดยทรงทำทุกอย่างที่จำเป็นในช่วงเวลาที่เหมาะสม แม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือต้องขาดทุน ทรงถือเป็นการลงทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ตามแนวพระราชดำริ ดังต่อไปนี้
“การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ดังเห็นจากการสละพระราชทรัพย์ พระวรกาย และพระสติปัญญา และเวลาเกือบทั้งหมดของพระองค์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงช่วยเหลือราษฎรตามถิ่นทุรกันดาทั่วประเทศ
ปีหนึ่งๆ รวมเวลาประมาณ 8 เดือนโดยทรงให้ความสำคัญกับผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอันจะช่วยแก้ปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงประชาชาวไทย
เช่น ในคราวเสด็จฯ เยือนประชาชนในเขตหัวหิน ทรงเห็นความลำบากของประชาชนในหมู่บ้านเขาเต่า ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อีกทั้งช่วงน้ำทะเลขึ้นได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตร ทำให้ผลผลิตเสียหาย พระองค์จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 60,000 บาท ให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า
ซึ่งนับเป็นโครงการตามพระราชดำริแห่งแรก
การดำเนินการใดๆ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือต้องขาดทุน หากเป็นการแก้ไขปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ก็เท่ากับพระองค์ได้กำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้ หากผลที่ได้นั้น คือความสุขของประชาชน
ดังความหมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสในคราวพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ความตอนหนึ่งว่า
“ ภาษาอังกฤษ Our หมายความว่า “ของเรา” “Our Loss” “Loss” ก็การเสียหาย การขาดทุน “Our Loss is our” “Our” นี่ก็คือ ของเรา “Our Loss is our gain” “gain” ก็คือ กำไร หรือ ที่ได้ “ส่วนที่เป็นรายรับ” เป็นอันว่า พูดกับเขาว่า “Our Loss is our gain” “ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา” หรือ “เราขาดทุนเราก็ได้กำไร”
ขณะที่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกเล่าไว้ในหนังสือ “การทรงงานพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ความตอนหนึ่งว่า “ สำหรับพระองค์จะเป็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ต่ำที่สุด แต่หากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นั้น บางครั้งแพงแสนแพงก็ต้องทำ เพราะชีวิตมนุษย์เราจะไปตีราคาแบบวัสดุสิ่งของไม่ได้ ซึ่งพระองค์ตรัสว่า ขาดทุน คือ กำไร Our Loss is our gain การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่มูลค่าเงินไม่ได้
พระราชดำรัส “…การที่คนอยู่ดีมีความสุขนั้น เป็นกำไรอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ แต่ถ้าจะคิดให้เป็นมูลค่าเงินจริงๆ ก็คิดได้ เราต้องจ่ายเงินในสิ่งที่ไม่น่าจะต้องจ่าย เช่น ทางรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมประชาสงเคราะห์ หรือกรมอื่นๆ จะต้องไปสงเคราะห์ราษฎรที่ยากจน ซึ่งในปีหนึ่งๆ ต้องใช้เงินจำนวนหลายร้อยหลายพันล้านบาท ในการสงเคราะห์ชาวบ้านที่ยากจน โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา เพราะว่า ราษฎรที่ยากจนนี้ เขาไม่มีกำลังที่จะตอบแทนอะไรได้เลย แม้จะทำงานก็ไม่ค่อยได้ เพราะความยากจน แต่ว่า ถ้าเราสามารถที่จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้นหน่อย เขาจะสามารถหารายได้ได้มากขึ้น เราก็จะลดการสงเคราะห์ลงได้”
นอกจากนี้ การลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ย่อมส่งผลคุ้มค่ามากกว่า ที่จะปล่อยให้เสียโอกาสพัฒนานั้นไป ดังพระราชดำรัสในโอกาสเดียวกันตอนหนึ่ง
“ถ้าหากรีบทำโครงการ 10 ล้านบาทนั้น ก็ได้กำไรแล้วในปีแรก ชดเชยจำนวน 2 ล้านบาทที่ว่าแพงเกินไปนั้นได้แล้ว แต่ข้อสำคัญที่สุด ถ้าอยากทำโครงการให้ได้เป็นมูลค่า 8 ล้านบาทนั้น จะต้องเสียเวลาสอบราคา เสียเวลาทำแผนให้รอบคอบจึงยังไม่ได้ในปีนี้ ปีนี้ชาวบ้านจึงยังไม่ได้รับผลดีจากโครงการ ครั้งปีต่อไปปูนซีเมนต์ก็แพงขึ้น เศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป 8 ล้านบาทไม่พอแล้ว…
จนกระทั่งเอาจริงในปีที่สาม อนุมัติ 10 ล้านบาทก็ทำได้ แต่ผลดีที่ควรจะได้รับตั้งแต่ต้นจากโครงการนั้นก็ไม่ได้รับ แล้วก็เป็นอันว่า ต้องเสียเงิน 10 ล้านบาทอยู่ดี แต่ประชาชนต้องทนเดือดร้อนไปอีกสองสามปี ถ้ายอม “ขาดทุน” คือยอมเสีย 10 ล้านบาทตั้งแต่ต้นก็จะสามารถ “ได้กำไร” คือประชาชนจะได้ผลดี ตั้งแต่ปีแรก ทางวิชาเศรษฐศาสตร์แท้ๆ ก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน มติ หรือคติพจน์ที่ว่า “ขาดทุนทำให้มีกำไรได้” นั้น ก็เป็นอันพิสูจน์ได้
ที่มา: หนังสือ สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 86 พรรษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
11 สิ่งประดิษฐ์ กษัตริย์ผู้สร้างสรรค์ เพื่อปวงชน
กว่า 50 ปี ในหลวงพระราชทานปริญญาบัตร "มือต่อมือ จับกระดาษที่เดียวกัน"
แลรูปเล่าเรื่อง โดยศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ
ศิษย์เก่าศิลปากร วาดเพิ่ม ภาพในหลวงร.9 แสดงความอาลัย
คึกฤทธิ์พูด ฉบับรวมปาฐกถา เล่าเรื่องบุญญาภินิหาร รัชกาลที่ 9 ที่เห็นมากับตา