เสด็จสวรรคต: คืนที่สิบเอ็ด
ในความเป็นจริงนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 นั้น คืออะไรกันแน่ ? อธิบายได้หลายๆทาง ครับ หนึ่งมันคือความตั้งใจและความพยายามที่จะนำประชาธิปไตยมาสู่สยาม สอง มันเป็นเพียงเจตนารมณ์และความพยายาม ซึ่งจะจริงจังแค่ไหนถกเถียงกันได้ แต่ก็ไม่สำเร็จหรือยังไม่สำเร็จที่จะนำประเทศสู่ประชาธิปไตย
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว AnekLaothamatas เรื่อง เสด็จสวรรคต: คืนที่สิบเอ็ด
--------
เคยคิดเสมอว่าเมืองไทยเราไม่มีผู้นำแบบเนลสัน แมนเดลา ของอัฟริกาใต้ ลีกวนยู ของสิงคโปร์ คานธี และ เยาวหราล เนห์รู ของอินเดีย หรือ ลีกวนยู ของสิงคโปร์ ซึ่งยิ่งใหญ่ ทำงานอยู่ในตำแหน่งยาวนาน ประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ และเป็นที่ยอมรับของทั้งชาติจนวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีผู้นำระดับโลกแบบวินสตัน เชอร์ชิล หรือ แฟรงกลิน โรสเวลท์ หรือ เหมา เจ๋อ ตุง เติ้งเสี่ยวผิง หรือโฮ จิ มินห์ ที่นานาชาติยอมรับ ผู้นำของเรา จนถึงเวลานี้ ต้องยอมรับครับ ยังไม่ใช่ผู้ที่โลกทั้งปวงรู้จักและนับถือมากนัก
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา หาได้ทรงเป็นผู้นำแบบท่านทั้งหลายที่ผมได้เอ่ยชื่อมาข้างต้น ตลอดรัชกาลพระองค์ท่านไม่ได้ปกครองด้วยพระองค์เอง ทรง "ครองแผ่นดิน" แต่ก็ไม่ได้ทรง "ครอง" อย่างพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญทั่วไป ทรงสร้าง"ราชประศาสนศาสตร์" ที่ไม่มีในตำราตะวันตกผสมผสานคลุกเคล้าเข้าไปอย่างน่าอัศจรรย์กับระบบการเมืองและระบบราชการ-ทหาร-ตำรวจ ตลอดจนภาคเอกชน รวมถึง ภาคสังคม และประชาสังคม บังเกิดเป็นการพัฒนาประเทศอย่างมหาศาล นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่พสกนิกร ยากที่จะหากษัตริย์ใดๆในอดีต หรือในโลกมาเทียบได้
หากเทียบเคียงกับพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญในนานาประเทศด้วยก็ได้ นะครับ ผมมองว่า สิบเอ็ดวันที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่า การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นคล้ายกับการเสด็จสวรรคตของพระนางเจ้าวิกตอเรียก็ว่าได้ ในรัชสมัยอันยาวนานมากเช่นกัน ควีนวิกตอเรียทรง "ครอง" และในช่วงวิกฤตสำคัญ ราวจะ "ปกครอง" ไปด้วย ในห้วงเวลาหกทศวรรษที่ทรง "ครองราชย์" พระบุญญาบารมีแผ่ปกไพศาลไปทั่ว ปวง พสกนิกรสักการะเทิดทูนจนถึงวันสุดท้ายของรัชกาล
แม้ว่าผู้นำทั้งหลาย-- นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี-- ที่ปกครองหรือบริหารประเทศโดยตรงของเราจะยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับเอเชียและระดับโลก แต่พระเกียรติคุณ พระปรีชาสามารถ และสัมฤทธิผลจากพระราชประศาสศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลของเรานั้น ขึ้นไปอยู่ในระดับนานาชาติอย่างแน่นอนครับ ประเทศอื่น ๆ ภาคภูมิใจในประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนสำคัญท่ีปกครองประเทศมานาน และสร้างผลงานอันสำคัญยิ่งใหญ่ ได้ฉันใด เราคนไทย ในชั่วชีวิตก็มีพระเจ้าอยู่หัวที่ยิ่งใหญ่ " ปกเกล้า ปกกระหม่อม" หรือ ทรง "ครองแผ่นดิน" จนไทยทุกวันนี้เป็นประเทศที่ "ทั่วโลก" นับถือ มีคนรัก มีคนมาเยือนมาเที่ยวมากมาย มีคนพูดถึง ด้วยความชื่นชม มากที่สุดประเทศหนึ่ง
วันนี้เป็นวันปิยมหาราช ในแง่หนึ่งคนไทยรักและสักการะเทิดทูนรัชกาลที่ 9 คล้ายกับรัชกาลที่ 5 มาก รัชสมัยของสองพระองค์ก็ยาวนานคล้ายกัน และในสองรัชกาลนั้น ประเทศชาติก้าวหน้าผ่านวิกฤตใหญ่ไปได้หลายครั้งประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาทุกฐานะและระดับ ล้วนร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่ต่างกันคือรัชกาลที่ 5 นั้นทรง "ปกครอง" แต่รัชกาลที่ 9 มิได้ใช้พระราชอำนาจปกครองด้วยพระองค์เอง
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำให้นักการเมืองไม่ว่าที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการยึดอำนาจ เข้ามาปกครองแทนพระมหากษัตริย์ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังอยู่ต่อมา เข้มแข็งเติบใหญ่ขึ้นด้วยซ้ำ เป็นที่ยอมรับของประชาชนยิ่งขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ ในรัชกาลที่ 9 นี้แม้จะทรง "ครอง" หรือ "ปกเกล้าปกกระหม่อม" เพียงเท่านั้น แต่ประเทศก็เหมือนมีพระราชา "ปกครอง" ด้วยทศพิธราชธรรม
จนบางครั้ง อดถามตัวเองว่า ในความเป็นจริงนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 นั้น คืออะไรกันแน่ ? อธิบายได้หลายๆทาง ครับ หนึ่งมันคือความตั้งใจและความพยายามที่จะนำประชาธิปไตยมาสู่สยาม สอง มันเป็นเพียงเจตนารมณ์และความพยายาม ซึ่งจะจริงจังแค่ไหนถกเถียงกันได้ แต่ก็ไม่สำเร็จหรือยังไม่สำเร็จที่จะนำประเทศสู่ประชาธิปไตย จนถึงขณะนี้เราก็ยังรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ สาม ผมอดคิดไปอีกทางไม่ได้ว่า 2475 นั้น เอาเข้าจริง น่าพิศวง คือการเปลี่ยนประเทศจากระบอบกษัตริย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ แค่นั้นเอง
จากระบอบกษัตริย์ที่พระราชาทรงมีอำนาจจริง เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง ไม่สู้จะมีประสิทธิผลและไม่อาจปฏิรูปได้ทันยุคสมัยใหม่ของโลก กลับกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์ใหม่ที่พระเจ้าแผ่นดินทรง "ครอง" แผ่นดินเท่านั้น ไม่ทรง "ปกครอง" อีกต่อไป แต่เป็นระบอบที่ได้ผล ชอบธรรม ต่อเนื่อง ผสมผสานกับการเมืองแบบใหม่ กับราชการ กับประชาชน กับภาคเอกชน อย่างที่ไม่มีในทฤษฎีสมัยใหม่ของฝรั่ง ไม่ได้เป็นระบอบกษัตริย์ที่มีรัฐธรรมนูญกำหนดแบบฝรั่งก็แล้วกัน
แหละนั่นคือสิ่งที่ผมคิดใคร่ครวญจากสิ่งที่ได้เห็น ได้สัมผัส ได้รู้สึก จากคืนแรกหลังพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจนถึงคืนนี้ คืนที่สิบเอ็ด ตรงกับคืนวันที่ 23 ตุลาคม 2559
อ่านประกอบ :