เปิดคำให้การสภาสถาปนิก-วิศวกร กรณีมหาวิทยาลัยรับงาน ไม่มีใบอนุญาตวิชาชีพฯ
สมาชิกสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ได้รับผลกระทบจากการประพฤติปฏิบัติของมหาวิทยาลัย ที่มาแย่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุมเป็นเวลายาวนานหลาย 10 ปี
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 สภาสถาปนิกและสภาวิศวกร นำโดยนายกฯ ทั้งสองสภา ได้ไปให้การกับคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายคณะที่ 1 ณ ห้องประชุมสำนักกฎหมาย สป. กระทรวงมหาดไทย เรื่องกรณีมหาวิทยาลัยกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและวิศวกรรมควบคุมโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ
เริ่มด้วยการประชุม ผู้แทนกรมโยธาธิการ นำเสนอ กรณีของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สามารถ ประกอบวิชาชีพ สถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุมได้ โดยอ้างว่า 1. พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์ บริการวิชาการ/ บริการวิชาชีพ 2. อ้างเทียบเคียงกับกรณีที่กฤษฎีกา ที่ตีความว่า การ ไฟฟ้าภูมิภาคเป็นนิติบุคคลมหาชน สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตจากสภาวิศวกร เช่นเดียวกัน สจล. ซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชนเช่นกัน ย่อมจะสามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุมได้เช่นเดียวกัน
ขณะที่ สภาวิศวกร สภาสถาปนิกนำเสนอความเห็นแย้ง ดังนี้
1. ตามมาตรา 75 หมวด 6 ว่าด้วยนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 บัญญัติไว้ว่า รัฐจะต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะแข่งขันกับเอกชน ดังนั้นการที่ มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไปรับจ้างประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเช่น รับจ้างเป็นที่ปรึกษา/ออกแบบ/ควบคุมงานที่เข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุมแข่งขันกับสมาชิกสภาสถาปนิกและสมาชิกสภาวิศวกร จึงเป็นการกระทำฝ่าฝืน กฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
2. มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. มีสถานะเป็นนิติบุคคล ประเภทนิติบุคคลมหาชนและเป็นสถานศึกษา มีหน้าที่จัดการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนการสอนการวิจัย การบริการวิชาการและสังคม อาจจะคิดหรือไม่คิดมูลค่าในการบริการนั้น แต่เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการประกอบวิชาชีพ สถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุม
3. พ.ร.บ.วิศวกร 2542 /พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 มีเจตนารมย์ เพื่อให้สภาทั้งสองทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลผู้ที่ประกอบวิชาชีพนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน จึงทำให้ต้องมีคำว่า สถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุม
4. มหาวิทยาลัยไม่มีใบอนุญาตนิติบุคคลสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุมทั้งสองสภา จึงไม่สามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุมได้
5. กรมบัญชีกลาง ได้เคยมีหนังสือระบุชัดเจนว่า ศูนย์บริการวิชาการและสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยมิใช่นิติบุคคล มีแต่มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลและมีอธิการบดีเป็นผู้ที่มีอำนาจในฐานะหัวหน้าตามกฏหมายของนิติบุคคล
6. การที่หน่วยงานรัฐใช้วิธีการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษจัดจ้างมหาวิทยาลัยทำงานในงานวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุมโดยไม่ต้องมีการแข่งขัน โดยอ้างว่า เป็นการที่รัฐว่าจ้างรัฐ ถือเป็นการจัดจ้างที่ขาดการแข่งขัน/ปราศจากการนำเสนอเชิงคุณภาพทำให้สมาชิกสภาวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรม ถูกเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรมจากภาครัฐ
7. เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นนิติบุคคลสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุม ที่จดทะเบียนกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ทำให้สภาวิชาชีพทั้งสองไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายหรือลงโทษมหาวิทยาลัย/อธิการบดีได้ กรณีที่มีปัญหาจากการออกแบบ งานสถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุม อีกทั้งผู้รับผิดชอบอธิการบดีก็เป็นบุคลากรที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ตามวาระ ไม่มีความมั่นใจในผู้รับผิดชอบต่อผลงาน
8. มหาวิทยาลัยมาประกอบธุรกิจ โดยมีรายได้จากการออกแบบ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายกับ พ.ร.บ. แพ่งและพาณิชย์ ภาษี รายได้ ซึ่งเป็นคำถามจากกรมสรรพากรและกรมบัญชีกลาง
9. ความเป็นจริงตอนนี้ สมาชิกได้แจ้งความกล่าวโทษ ต่อ ส.จ.ล.ในกรณีประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตวิศวกรรมควบคุม และเรื่องดังกล่าวได้ผ่าน ป.ป.ท.ไปสู่ ป.ป.ช.รวมถึงโครงการถนนเลียบเจ้าพระยาที่กำลังจะถูกสมาชิกกล่าวโทษต่อไป ในกรณีไม่มีใบอนุญาตนิติบุคคลสถาปัตยกรรม /วิศวกรรมควบคุม
10. ความเป็นจริงสภาสถาปนิกสภาวิศวกรเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตามกฏหมาย มาตรา33(2) ซึ่งระบุว่าให้สอดส่อง ดูแลและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
11. ความจริงคือมหาวิทยาลัยมาประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุมไม่มีระบบตรวจสอบด้านบัญชี ด้านความโปร่งใส และระบบตรวจสอบในการนำงานที่รับว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐไป จ้างช่วงต่อ(subcontract)ต่อ ให้แก่บริษัทสถาปนิกที่ปรึกษา/บริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ที่มีค่าดำเนินการส่วนต่าง
12. ความจริงคือทุกมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ ได้จัดตั้งหน่วยงานในกำกับมหาวิทยาลัย เช่น ศูนย์บริการวิชาการเพื่อรับงานสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุม เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายวิชาชีพมาเป็นระยะเวลานานนับ 10 ปีแล้ว
13. มาตรา 45 ของ พ.ร.บ. สถาปนิก/วิศวกร ระบุว่า ห้ามมิให้ ผู้ใด รวมถึงบุคคลนิติบุคคล รวมถึงมหาวิทยาลัย มาประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุม เว้นแต่มีใบอนุญาตจากสภาสถาปนิกหรือสภาวิศวกร
14. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นนิติบุคคลมหาชน เปรียบเทียบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ กฟผ.ถือเป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลสูง เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของนิติบุคคลมหาชน
กล่าวคือหาก กฟผ.จะต้องปฏิบัติงานที่นอกเหนือจากงานวิศวกรรมไฟฟ้าที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ของ กฟผ. เช่นงานโครงสร้างของอาคาร ก็จะไม่มาดำเนินการเอง แต่จะใช้พนักงานการไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ค่าตอบแทน วิชาชีพ ตามมติครม พ.ศ.2559 แสดงให้เห็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเห็นความสำคัญและเคารพในกฎหมายของ พ.ร.บ สถาปนิก/พ.ร.บ. วิศวกร
15. ทางออกที่นำเสนอ 1. ใช้ มาตรา 45 กับผู้ไม่มีใบอนุญาตนิติบุคคลของสภาสถาปนิกสภาวิศวกร 2. จัดตั้งนิติบุคคลแทนมหาวิทยาลัยเพื่อประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุมแข่งขันกับสมาชิกทั้งสองสภา แต่ในข้อกฎหมายปัจจุบันเป็นไปไม่ได้เลยที่มหาวิทยาลัยจะสามารถจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อมาประกอบอาชีพเชิงพาณิชย์ และด้วยเหตุผลของกรมบัญชีกลางและ พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ 3. แก้ไขพ.ร.บ.วิชาชีพ ทั้งสองสภา แต่อย่างไรก็ตาม ณ กฏหมายฉบับปัจจุบัน ถือว่า มหาวิทยาลัยไม่มีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุม 4. หากจะใช้อำนาจตาม มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วครราวต่อกรณีนี้ รัฐต้องสามารถให้เหตุผลที่ดีเพียงพอที่สมาชิกสภาวิชาชีพทั้งสองและสังคมส่วนรวมจะรับได้
16. สมาชิกสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ได้รับผลกระทบจากการประพฤติปฏิบัติของมหาวิทยาลัย ที่มาแย่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมวิศวกรรมควบคุมเป็นเวลายาวนานหลาย 10 ปี ด้วยการอ้างมติ ครม ปี 2536 โดยวิธีพิเศษ หากไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย พ.ร.บ.สถาปนิก/ วิศวกร. ที่มีศักดิ์องกฎหมายสูงกว่ามติคณะรัฐมนตรี จะมีผลกระทบต่อมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ ของ สถาปนิก วิศวกรและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชน
17.คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทยหลายท่านไม่เห็นด้วยกับกายภาพและสิ่งแวดล้อมของโครงการถนนเลียบเจ้าพระยาเนื่องจากสิ่งปลูกสร้างเข้าไปอยู่ในแม่น้ำ หลายท่านเพิ่งเข้าใจความสำคัญของใบอนุญาตนิติบุคคล สถาปัตยกรรม/วิศวกรรมควบคุม เนื่องจากความเห็นของกรมโยธาต่างกับสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สภาวิศวกรทำหนังสือถึงอธิการบดีทุกแห่ง ชะลอรับงานด้านวิชาชีพ หวั่นผิดกฎหมาย
สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?
ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา
เปิดกฎหมาย เถียงให้รู้เรื่อง! ทำไม สจล. รับงานแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เทียบกับ กฟภ.ไม่ได้
สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้