ตกเป็นเหยื่อทางการเมือง! ทบ.แจง ‘ชลรัศมี’ รับงานรัฐ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
โฆษกทบ. แจง 2 บ. 'ชลรัศมี งาทวีสุข’คว้างานรัฐไม่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน ชี้ธุรกิจมีมานานแล้ว แถมมากด้วยความสามารถ รัฐได้ ปย.สูง ระบุตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีของฝ่ายตรงข้าม ขอให้สื่อ-สังคมฟังข้อเท็จจริง
จากกรณีบริษัท งาทวีสุข จำกัด และบริษัท สื่อสายรุ้ง จำกัด ที่มี พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น เข้าไปรับงานประชาสัมพันธ์ และงานโฆษณาต่าง ๆ จากภาครัฐ ขณะที่ระเบียบกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2551 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อปี 2519 ระบุสาระสำคัญว่า ห้ามข้าราชการทหารมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะห้ามเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปยอมรับให้บริษัทห้างร้านของเอกชนเหล่านั้นอาศัยชื่อของตนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมนั้น
(อ่านประกอบ : ชัดๆ! เปิดระเบียบ ก.กลาโหม ห้าม ขรก.ทหาร มี'ผลประโยชน์ทับซ้อน', ห้ามมี ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’! กฎเหล็ก ก.กลาโหม มีไว้ทำไม?)
ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า เมื่อพิจารณาตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแล้ว เห็นว่า เป็นการห้ามไม่ให้บรรดาเอกชนเอาชื่อข้าราชการทหารไปใส่เป็นกรรมการบริษัทแล้วนำไปอวดเบ่ง หรือแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งในส่วนของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ที่มีบริษัท สื่อสายรุ้ง จำกัด และบริษัท งาทวีสุข จำกัด นั้น ไม่เข้าข่ายขัดคำสั่งดังกล่าว เพราะธุรกิจของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ได้เปิดดำเนินงานมานานแล้ว และไม่ใช่แค่รับงานในยุครัฐบาลชุดนี้ แต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ก็รับงานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ก็เรียนจบสายตรงทางนิเทศศาสตร์มา เป็นนักประชาสัมพันธ์ที่เก่งคนหนึ่ง และมีความสามารถสูง ทั้งด้านภาษา และไหวพริบ ดังนั้นในเมื่อบริษัทของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี มารับงานของรัฐ ก็ถือว่ารัฐได้ประโยชน์ด้วย ที่สำคัญทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวเป็นธุรกิจภายในครอบครัวของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี มาก่อนตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเปิดแล้วดำเนินการในยุคนี้
“แต่ถ้าหากพบว่ามีการนำชื่อข้าราชการทหารคนไหนก็ตาม ไปใส่เป็นกรรมการบริษัทที่ประกอบธุรกิจไม่ตรงสาย เช่น นำชื่อ พ.ต.หญิง ชลรัศมี เป็นกรรมการในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการรับงานก่อสร้าง แล้วบริษัทดังกล่าวมารับงานก่อสร้างจากภาครัฐ หรือกองทัพ ก็อาจจะเข้าข่ายน่าสงสัยได้ว่า อาจขัดต่อคำสั่งดังกล่าว แต่กรณีของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี คือเปิดบริษัททำพีอาร์มานานแล้ว และรับงานทุกรัฐบาล” พ.อ.วินธัย กล่าว
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายในสังคมเห็นว่า พ.ต.หญิง ชลรัศมี มียศทางทหาร แต่เปิดบริษัทเข้ามารับงานจากภาครัฐ จะถือว่าเหมาะสมหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ ต้องเข้าใจก่อนว่าตามหลักข้อเท็จจริงแล้ว การเปิดบริษัทสามารถทำได้ และถ้าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ เมื่อเข้ามารับงานภาครัฐ รัฐก็ได้ประโยชน์สูง อาจจะสูงกว่าบริษัทที่เป็นนักธุรกิจซึ่งหวังทำกำไรเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือไม่ได้รับงานแค่รัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็รับงานด้วย ดังนั้นการกล่าวหาว่า เหมาะสมหรือไม่ คงไม่สามารถตอบได้
“อยากให้สังคม รวมถึงสื่อต่าง ๆ เข้าใจว่า การนำเสนอข้อเท็จจริงสามารถกระทำได้ หากมีเรื่องการทุจริตหรืออะไร เราพร้อมจะตรวจสอบทันที เพราะรัฐบาล และ คสช. ให้ความสำคัญมาก แต่การกล่าวหาเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องทางการเมือง พ.ต.หญิง ชลรัศมี เขาเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ทำงานเก่ง มากความสามารถ แต่สังคมกลับทำให้เขาเป็นเหยื่อทางการเมือง ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่หวังดี จึงขอให้สังคมเข้าใจในส่วนนี้ด้วย การที่ทหารเปิดบริษัทเข้าไปรับงานภาครัฐ ทั้งที่ทำด้วยความสุจริต รัฐได้ประโยชน์ แต่ได้งานในยุครัฐบาลทหารด้วย กลับกลายเป็นว่า ทหารเป็นจำเลยสังคมเลยเหรอ ขอให้สื่อและสังคมอย่าใช้ความรู้สึก ให้ใช้ข้อเท็จจริงพิจารณา” พ.อ.วินธัย กล่าว
อ่านประกอบ :
ปีทองของ“ชลรัศมี”ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน