ห้ามมี ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’! กฎเหล็ก ก.กลาโหม มีไว้ทำไม?
“เพื่อความเป็นธรรมกับข้าราชการอาชีพ ไม่มีเส้นสาย ไม่ได้เติบโตมาจากระบบอุปถัมภ์ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในป่าเขา ชายแดน และ เพื่อมิให้เกิด ‘ระบบอุปถัมภ์’ ซ้อน ‘ระบบอุปถัมภ์’.. ต้อง‘ขจัด’ข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกกรณีอย่างตรงไปตรงมา”
ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interests) ในแวดวงข้าราชการถูกกล่าวถึงอีกครั้ง อันเนื่องจากกรณีบุคคลในครอบครัวอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งบริษัทรับเหมาและเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับนับร้อยล้านบาท และกรณีบริษัทของนายทหารชั้นสัญญาบัตร ผู้ประกาศข่าว เป็นคู่สัญญาประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐนับสิบสัญญากว่า 40 ล้านบาท ไม่นับเรื่องที่เป็นข่าวและไม่ตกเป็นข่าวหลายกรณี
ในบริบทของ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’เป็นที่รู้กันว่า การกระทำบางเรื่องไม่ผิดกฎหมาย บางเรื่องก็ผิด ซึ่งปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 หรือกฎหมาย ป.ป.ช. โดยมีประมวลจริยธรรมของแต่ละหน่วยงานกำกับไว้ชั้นหนึ่ง
ในหลักการเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งถูกศาลพิพากษาให้จำคุกกรณีซื้อที่ดินรัชดา และอีกคนหนึ่งถูกให้พ้นตำแหน่งเนื่องเพราะรับเงินค่าทำรายการอาหารมาแล้ว
กรณีเฉพาะของข้าราชการ บางคนอาจไม่รู้ว่า หลักการในเรื่องนี้มีมาแล้วอย่างน้อย 40 ปี (เท่าที่ตรวจพบ)
ปี 2519 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ออกคำสั่งที่ 38/2519 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เรื่อง การปฏิบัติตนของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร กำหนดข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ 8 ข้อ ตั้งแต่ห้ามรับเลี้ยงจากพ่อค้า ห้ามแต่งเครื่องแบบที่แสดงให้เห็นว่าเป็นข้าราชการ เข้าในไนท์คลับ สถานบริการ อาบอบนวด สถานอบายมุข หรือสถานเริงรมย์ ยกเว้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ห้ามรับเชิญไปเป็นประธานหรือเจ้าภาพในพิธีเปิดบริษัทห้างร้านเอกชน ห้ามออกบัตรเชิญในการเปิดบริษัทห้างร้าน
ประการสำคัญ ข้อ 5
“ห้ามเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อื่นในบริษัทห้างร้านของเอกชน ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการยอมให้บริษัทห้างร้านของเอกชนเหล่านั้นอาศัยชื่อของตนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่แล้วในวันที่มีคำสั่งนี้ ให้ถอนตัวออกจากตำแหน่งดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง”
ให้ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง อธิบดี รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งดังกล่าว และผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารเป็นผู้รับผิดชอบ กับให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นคอยสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา และตักเตือนแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ “การจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามข้อ 1. - 5. เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง และให้พิจารณาลงโทษอย่างเคร่งครัด”
ถัดมา 27 ต.ค.2551 กระทรวงกลาโหม โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ. 2551 เนื้อหามีทั้งหมด 10 ข้อ กำหนดให้ข้าราชการกระทรวงกลาโหมจักต้องยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมหลักของ มาตรฐานจริยธรรม 14 ประการ
‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ระบุไว้ในข้อ 5.5
“การพิทักษ์และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน”
การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรมในระเบียบนี้ ถือเป็น การกระทำผิดวินัย จักต้องรับโทษหรือรับทัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร หรือแบบธรรมเนียม ของข้าราชการกระทรวงกลาโหมประเภทนั้น ๆ
จากคำสั่งฯและระเบียบฯทั้งสองฉบับ เห็นได้ว่ากฏเหล็กมีอยู่แล้วและมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ชัดเจน โดยเฉพาะถ้ายึดคำสั่งที่ 38/2519 หมายความว่า ข้าราชการที่นั่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชนอยู่ในตอนนี้ เป็นไม่ได้เลย และมีความผิดทั้งหมด (ยกเว้นว่ายกเลิกคำสั่ง)
ฉะนั้น ด้วยความเคารพข้าราชการทหารและข้าราชการที่สุจริต ผู้เขียนเห็นว่า
1.ถ้าท่าน (ผู้ใด) จะทำธุรกิจ ก็ควรถอดเครื่องแบบลาออกไปทำธุรกิจ ไม่ใช่ทำธุรกิจด้วยรับราชการไปด้วย หรือรับราชการเพื่อแสวงโอกาส เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ (เท่ากับตัดโอกาสของคนที่อยากรับราชการ) ซึ่งมันมี conflict of interests ชัดเจน ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าข้าราชการหรือเครือญาติจะถือหุ้นเล็กๆน้อยๆ โดยสุจริตไม่ได้ เมียจ่า เมียดาบ จะขายข้าวแกง อาหารตามสั่ง ใต้ถุนแฟลตไม่ได้
2.เพื่อความเป็นธรรมกับข้าราชการอาชีพ ไม่มีเส้นสาย ไม่ได้เติบโตมาจากระบบอุปถัมภ์ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในป่าเขา ชายแดน และ เพื่อมิให้เกิด ‘ระบบอุปถัมภ์’ ซ้อน ‘ระบบอุปถัมภ์’ กระทรวงกลาโหม และหรือหน่วยงานอื่น ต้อง ‘ตรวจสอบ’ และ ‘ขจัด’ ข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกกรณีและลงโทษตามระเบียบ อย่างตรงไปตรงมา
ทั้งนี้ เพื่อมิให้ถูกตั้งคำถามเชิงครหาว่า ข้อห้ามอันสวยหรู มีไว้เพื่อปฏิบัติ หรือมีไว้ทำไม?
อ่านประกอบ: ชัดๆ! เปิดระเบียบ ก.กลาโหม ห้าม ขรก.ทหาร มี'ผลประโยชน์ทับซ้อน'