สำคัญสุดคือสื่อโซเชียล! มติ ครม. ทางการมอนิเตอร์-แก้ข่าวลบ‘รบ.บิ๊กตู่’
มติ ครม. ทางการรับข้อเสนอ ‘วิษณุ เครืองาม’ ให้ปลัดกระทรวง-อธิบดี-หัวหน้าหน่วยงานรัฐ มอนิเตอร์-ชี้แจง-แก้ข่าวด้านลบ ‘รบ.บิ๊กตู่’ เน้นสำคัญคือสื่อโซเชียลฯ สั่ง กพร.-ก.พ. ประเมินผลทุก 3 เดือน
จากกรณีก่อนหน้านี้ผู้บริหารหน่วยงานราชการหลายแห่งส่งต่อข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแจ้งทุกกระทรวง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานในกำกับดูแลทุกหน่วยงาน ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสื่อประเภทต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ปล่อยให้รัฐบาล นายกฯ และครม. แก้ปัญหาหรือชี้แจงต่อเพียงลำพัง ซึ่งในการดำเนินการเรื่องนี้จะมีคณะของนายกฯ ติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน ว่าดำเนินการแค่ไหน หากไม่ปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาทุกระดับจะต้องรับผิดชอบ และจะตรวจสอบประเมินผลงานการเป็นผู้นำ และสร้างความแตกต่างให้ทันยุคสื่อโซเซียลในปัจจุบัน เพราะหากไม่ทำความน่าเชื่อถือไว้วางใจรัฐบาลจะลดลงนั้น
(อ่านประกอบ : 'บิ๊กตู่' รับมือสื่อโซเชียล สั่งตั้งทีมตาม24ชม.หวั่นความน่าเชื่อถือรบ.ลด-ทำไม่ดีโดนฟัน )
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง กรม ตลอดจนผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบตามแนวทาง ดังนี้
หนึ่ง ในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้เน้นการชี้แจงผลการดำเนินงานที่ได้ทำมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความสนใจหรือเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หรือเป็นการแจ้งข่าวเพื่อเตือน หรือแจ้งมาตรการที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ และมีผลกระทบต่อประชาชน ตลอดจนการชี้แจง แก้ข่าว แจ้งข่าว เพื่อให้ประชาชนทราบว่า หน่วยงานหรือรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องใด อย่างไร มุ่งหมายจะแก้ปัญหาใด การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างไร ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรืออาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนทางสื่อต่าง ๆ ให้รีบชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หากข้อมูลที่หน่วยงานมีอยู่เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งจะต้องใช้ประกอบกับข้อมูลจากหน่วยงานอื่นด้วย ให้ทุกหน่วยงานที่มีอยู่เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งจะต้องใช้ประกอบกับข้อมูลจากหน่วยงานอื่นด้วย ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งข้อมูลให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด) หรือกรมประชาสัมพันธ์รับไปดำเนินการชี้แจงในภาพรวมโดยด่วนต่อไป
สอง ให้คำนึงถึงความถูกต้องของข่าวสาร ความรวดเร็วทันต่อความจำเป็นที่จะให้ประชาชนมีความรับรู้ความเข้าใจ และการสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาล จึงต้องดำเนินการในเชิงรุก และพิจารณาใช้สื่อรูปแบบต่าง ๆ ตามความจำเป็น เช่น โฆษกประจำหน่วยงาน การมีหนังสือหรือคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร การให้สัมภาษณ์ การแถลงข่าว และที่สำคัญคือการใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งนี้ให้สื่อของรัฐให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว และให้ขอความร่วมมือจากสื่อเอกชนตามความจำเป็นด้วย
สาม ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อหรือเครื่องมือสื่อสารเพื่อการสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานของรัฐขอคำแนะนำจากกรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ตามความจำเป็น
สี่ ความสำเร็จในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนตามแนวทางนี้ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง โดยให้ผู้บังคับบัญชา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประเมินจากปริมาณและประสิทธิภาพของการชี้แจง ความทันต่อสถานการณ์ และความรับรู้ความเข้าใจของประชาชน ตามผลสำรวจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ ในกรณีของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้องค์กรกลางที่เกี่ยวข้องนำแนวทางนี้ไปใช้ในการประเมินผู้บริหารด้วย และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรายงานตัวชี้วัด และผลการประเมินตามแนวทางนี้ต่อนายกรัฐมนตรีทราบเป็นรายกระทรวงทุก 3 เดือน (ดูเอกสารประกอบ)
อ่านประกอบ : จับเข่าคุย 'สรรเสริญ แก้วกำเนิด' ไขที่มาข้อสั่งการ 'บิ๊กตู่' รับมือสื่อยุคโซเชียล24ชม.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Rival IQ