กลิ่นเอื้อนายทุนชัด! ก.ทรัพย์ฯ สรุปเทศบาลศรีราชาสร้างเขื่อนริมทะเลก่อนได้รับอนุมัติ
เปิดผลสอบ ก.ทรัพย์ฯ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เทศบาลเมืองศรีราชา ถูกร้องเรียนเอื้อประโยชน์นายทุน ฮุบที่ดินชายฝั่ง พบหลักฐานชัด ยังไม่ได้รับการอนุมัติก่อนทำงาน แถมไม่ได้อยู่ในพิกัดที่มีปัญหาเร่งด่วนด้วย
จากกรณีในช่วงปลายเดือนพ.ย.2558 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทำจดหมายเปิดเผยร้องเรียนไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของ 'สุมิตรา จันทร์เงา' สื่อมวลชนและนักเขียนอิสระ ให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาการฮุบที่ดินชายฝั่งทะเลของเมืองศรีราชา โดยการระบุการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายของการทำโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ที่ยื่นเข้าไปในทะเล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการก่อสร้างคอนโด และมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ยินยอมให้ตึกหลังนี้ผ่าน EIA ได้
(อ่านประกอบ : ชีวิตมีอันตราย-ส.ว.ตามหาตัว! 'สุมิตรา'โพสต์FBหลังเปิดโปงนายทุนฮุบที่ศรีราชา, เปิดจม.2 ฉบับ ถึง"บิ๊กตู่" ช่วยชาวบ้านด้วย 'คนมีสี-นายทุน' ฮุบที่ดินชายฝั่งศรีราชา)
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ของ เทศบาลเมืองศรีราชา ที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ตามที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไป ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา แล้ว
โดยระบุชัดว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เข้าข่ายการจัดทำ EIA(รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) เนื่องจากเป็นการถมที่ดินในทะเล และจะต้องขออนุญาตกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อกรมเจ้าท่า แต่มีการยืนยันจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี ที่ให้ข้อมูลแก่คณะตรวจสอบว่า โครงการดังกล่าว ยังมีการร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งมีการปรับแบบก่อสร้างโดยลดความสูงของเขื่อนลงจากเดิม จึงยังไม่อนุญาตกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
นอกจากนี้ ผลการศึกษาแนวทางการจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2547-2557 พบว่า แนวชายฝั่ง 3,158 กม. มีระยะทางกัดเซาะ 830 กิโลเมตร โดยในจังหวัดชลบุรี มีระยะทางกัดเซาะ 17.6 กม. ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าว ในพื้นที่เทศบาล เมืองศรีราชา อำเภอศีราชา จังหวัดชลบุรี มิได้เป็นพิกัดที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งตามผลการศึกษาทั้งในระดับวิกฤต ระดับเร่งด่วน และระดับเฝ้าระวังแต่อย่างใด และไม่พบว่าโครงการนี้ ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะทำงานการบูรณาการแผนงบประมาณการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการการจัดการกับเซาะชายฝั่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ของ เทศบาลเมืองศรีราชา ที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว มีความยาว 180 เมตร เป็นโครงการตามแผนพัฒนา 3 ปี (2556-2558) ของเทศบาลเมืองศรีราชา โดยได้รับการจัดสรรรงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี มีบริษัท เอเจเอส เอ็นจิเนี่ยริ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ในวงเงิน 17,801,800 บาท กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 600 วัน ตั้งแต่ 17 กพ.2557-10 ต.ค.2558
ขณะที่ในจดหมายเปิดผนึกของ 'สุมิตรา จันทร์เงา' ระบุว่า การก่อสร้างเขื่อนดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งที่ ไม่มีหน่วยราชการใดยอมรับว่าได้อนุญาตให้ก่อสร้าง แต่กลับผลาญเงินงบประมาณของจังหวัดไปเรียบร้อยแล้ว และผลที่ได้คือการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนอย่างชัดเจน โดยขณะที่ถมดินทำเขื่อนนั้น เอกชนได้รีบเร่งก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม “มารีน่า เบย์ ฟร้อน” ซึ่งเปิดขายจนเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนที่ดินงอกบริเวณติดกับแนวเขื่อนกันคลื่น ทางเอกชนได้เผยแพร่เอกสารการขายว่าจะสร้างเป็นโรงแรมโนโวเทลศรีราชา ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาโครงการอยู่ เข้าใจว่าอยู่ระหว่างขออนุมัติให้ผ่านกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการมารีน่า เบย์ ฟร้อนท์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นตึกสูงถึง 32 ชั้น อยู่ติดทะเลเกือบชิดแนวเขื่อน(ตามภาพในโบรชัวร์) เป็นทัศนียภาพอุจาดทำลายภูมิทัศน์อ่าวศรีราชาอย่างชัดเจนนั้นได้รับอนุญาตให้ผ่านกฎ EIA มาได้ถูกต้องชัดเจนตามมาตรฐาน EIA ,EHIA หรือไม่ หากมีการร่วมกันกระทำทุจริต ขอให้ดำเนินการคืนความสุขและความเป็นธรรมในสังคมต่อชาวเมืองศรีราชด้วย
ขณะที่ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558 ที่ผ่านมา ผู้จัดการ Marina Bay Front Sriracha ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ชี้แจงข้อมูลอีกด้าน ระบุว่า ความจริงจะปรากฏ เมื่อจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ
.......บ้านเมืองนี้มีขื่อมีแปร ไม่ใช่อยู่แค่ปลายปากกาของสื่อที่ขาดจรรยาบรรณ
.......ความเคารพนอบน้อม ในจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อมวลชน กับกลายเป็นเครื่องมือ ในการเขียนข่าวที่เป็นเท็จ ความจริงผมได้ประสานผ่านเพื่อน ส.ว.ที่เป็นบรรณาธิการอาวุโส มติชน เพื่อขอชี้แจง ให้ข้อมูลและหลักฐานในการเขียนข่าวของท่านได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ตรงไปตรงมา
สุดท้าย สื่อมวลชนผู้นั้น กลับได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค “...ชีวิตข้าพเจ้าอาจตกอยู่ในอันตราย จึงขอแจ้งมายังทุกท่านว่าหากมีสิ่งใดเกิดขึ้นระหว่างนี้โปรดรับรู้ว่า ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่สื่อมวลชน...” ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมให้ความเคารพในจรรยาบรรณผู้สื่อข่าวอย่างสิ้นเชิง
.......โครงการมารีน่า เบย์ฟร้อนท์ ศรีราชา ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายทุกประการ ได้รับใบอนุญาตครบถ้วนถูกต้องสามารถตรวจสอบได้ และมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของนิติบุคคลอาคารชุดศรีราชา เบย์วิวแล้ว ก็ไม่พบการกระทำผิดกฎหมายตามข้อร้องเรียนแต่อย่างใด แม้จะพยายามทุกวิถีทางแล้วที่จะกลั่นแกล้งโครงการมารีน่า เบย์ฟร้อนท์ ศรีราชา เพื่อต้องการยับยั้งการขึ้นโครงการโรงแรมโนโวเทล ที่จะบดบังทัศนียภาพวิวทะเล
.......น่าเห็นใจสื่อมวลชนผู้นั้น เพราะมีห้องชุดอยู่ใน คอนโด ศรีราชาเบย์ วิว โดยเป็น เจ้าของห้องชุดเลขที่ 204/65 ชั้นที่ 8 อยู่ฝั่งริมทะเล ที่กำลังบอกขายอยู่ในราคา 2.6 ล้านบาท ซึ่งห้องดังกล่าวสามารถมองวิวทะเล ผ่านที่ดินของคนอื่นมาโดยตลอดระยะเวลานานกว่า 20 ปี ซึ่งปัจจุบันเจ้าของที่ดินจะใช้ประโยชน์ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเจ้าของที่ดิน โดยไม่ได้ละเมิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิของผู้ใด แต่กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี บ้านเมืองนี้มีขื่อมีแปร มีกฎ มีระเบียบ และมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้มีที่ดินติดทะเล
.......ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ และทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจผิด ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ผมต้องขอขอบคุณและอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีลงมาตรวจสอบโครงการฯ จะได้ทราบเสียทีว่าใครคือผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย มีอิทธิพล ซ่อนรูป ใช้ความขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่นมาโจมตีโครงการ และ ถ่วงความเจริญของเมืองศรีราชา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความสงบสุข ความเจริญ และความรักสามัคคี จะกลับมาสู่เมืองศรีราชาอีกครั้ง สังคมไทยในปัจจุบันนี้ นิยมสร้างกระแสทางสื่อโซเชียลมีเดีย จนคนผิดกลายเป็นคนถูก คนถูกกลายเป็นคนผิด
.......สุดท้ายนี้ผมเชื่อในสุภาษิตไทยที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และผมต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวศรีราชาที่โทรมาให้กำลังใจ รวมถึงลูกค้าโครงการทุกท่านด้วย ที่เข้าใจเหตุการณ์ของเมืองศรีราชาเป็นอย่างดี
ผู้จัดการโครงการฯ
10 พ.ย. 58
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า สำหรับการตรวจสอบโครงการนี้ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ได้สั่งการผ่านไลน์กลุ่มผู้บริหารกระทรวงฯ และศูนย์ติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศตช.ทส.) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้รับทราบด้วย ก่อนที่สำนักข่าวอิศรา จะตรวจสอบพบมีการสรุปผลการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ตามรายละเอียดที่นำเสนอไปในช่วงต้น
อ่านประกอบ:
ชีวิตมีอันตราย-ส.ว.ตามหาตัว! 'สุมิตรา'โพสต์FBหลังเปิดโปงนายทุนฮุบที่ศรีราชา
เปิดจม.2 ฉบับ ถึง"บิ๊กตู่" ช่วยชาวบ้านด้วย 'คนมีสี-นายทุน' ฮุบที่ดินชายฝั่งศรีราชา
ข้อมูลอีกด้านจาก ผจก.Marina Bay Front Sriracha ปมฮุบที่ชายฝั่งศรีราชา
บันทึกสุดท้ายจาก 'สุมิตรา จันทร์เงา' - 'บิ๊กตู่' ทราบเรื่องฮุบที่ศรีราชาแล้ว